ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย ลูกเรือต้องเจอกับอะไรบ้าง หากติดในเรือดำน้ำใต้ทะเลลึกนานหลายชั่วโมง

ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย ลูกเรือต้องเจอกับอะไรบ้าง หากติดในเรือดำน้ำใต้ทะเลลึกนานหลายชั่วโมง
ทีมค้นหาเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ยังไม่พบเบาะแส ลุ้นปาฏิหาริย์ เหลือออกซิเจนไม่ถึง 10 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญชี้ออกซิเจนไม่ใช่แค่ปัจจัยสำคัญของการเอาชีวิตรอดใต้ทะเลลึก

กรณีการค้นหาเรือดำน้ำไททัน ของบริษัท Oceangate expeditions ซึ่งน้ำกลุ่มมหาเศรษฐีผู้ชื่นชอบการผจญภัยรวม 5 คน ดำดิ่งลงไปชมซากเรือไททานิค ซึ่งอยู่ใต้ความลึกเกือบ 4,000 เมตร ทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก กระทั่งขาดการติดต่อและสูญหายไ

กรณีการค้นหาเรือดำน้ำนำเที่ยว “ไททัน” ของบริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ ซึ่งนำกลุ่มมหาเศรษฐี 5 คน ดำดิ่งไปชมซากเรือไททานิก ในเขตทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วขาดการติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติการตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา 

ปฏิบัติการค้นหาล่าสุดของทีมกู้ภัยและหน่วยยามฝั่งร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา ยังไม่ทราบตำแหน่งที่ชัดเจนของเรือดำน้ำที่หายไป ตลอดจนยังไม่ทราบสภาพภายในว่าลูกเรือทั้ง 5 อยู่ในสภาพใด โดยก่อนหน้านี้ทีมค้นหาของแคนาดาระบุว่า ได้ยินเสียง "ปัง" อยู่เป็นระยะๆ ต่อเนื่องราว 30 นาที 

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าลูกเรือทั้ง 5 คน อาจเหลือออกซิเจนไม่ถึง 10 ชั่วโมง หรือคาดว่าออกซิเจนสำรองบนเรืออาจหมดภายในเวลา 18.00 น. ของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

 

รอดชีวิตไม่ใช่แค่ออกซิเจน

ด้านสำนักข่าวบีบีซี ได้สัมภาษณ์ ดร. เคน เลเดซ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ไฮเปอร์บาริกแห่งมหาวิทยาลัยเมมโมเรียลในเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา โดยระบุว่า ออกซิเจนสำรอง ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวในการรอดชีวิต เมื่อต้องติดอยู่ในเรือดำน้ำที่จมใต้ทะเลลึก

ดร. เลเดซ อธิบายว่า เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนว่าเพราะสาเหตุใด เรือจึงสูญหายขาดการติดต่อไป อาจเป็นไปได้หลายสาเหตุ หากเรือสูญเสียพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีบทบาทในการควบคุมปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเรือ จะยิ่งทำให้ลูกเรือทั้ง 5 คน ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่จากสภาวะหมุนเวียนอากาศ

"มันเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว การติดอยู่ในเรือดำน้ำความยาว 22 ฟุต ลึกลงไปใต้ท้องทะเลหลายพันฟุต ท่ามกลางออกซิเจนที่อาจหมด" 

 ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ไฮเปอร์บาริก ยังชี้ว่า หากเรือสูญเสียระบบไฟฟ้า ก็อาจทำให้ระบบควบคุมอุณหภูมิสูญเสียการควบคุมด้วย ลูกเรือจะมีความเสี่ยงจากภาวะอุณหภูมิร่างกายเย็นเกินไป ท่ามกลางใต้ท้องทะเลลึกของมหาสมุทรแอตแลนติกที่มีสภาพน้ำเย็นเฉียบ

"หากเรือดำน้ำอยู่ก้นทะเล อุณหภูมิของน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส หากสูญเสียไฟฟ้าไปด้วย ก็จะไม่ผลิตพลังงานใดๆ จึงไม่สามารถสร้างความร้อนได้"

"ภาวะอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำกว่าปกติ รวมกับการขาดออกซิเจนและการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเรือดำน้ำ นั่นหมายถึงความสามารถของลูกเรือในการติดต่อกับทีมกู้ภัย เช่น การกระแทกกับตัวเรือเป็นระยะๆ เพื่อพยายามดึงดูดความสนใจก็จะลดลงด้วย"

"ถ้าพวกเขาหมดสติ พวกเขาก็จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากนัก" อย่างไรก็ตาม ดร.เลเดซ กล่าวว่า หากเรือยังไม่สูญเสียระบบไฟฟ้า อย่างน้อยลูกเรือก็สามารถอยู่รอดได้ด้วยเสบียงจำนวนหนึ่ง

ดร.เลเดซ เสริมว่า หากพวกเขาสามารถใช้วิธีการหายใจที่ช้าลง อย่างน้อยพวกเขาอาจยืดระยะเวลาการใช้ออกซิเจนออกไปได้ แต่นั่นเป็นเรื่องยาก เพราะท่ามกลางสภาวะเครียดสูง มนุษย์จะมีอัตราความต้องการออกซิเจนสูงตาม

แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่ดร.เลเดซก็มองว่า การยกเลิกปฏิบัติการค้นหาหลังครบระยะเวลาออกซิเจนหมดอาจเร็วเกินไป เพราะอย่างน้อยพวกเขาอาจสามารถอยู่รอดได้แม้ว่าระดับออกซิเจนจะต่ำมากก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะที่อุณหภูมิต่ำก็เป็นอาจประโยชน์กับลูกเรือได้ด้วยเช่นกัน เพราะร่างกายจะเข้าสู่โหมดคล้ายกับการ "จำศีล" หัวใจจะเต้นช้ามากเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น การใช้ออกซิเจนจะน้อยลง ซึ่งอาจทำให้พวกเขามีชีวิตต่อไปได้อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง

“ในกลุ่มพวกเขาบางคน อาจสามารถที่จะอยู่ต่อไปได้อีก 1 สัปดาห์ หลังเกินข้อจำกัดออกซิเจน แต่สิ่งที่ผมสงสัยคือ บางคนน่าจะรอดชีวิตได้นานกว่าคนอื่น” ดร.เลเดซสรุป
 

TAGS: #เรือดำน้ำไททัน #กู้ภัย #ไททานิค #มหาสมุทรแอตแลนติก