ไทยโรดโชว์นานาชาติพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก 'Phuket Expo 2028' ลุ้นโค้งสุดท้าย 124 ประเทศสมาชิก BIE โหวตตัดสิน 21 มิ.ย.นี้
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยต่อทีม The Better ถึงความพร้อมในโค้งสุดท้ายของการเสนอชื่อประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต หรือ Phuket Expo 2028 ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายในการเสนอความพร้อมต่อต่อคณะกรรมการองค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE) ที่ประกอบด้วยชาติสมาชิก 124 ชาติ ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยหากภูเก็ตได้รับเลือกจะช่วยยกระดับให้เมืองภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
ทำไมต้องจัด Phuket Expo
อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อธิบายย้อนหลังถึงที่ความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพ Expo ว่า ประเทศไทยเข้าร่วมงาน Expo ตั้งแต่ปี 1862 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินสยามภายใต้รัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของไทยในเวทีโลกที่มีมาอย่างยาวนานที่ไทยเข้าร่วมตลอดทุกปี
ปัจจุบันการจัดงานมหกรรมโลก (International des Expositions) แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ เวิลด์เอ็กซ์โป (World Expo) หรืองานนิทรรศการโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ชาติล่าสุดทีจัดคือ เอ็กซ์โป 2020 ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเป็นระดับใหญ่ที่สุด
ระดับสองคือ เอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) หรืองานแสดงสินค้าเฉพาะทาง ซึ่งมีแนวคิดการจัดงานในรูปแบบที่ชัดเจนแตกต่างกันไปในแต่ละเจ้าภาพเช่น งานเอ็กซ์โป 2017 อัสตานา บนแนวคิด'พลังงานแห่งอนาคต', งานเอ็กซ์โป 2012 ยอซู บนหัวข้อ'มหาสมุทรที่มีชีวิตและชายฝั่ง' เป็นต้น จัดขึ้นทุกๆ 5 ปีระยะเวลางาน 3 เดือน
ระดับสามคืองานเอ็กซ์โประดับท้ายสุด ในด้านพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ ( International Horticulture Exposition) ซึ่งไทยเคยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพมาแล้วในงานพืชสวนโลกที่จัดหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2006
สำหรับ Phuket Expo 2028 ที่ภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานเอ็กซ์โปในระดับที่ 2 คือ เอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) โดยไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในธีม "ชีวิตแห่งอนาคต-แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่ง" (Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity) ซึ่งหากไทยได้รับเลือกจะถือเป็นชาติในอาเซียนประเทศแรกที่ได้รับเป็นเจ้าภาพเอ็กซ์โประดับนี้
นายเชิดชาย อธิบายว่า เหตุที่ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพพร้อมเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่จัดงาน เนื่องจากภูเก็ตมีจุดเด่นสำคัญ 2 ประการคือ ความเป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นของภูเก็ตที่ทุกอย่างเข้าถึงได้ง่าย และเป็นเมืองสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย จึงทำให้ภูเก็ตมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและมีศักยภาพสูง ประกอบกับเป็นโอกาสชั้นดีในการช่วยฟื้นการท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตนับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ทำให้การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตชะงักลง โดยหลังจากที่ครม.เห็นชอบเมื่อ 16 พ.ย.2564 ให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Expo 2028 Phuket พร้อมอนุมัติงบประมาณสำหรับคณะทำงาน 4,180 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหนึ่งในผู้มีบาบาทสำคัญในมิติต่างประเทศ ได้ดำเนินการรณรงค์หาเสียงต่อชาติสมาชิก BIE ทั้ง 124 ประเทศในการขอคะแนนเสียงโหวตให้ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัด Expo 2028
เบื้องหลังไทยโร้ดโชว์เวทีโลก
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เปิดใจถึงความท้าทายของคณะทำงานในกระทรวงต่างประเทศว่า ช่วงเวลาที่ไทยมีแผนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ไทยเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน APEC 2022 ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและเป็นทั้งโอกาสดีทีทำให้ไทยได้ใช้จังหวะการต้อนรับผู้นำชาติเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่กรุงเทพฯ ในการรณรงค์หาเสียงแบบปูพรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565
