เวียดนามร้อนจัด จนไฟฟ้าไม่พอใช้ ต้องสลับตัดไฟทั้งประเทศ

เวียดนามร้อนจัด จนไฟฟ้าไม่พอใช้ ต้องสลับตัดไฟทั้งประเทศ
กรณีตัวอย่างเวียดนาม เร่งพัฒนาเศรษฐกิจแต่รัฐไม่คิดวางแผนรองรับการใช้ไฟฟ้าขั้นพื้นฐาน หลังอากาศร้อนจัดใช้ไฟฟ้าสูงจนรัฐต้องสลับตัดไฟทั้งประเทศ

เมื่อ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามยอมรับว่าอาจต้องใช้มาตรการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าบางพื้นที่ทั่วประเทศ หลังสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเพิ่มสูงทั่วประเทศ

ประกาศของรัฐบาลเวียดนามระบุว่า มาตรการสลับหยุดจ่ายไฟฟ้าจะถูกนำมาใช้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศรวมถึงกรุงฮานอย เมืองหลวง และอาจดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ โดยบางพื้นที่อาจกินเวลาการดับไฟนานถึง 7 ชั่วโมง

เวียดนามกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในบางพื้นที่ เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากความคลื่นความร้อนรุนแรงและภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง 

นายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ ชินห์ ของเวียดนามยอมรับว่า ขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในบางพื้นที่ เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงและภัยแล้งอย่างต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไฟฟ้าพลังน้ำลดลง 

นอกจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อหลายชาติทั่วเอเชียแล้ว หลายประเทศต่างก็ต่อสู้กับราคาพลังงานที่สูงขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งกลายมาเป็นต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นเช่นกัน

ท่ามกลางมาตรการตัดไฟ รัฐบาลเวียดนามให้คำมั่นว่าจะจัดหาแหล่งพลังงานจากส่วนอื่น อาทิ พลังงานจากถ่านหิน และจากน้ำมัน เพื่อให้มั่นใจว่าเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากอากาศร้อน

เพื่อปกป้องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเวียดนามจะไม่ตัดไฟฟ้าภายในเขตอุตสาหกรรม เพื่อให้การผลิตยังเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นของเวียดนามรายงานว่า พนักงานของโรงงานและโรงงานบางแห่งในจังหวัด Thai Binh ต้องหยุดทำงานชั่วคราวเนื่องจากไฟดับนาน 2 ชั่วโมง

โครงสร้างไฟฟ้า (ยัง) ไม่พร้อม

ไม่ต่างกับชาติคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ระบบโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นชาติที่น่าจับตาอย่างยิ่งต่อบรรดานักลงทุนต่างชาติ โรงงานเอกชนต่างชาติหลายแห่งเข้ามาลงหลักปักฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่แทบไม่สอดคล้องต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคือ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมาการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) นอกเหนือจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำแล้ว EVN ก็พึ่งพาการนำเข้าไฟฟ้าจากจีนและลาวเป็นหลักในการเสริมความต้องการใช้ไฟ

แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการเตือนเรื่องการขาดแคลนไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2019 อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ที่การล็อกดาวน์ทำให้การผลิตชะลอตัวความต้องการใช้ไฟจึงไม่ได้สูงมาก กระทั้งเศรษฐกิจกลับมาฟื้นหลังโควิด แต่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อน รัฐบาลกลับไม่ได้ตื่นตัวเรื่องนี้เท่าที่ควร

นับตั้งแต่กลางปี 2022 ราคาถ่านหินเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เวียดนามยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ลดลงถูกชดเชยด้วยพลังงานไฮดรอลิกบางส่วน กระทั่งเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ความต้องการใช้ไฟสูงแล้ว ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินในประเทศก็สูงที่ 2,100 ดองเวียดนามต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง 

นั่นหมายความว่าการที่เวียดนามใช้พลังงานน้ำเป็นหลักแต่เมื่อเจอภัยแล้ง เวียดนามก็หันมาใช้พลังงานความร้อนซึ่งทั้งประเทศมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอยู่ไม่กี่แห่งแถมยังต้องซื้อจากต่างแดน สำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินผสม (ถ่านหินจากในประเทศผสมกับการนำเข้า) EVN กำหนดราคารับซื้ออยู่ที่ 2,400 ดองเวียดนามต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง หากใช้ถ่านหินนำเข้า 100% ต้นทุนการผลิตมีสิทธิพุ่งถึง 4,000 ดองเวียดนามต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เวียดนามจึงไม่มีทางเลือกที่ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานน้ำเป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ EVN บันทึกสถิติขาดทุน 26.2 ล้านล้านดองเนื่องจากต้องระดมแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง สภาพคล่องสะดุดในการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเพื่อเสริมความต้องการในประเทศ

ทั้งนี้ เวียดนามตั้งเป้าสู่การเป็นชาติเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 แต่จนถึงขณะนี้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ซื้อพลังงานหมุนเวียนเพียง 27% เข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ เทียบกับพลังงานชนิดอื่น จากสถิติพบว่า ณ ต้นปี 2023 มีโครงการ 87 โครงการที่มีกำลังการผลิตพลังงานลมรวม 4,200 เมกะวัตต์และพลังงานแสงอาทิตย์ 700 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าของประเทศได้ สิ่งนี้ก่อให้เกิดความสูญเปล่าอย่างไร้เหตุผลและยังผลักดันให้ธุรกิจผู้ผลิตพลังงานสะอาดภายในประเทศเข้าสู่ภาวะหนี้สินสูงและล้มละลาย 

เหตุผลคือเกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้กำหนดกรอบราคาสำหรับการผลิตไฟฟ้าสำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่มีเพียงประมาณ 23% ของโครงการเท่านั้นที่ยื่นเอกสารเพื่อเจรจาข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับ EVN จนถึงเดือนมีนาคม 2566 นั่นทำให้บรรดานักลงทุนลังเลเนื่องจากราคาซื้อไฟฟ้าของ EVN ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และยิ่งผลิตมากก็ยิ่งขาดทุนมาก 

ขณะเดียวกันเวียดนามแม้จะชูเรื่องชาติเป็นกลางทางคาร์บอน แต่รัฐก็ยังติดหล่มเรื่องการจ่ายต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าราคาพลังงานส่วนอื่น และด้วยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เช่น ในเมืองหงีเซิน, ท้ายบินห์ 2 และเวินฟอง นั่นทำให้ท้ายที่สุดปัญหาพลังงานในเวียดนาม ก็ยังคงถูกผูกขาดกับรัฐ ในขณะที่รัฐก็ไม่ได้จริงจังเรื่องการกระจายการผลิตพลังงานให้เอกชนมากเท่าที่ควร
 

TAGS: #ไฟฟ้า #เวียดนาม #เศรษฐกิจ #อาเซียน #พลังงาน #สภาพอากาศ