ไทยอาจกำลังเสียตำแหน่ง ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ให้อินโดนีเซีย

ไทยอาจกำลังเสียตำแหน่ง ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ ให้อินโดนีเซีย
ไทยจะรั้งตำแหน่ง ดีทรอยต์แห่งเอเชียได้นานแค่ไหน เมื่ออินโดนีเซียมีแหล่งแร่มากมายให้ผลิตแบตเตอร์รี่ EV

สำนักข่าวนิเกอิ เอเชีย รายงานว่า อินโดนีเซียอาจกำลังก้าวขึ้นมาโค่นตำแหน่ง "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" ของไทย จากการที่ทั่วโลกกำลังมีกระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความได้เปรียบของทรัพยากรของอินโดนีเซียที่สามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบตเตอร์รี่ภายในประเทศอย่างครบวงจร 

ช่วงสัปดาห์ที่ซึ่งมีการประชุมกลุ่มผู้นำชาติ G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดเซีย ซึ่งได้ร่วมประชุมดังกล่าวในฐานะประเทศที่ถูกรับเชิญ ได้กล่าวเชิญชวนผู้นำโลกให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซีย ท่ามกลางประเทศคู่แข่งอย่างไทยกำลังมีปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

วิจัยจาก Marklines ระบุว่า กำลังการผลิตรถยนต์ของไทยกำลังลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013ที่ผลิตได้มากที่สุด 2.45 ล้านคัน เหลือเพียง 1.88 ล้านคัน 2022 ลดลงถึง 23% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ ประกอบกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2011  

สวนทางกับการผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกำลังผลิตได้มากถึง 1.47 ล้านคันในปี  2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1.6 ล้านคันภายในปีนี้ และหากนับเฉพาะการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล อินโดนีเซียมีกำลังการผลิตที่มากกว่าไทยในปี 2014 และกำลังเริ่มเพิ่มศักยภาพการผลิตอีก 2 เท่า 

ท่ามกลางกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า กำลังถือเป็นความได้เปรียบครั้งสำคัญของอินโดนีเซีย ชาติที่มีปริมาณแร่นิเกิลสำรองมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอร์รี่รถยนต์อีวี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่า Volkswagen และ Ford กำลังพิจารณาการลงทุน ในโครงการผลิตนิกเกิลที่อินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นรายแรกที่ลงทุนด้านนี้ในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานผลิตแบตเตอร์รี่ EV มีน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม และมักตั้งโรงงานผลิตที่ใกล้กับโรงงานประกอบรถยนต์ ซึ่งการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่ก็จะดึงดูดให้ค่ายรถยนต์มาตั้งโรงงานประกอบรถอีวีด้วยเช่นกัน 

รัฐบาลจาการ์ต้าส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เช่นการลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในบางรุ่นจาก 11% เป็น 1% โดยตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์อีวีเพื่อใช้ในประเทศไปพร้อมกับส่งออกด้วย โดยจำกัดสิทธิ์ไว้ที่รถยนต์ 1 คันต้องใช้ส่วนประกอบในประเทศอย่างน้อย 40% จึงได้สิทธิ์ลดภาษีอัตราดังกล่าว

มีรายงานว่าค่ายรถยนต์ทั่วโลกต่างมีเสียงตอบรับในเชิงบวก ตั้งแต่ Hyundai Motor ของเกาหลีใต้และ SAIC-GM-Wuling ของจีน ที่เริ่มเดินสายพานการผลิตรถอีวีในปี 2022 เช่นเดียวกับLG Energy Solutions ของเกาหลีใต้กำลังสร้างโรงงานแบตเตอรี่ร่วมกับ Hyundai Motor ภายในปี 2024 และมีการกล่าวกันว่า Tesla ใกล้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการสร้างโรงงานที่นั่น

สำหรับประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" ในฐานะฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำคัญของภูมิภาคตั้งแต่ปี 1960 แต่วันนี้ท่ามกลางกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ค่ายรถในจีนขยับตัวไวกว่าค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของค่ายรถญี่ปุ่น อาจต้องดิ้นรนเพื่อรักษาฐานการผลิตไว้

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้พยายามสนับสนุนโดยมีการตั้งเป้าหมายสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ให้รถยนต์ที่ผลิตออกมาภายในปี 2573 ต้องเป็น EV ถึง 30% พร้อมแรงจูงใจอุดหนุน ถึง 150,000 บาทต่อคัน สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่มีแผนในการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีมาตรการทางภาษีหลายประการสำหรับส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 


เมื่อเดือนกันยายน บีวายดี (BYD) ค่ายรถอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศแผนสร้างโรงงานในจังหวัดระยอง ถือเป็นครั้งแรกที่ BYD สร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้านอกจีน เดือนเมษายน ฉางอัน ออโตโมบิลด์ ประกาศลงทุน  9,800 ล้านบาทในโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เช่นเดียวกับ เอสเอไอซี มอเตอร์ และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ที่ประกาศแผนสร้างโรงงานแบตเตอร์รี่และขยายฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเช่นกัน รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์การลงทุน 5 ปีที่จะเริ่มในปีนี้ รวมถึงการยกเว้นภาษี 10-13 ปีสำหรับการผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง 

นิเกอิเอเชีย ทิ้งท้ายว่า การแข่งขันระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในอุตสาหกรรมรถยนต์จะยิ่งดุเดือดไปอีก เพราะประเทศไทยพยายามชูศักยภาพหลายประการเหนือคู่แข่งในแวดวงยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนอินโดนีเซียก็เป็นชาติที่น่าจับตามองจากศักยภาพแร่นิกเกิลที่เพียบพร้อมรอนักลงทุนต่างชาติ
 

TAGS: #แบตเตอร์รี่ #รถยนต์ไฟฟ้า #อินโดนีเซีย