จีนส่งนักบินอวกาศพลเรือนชุดแรกสู่อวกาศ ทำภารกิจนอกโลกนาน 5 เดือน

จีนส่งนักบินอวกาศพลเรือนชุดแรกสู่อวกาศ ทำภารกิจนอกโลกนาน 5 เดือน
จีนปล่อยยานอวกาศเสินโจว-16 พร้อมนักบินอวกาศพลเรือนชุดแรก 3 คน ไปปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอวกาศจีนทำการปล่อยยานอวกาศเสินโจว-16 (Shenzhou-16) ในวันนี้ โดยบรรทุกนักบินอวกาศ 3 คนไปยังสถานีอวกาศของจีนเพื่อปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศและอยู่ในวงโคจรประมาณ 5 เดือน เป็นอีกหนึ่งในความทะเยอทะยานด้านอวกาศของจีนที่ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศปฏิบัติภารกิจนอกโลก

สำหรับทีมนักบินอวกาศของเสินโจว-16 ได้แก่ จิ่ง ไห่เผิง, จู หยางจู้ และกุ้ย ไห่เฉา จะเป็นสักขีพยานการเชื่อมต่อยานอวกาศในอวกาศของยานสัมภาระเทียนโจว-5 (Tianzhou-5) และยานอวกาศเสินโจว-17 ที่มีมนุษย์ควบคุม รวมถึงการออกจากยานอวกาศเสินโจว-15 และเทียนโจว-5

ทั้งนี้ ยานอวกาศดังกล่าวถูกนำขึ้นสู่วงโคจรนอกโลกโดยใช้จรวดขนส่งลองมาร์ช-2เอฟ (Long March-2F) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยระหว่างปฏิบัติภารกิจ ทีมนักบินอวกาศเสินโจว-16 จะทำการทดสอบและทดลองในวงโคจรขนาดใหญ่ในด้านต่าง ๆ ตามแผน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาปรากฏการณ์ควอนตัมใหม่ ระบบความถี่-กาลอวกาศที่มีความแม่นยำสูง การตรวจสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และการสำรวจต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

ขณะเดียวกัน หลินซีเฉียง รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่าจีนกำลังมองหาและยินดีต้อนรับการเข้ามามีส่วนร่วมของนักบินอวกาศต่างชาติในภารกิจการบินสู่สถานีอวกาศของจีน

หลิน ซึ่งเข้าร่วมงานแถลงข่าวก่อนการปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-16 (Shenzhou-16) ในวันอังคาร (30 พ.ค.) นี้ กล่าวว่าจีนได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือรูปแบบต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานอวกาศต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดินหน้าพัฒนาและก่อสร้างสถานีอวกาศของประเทศ

“จีนผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆ ตามแผนร่วมกับสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (UNOOSA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์กรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพด้านอวกาศ โดยมุ่งเน้นการทดลองและประยุกต์ใช้ทางวิทยาศาสตร์ในวงโคจร และการร่วมเดินทางสู่สถานีอวกาศของนักบินอวกาศ”

หลินเสริมว่าจีนมีส่วนร่วมอภิปรายและจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ อย่างการกำกับดูแลสภาพแวดล้อมอวกาศ การจัดการการจราจรบนอวกาศ รวมถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศอย่างแข็งขัน โดยความพยายามเหล่านี้มีส่วนช่วยจัดการความท้าทายร่วมของมนุษยชาติในอวกาศ

ปัจจุบันจีนสามารถดำเนินภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ณ ความถี่ 2 ครั้งต่อปี ด้วยสถานีอวกาศใกล้โลกที่มีมนุษย์ควบคุมอันสมบูรณ์ ระบบขนส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม และกรอบการปฏิบัติงานคัดเลือก ฝึกอบรม และสนับสนุนนักบินอวกาศอย่างรอบด้าน
 

TAGS: #จีน #อวกาศ #ยานอวกาศ #เสินโจว-16 #นักบินอวกาศ