"เราไปที่อินเดีย โตเกียว กัวลาลัมเปอร์ บรัสเซลส์ และจีน เพื่อประสานงานสถานทูตชาติสมาชิก BIE ที่ไม่ได้สถานทูตอยู่ในประเทศไทยเพื่อรณรงค์หาเสียงนำเสนอความพร้อมของไทยในฐานะเจ้าภาพมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการที่เราทำเต็มทีในการสื่อสารว่าความสำคัญของเมืองภูเก็ตคืออะไร เราพยายามทำอย่างดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดด้านระยะเวลาและงบประมาณ"
"ผมคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้เราก็ทำเต็มที่ แต่มันก็ยากที่จะคาดเดาผลของการโหวต ส่วนหนึ่งเพราะการโหวตแบบนี้เป็นการโหวตแบบลับ โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ประเทศที่เค้าจะโหวตให้เรา เค้าจะแจ้งยืนยันมาก็ได้ หรือไม่แจ้งก็ได้ ฉะนั้นการจะนับคะแนนจริงๆ เป็นเรื่องลำบาก"
นอกจากประเทศไทยที่เสนอเมืองภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัด Specialised Expo 2028 ไทยยังต้องเจอคู่แข่งสำคัญ 4 ชาติ ที่ร่วมเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพจัด Specialised Expo 2028 เช่นกันคือ สหรัฐอเมริกา เซอร์เบีย สเปน และอาร์เจนตินา (รวมไทยเป็น 5 ชาติ)
ความท้าทายของการสมัครในครั้งนี้คือ ในบรรดา 5 ชาติทีสมัครครั้งนี้ มี 2 ชาติที่เป็นตัวเก็งสำคัญเพราะเคยได้รับเลือกจัดงาน Specialised Expo มาแล้วคือ สหรัฐฯและอาร์เจนตินา ขณะเดียวกันหากดูในรายชื่อทั้ง 5 ชาติ จะมี 2 ชาติที่มีการแชร์อิทธิพลด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาเดียวกันคือ สเปนกับอาร์เจนตินา ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นชาติมหาอำนาจที่สนับสนุนความช่วยเหลือด้านต่างๆ บนเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งความท้าทายคือรูปแบบการลงคะแนนเป็นลักษณะ Secret Ballot ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าใครจะเลือกไทยบ้าง ขณะที่ชาติสมาชิก BIE ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งไทยมีข้อจำกัดในการประสานงานและไทยไม่ได้มีสำนักงานสถานทูตในประเทศเหล่านั้นโดยตรง ความท้าทายอีกส่วนคือปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้บุคลากรไทยดำเนินงานได้น้อยลงเพราะต้องเตรียมส่งต่อรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหนึ่งในคณะทำงานสำคัญ แสดงความมั่นใจว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ไม่มีผลต่อแผนการดำเนินโครงการนี้
"พอเราเห็นรายชื่อประเทศเราก็คงตระหนักได้ว่า แต่ละชาติก็จะมีศักยภาพสูงในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องบังเอิญที่ในปีนี้ มีประเทศคู่แข่งลงชิงหลายชาติ แต่บางปีก็แทบไม่มีคนสมัครเลย แต่เหนือสิ่งอื่นใดผมขอย้ำประเด็นสำคัญ ไม่ว่าไทยจะได้รับเลือกหรือไม่รับเลือกก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นภูเก็ตก็ได้รับการพัฒนาเมืองไปตามที่เราวางแผนไว้ ไม่ว่าเราจะได้รับเลือกหรือไม่ก็ตาม"
ไทยจะได้อะไรหากได้รับเลือกจัด Phuket Expo
นายเชิดชาย อธิบายถึงแนวคิดการจัดงาน Phuket Expo 2028 ว่าหากไทยได้รับคัดเลือก จะใช้พื้นที่บริเวณหาดไม้ขาว ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ตบนเนื้อที่ 141 ไร่ในโครงการ "ศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ของรพ.วิชิระภูเก็ต เป็นสถานที่จัดงาน มีระยะเวลาจัดงานระหว่าง 20 มี.ค.-17 มิ.ย. 2571 โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือ International Health & Wellness Center ผลักดันสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอาเซียน, ส่วนที่ 2 คือ Ecological Park ที่ผลักดันเรื่องการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกับชุมชน และส่วนที่ 3 คือการสร้าง Convention Center ที่มีพื้นที่รองรับการจัดงานอีเว้นต์กว่า 37,000 ตารางเมตร ซึ่งทั้งหมดจะสร้างบนแนวคิดความยั่งยืนที่ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%
อธิบดีฯ ย้ำว่าหากไทยได้รับเลือก สิ่งที่คาดว่าได้รับคือเมืองภูเก็ตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ประเมินว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนไม่น้อกว่า 49,000 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 110,000 ตำแหน่ง จากผู้เข้าชมงานกว่า 7.2 ล้านครั้ง หรือราว 4.9 ล้านคน มีสมาชิกบีไออีเข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศ
สิ่งที่ไทยลงทุนไปในพื้นที่ดังกล่าวจะยังคงอยู่อย่างยั่งยืนส่งต่อเป็นมรดกสู่ลูกหลานในอนาคต สถานที่หลังจากการจัดงานไม่ศูนย์เปล่า แต่จะถูกต่อยอดเป็นศูนย์การแพทย์ ศูนย์ประชุมและสวนสาธารณะที่ใช้งานได้ต่อไปบนแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อธิบดีฯ ย้ำว่า ท้ายที่สุดในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ไม่ว่าภูเก็ตจะได้รับเลือกหรือไม่ สิ่งที่เราจะได้อย่างแน่นอนคือ การที่ไทยแสดงให้เห็นความสามารถในการผลักดันแนวคิดจาก Local to Global ในกรณีนี้คือการโชว์ศักยภาพของภูเก็ตอย่างมีนัยยะสำคัญ บนวาระเรื่องความยั่งยืน นอกเหนือจากที่นานาชาติรู้จักภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวของไทยขับเคลื่อนสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก