เผยภาพ 3 มิติ ซากเรือ ‘ไททานิค’ ครั้งแรกหลังจมอับปางนอนก้นมหาสมุทรนับร้อยปี เห็นรายละเอียดชัดทุกซอกทุกมุม
บริษัทแมกเจลแลน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจแผ่นที่ใต้ทะเลลึก ร่วมกับบริษัทแอตแลนติก โปรดักชันส์ ผู้ผลิตสารคดี เผยแพร่ภาพสแกนเรือไททานิค ซากเรืออับปางโด่งดังที่สุดในโลกที่เผยให้เห็นความละเอียดชัดทุกซอกทุกมุม ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรือเมื่อปี 1912 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 1,500 คน หลังจากเหตุเรือชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งระหว่างการเดินทางจากท่าเรือเซาท์แฮมตันในอังกฤษไปยังนครนิวยอร์ก
ภาพสแกนล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นมุมมองอันสมบูรณ์ของเรือที่แบ่งเป็นสองส่วน โดยมีส่วนหัวเรือและท้ายเรือแยกจากกันห่างราว 800 เมตร ท่ามกลางเศษซากที่รายล้อมซากเรือ
บริษัทแมกเจลแลน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสำรวจท้องมหาสมุทรใช้เรือดำน้ำควบคุมจากระยะไกล ในการสแกนภาพ โดยใช้ระยะเวลาในการสแกนซากเรือทั้งหมดถึง 200 ชั่วโมง ท่ามกลางความลึกเกือบ 4,000 เมตร พร้อมความท้าทายท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวและสภาพอากาศอันแปรปรวน จนได้ภาพสแกนดิจิทัลของซากเรือไม่น้อยกว่า 700,000 ภาพจากทุกมุม สร้างโครงสร้าง 3 มิติที่มีความแม่นยำ
เกอร์ฮาร์ด เซฟเฟิร์ต จากแมกเจลแลน ผู้อำนวยการสำรวจกล่าวว่า นี่เป็นโครงการสแกนใต้น้ำครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา ทำให้ได้ภาพสแกนที่เผยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างชัดเจน อาทิ หมายเลขใบพัดท้ายเรือ ดาดฟ้าหัวเรือ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจนำไปสร้างในฉากอันโด่งดังของภาพยนตร์เรื่องไททานิค
ปาร์ค สตีเฟนสัน ผู้ศึกษาเรื่องไททานิคมาหลายปี กล่าวว่า เขารู้สึกทึ่งเมื่อเห็นภาพสแกนครั้งแรก "มันช่วยให้คุณเห็นซากเรืออย่างที่คุณไม่เคยเห็นจากเรือดำน้ำ และคุณสามารถเห็นซากเรือได้ครบถ้วน คุณสามารถดูได้ในบริบทและมุมมอง และสิ่งที่แสดงให้คุณเห็นตอนนี้คือสภาพที่แท้จริงของซากเรือ"
เขากล่าวว่า การศึกษาการสแกน สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรือไททานิคในปี 1912 "เราไม่เข้าใจลักษณะของการชนกับภูเขาน้ำแข็งจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเรือชนเข้าทางกราบขวาหรือไม่"
บรรดานักประวัติศาสตร์หลายฝ่ายตระหนักดีว่า ในอนาคตจะไม่เหลือซากเรือไททานิคเนื่องจากการกัดเซาะของน้ำทะเล จนทำให้ซากเรือและชิ้นส่วนต่างๆ เริ่มสลายตัว ซึ่งการสแกนภาพนี้ได้เผยให้เห็นรายละเอียดของเรือที่สามารถไขความลับบางอย่างของเรือได้