ทัวร์ซากเรือไททานิค ธุรกิจท่องเที่ยวที่ไร้กฎหมายชาติใดรับรอง

ทัวร์ซากเรือไททานิค ธุรกิจท่องเที่ยวที่ไร้กฎหมายชาติใดรับรอง
ถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันทัวร์ซากไททานิค ธุรกิจท่องเที่ยวเอาใจเศรษฐี บนทะเลหลวงที่ไร้กฎหมายคุ้มครองความปลอดภัย

ท้ายที่สุดก็ไร้ปาฏิหาริย์ สำหรับปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททันพร้อมกับลูกเรือ 5 ราย หลังจากที่ทีมกู้ภัยร่วมระหว่างสหรัฐ แคนาดา และฝรั่งเศส ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ กระทั่งพบเศษซากของเรือดำน้ำไททันกระจัดกระจายทั่วท้องมหาสมุทรห่างจากซากเรือไททานิคราว  เมตร สันนิษฐานว่าทั้ง 5 จะเสียชีวิตจากการถูกแรงดันบีบอัด

เรือดำน้ำทัวร์ซากไททานิคที่หายไป มีการตั้งข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับความเข้มงวดด้านความปลอดภัยหลายประการ ตั้งแต่คุณสมบัติของตัวเรือที่สามารถดำลงไปได้ลึกราว 4,000 เมตร ขณะที่ซากเรือไททานิคจมอยู่ใต้มหาสมุทรในความลึก 3,800 เมตร  ความพร้อมของสภาพเรือที่พบว่ามีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคบางประการระหว่างดำลงไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก่อนการดำลงไปทัวร์ซากเรือไททานิค บริษัท OceanGate ผู้จัดทัวร์ดังกล่าวซึ่งคิดค่าบริการทัวร์พานักท่องเที่ยวดำลงไปดูซากไททานิครายละ  250,000 ดอลลาร์ (ราว 8.8 ล้านบาท) ได้กำหนดให้มีลูกทัวร์ลงนามรับทราบที่ระบุว่า "โอเชียนเกตจะไม่รับผิดชอบ กรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต"

สำหรับบริษัท OceanGate ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ให้บริการจัดทัวร์ใต้มหาสมุทร ที่ดำลงไปชมซากเรือไททานิค ที่ผ่านมามีบริษัททัวร์เอกชนจำนวนไม่น้อย จัดทัวร์พาบรรดามหาเศรษฐีมีเงินผู้ชื่นชอบการผจญภัย ดำดิ่งลงไปชมซากเรือที่จมเมื่อร้อยปีก่อน

โรมัน ชิปโปรูกะ (Roman Chiporukha) หนึ่งผู้ก่อตั้ง Roman & Erica บริษัทท่องเที่ยวสำหรับลูกค้าที่มีฐานะร่ำรวย กล่าวในตอนหนึ่งต่อเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ว่า สำหรับมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่รักการผจญภัย การเดินทางใต้น้ำไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง  "คนเหล่านี้คือผู้พิชิตยอดเขาทั้งเจ็ดได้ พวกเขาได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเรือยอรช์ของพวกเขาเอง การพักผ่อนโดยทั่วไปของบรรดาคนรวย เช่น บนชายหาดในอิตาลี เฟรนช์ริเวียร่า หรือเซนต์บาร์ตส์ พวกเขากลับรู้สึกว่ามันธรรมดาเกินไป" 

กรณีของฮามิช ฮาร์ดิง หนึ่งในมหาเศรษฐีที่ลงเรือดำน้ำไททันสะท้อนว่าก็เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิญผจญภัย เช่นเดียวกับนายเจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีเจ้าของอเมซอนที่เป็นหนึ่งในผู้โดยสารยานออริจิ้นขึ้นไปสู่วงโคจรนอกโลก

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวใต้น้ำ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 หลังจากที่ Ofer Ketter กัปตันเรือดำน้ำ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท SubMerge ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับเรือดำน้ำส่วนตัว กล่าวว่า การเดินทางใต้ทะเลลึกแบบนี้หาได้ยากเมื่อเทียบกับการเดินทางท่องเที่ยวทั่วไป ตัวอย่างเช่น บริษัททัวร์สุดหรูอย่างKensington Toursเสนอทริปล่องเรือยอทช์ 10 วันมูลค่า 700,000 ดอลลาร์ ซึ่งรวมการดำน้ำลึก 600 ฟุตในบาฮามาสเพื่อสำรวจพื้นมหาสมุทร Exumas

ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบนี้เป็นเรื่องใหม่ ทั้งยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงด้านขอบเขตของกฎหมาย สตีฟาน บี. วิลเลียม (Stefan B. Williams) ศาสตราจารย์แห่ง Australian Center for Field Robotics แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เผยกับเว็บไซต์ Insider ว่าการสำรวจซากไททานิคของ OceanGate เป็นสิ่งที่บริษัทสามารถละเลยด้านความปลอดภัยได้

“ผมคิดว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหม่ ผมไม่คิดว่าจะมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมันมากนัก ผมไม่รู้ว่ามีข้อบังคับเฉพาะใดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวใต้ทะเลลึกแบบนี้แล้วหรือไม และผมคิดว่ามันค่อนข้างหายากที่จะเกิดขึ้น และคุณสามารถเห็นได้จากรายงานค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพาผู้คนเข้าสู่สิ่งเหล่านี้ เรือว่าเป็นธุรกิจที่มีราคาแพง"

เช่นเดียวกับ Salvatore Mercogliano รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์การเดินเรือแห่งมหาวิทยาลัยแคมป์เบลล์ในนอร์ทแคโรไลนา กล่าวกับ Times ว่า เรือไททันไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนสัญชาติกับประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือปฏิบัติตามกฎที่สากล เพราะเรือดำน้ำดังกล่าว ถูกบรรทุกโดยเรือสัญชาติแคนาดา และถูกหย่อนลงในน่านน้ำสากลซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตกฎหมาย

ขณะเดียวกับ 'ซากเรือไททานิค' ที่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1985 ได้มีข้อถกเถียงกันเรื่องกรรมสิทธิ์ของซากเรือและสิ่งของมีค่า ที่อยู่ภายในและบนพื้นทะเลรอบๆ จนเกิดการฟ้องร้องในหลายส่วน ทีมค้นหาที่พบซากเรือเป็นกลุ่มแรกก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือเรือ แต่ซากเรืออยู่ในทะเลหลวง ไม่สามารถครอบครองโดยใครได้ ขณะที่ไม่นานหลังมีการค้นพบเรือ บรรดาบริษัททประกันภัยของอังกฤษอย่าง Liverpool และ London Steamship Protection and Indemnity Association อ้างว่าตนเป็นเจ้าของซากเรือลำนี้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่เคยทำประกันเรือตั้งแต่ยังไม่ออกจากอู่ต่อเรือ 

เมื่อปี 1986 วอลเตอร์ บี. โจนส์ ซีเนียร์ สมาชิกสภาคองเกรสแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา เรียกร้องให้หลายฝ่ายทิ้งซากเรือไว้ดังเดิม พร้อมเรียกร้องให้ออกกฎหมายคุ้มครองซากเรือในฐานะแหล่งศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ กระทั่งผ่านกฎหมายได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือ การปกป้องซากปรักหักพังของเรือ ตลอดจนของมีค่าทางโบราณคดีของเรือ ซึ่งที่ผ่านมาถูกบรรดามหาเศรษฐีนักสำรวจดำลงไปกู้ของมีค่าของเรือกลับขึ้นมาประมูลหรือจัดแสดง เรื่องนี่เป็นที่ถกเถียงในระดับนานาชาติมานานหลายสิบปี

 กระทั่งปี 2020  รัฐบาลสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงคุ้มครองเรือไททานิค  (Agreement Concerning the Shipwrecked Vessel RMS Titanic) ส่งผลให้ซากเรือตลอดจนของมีค่าบนเรือ ได้รับความคุ้มครองในท้ายที่สุด 

ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงก็ยังไม่จบว่า ไม่ควรปล่อยให้ซากเรือไททานิคกลายเป็น "สถานที่ท่องเที่ยว" ควรอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล แต่จุดที่เรืออับปางอยู่ในเขตน่านน้ำสากล  หรือ  International waters ซึ่งหมายถึงบริเวณพื้นน้ำที่ไม่มีอำนาจอธิปไตย ไม่มีใครเป็นเจ้าของและไม่มีรัฐใด ๆ ควบคุม นิยามตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ระบุว่า น่านน้ำสากลจะห่างจากชายฝั่ง 200 ไมล์ทะเลขึ้นไป ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน ที่ทำธุรกิจนำลูกทัวร์ลูกไปดูซากไททานิคใต้ท้องมหาสมุทรจนเกิดเหตุโศกนาฎกรรม นานาชาติจะใช้กฎหมายใดมาควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องนี้ได้มากน้อยเพียงใด

TAGS: #ไททานิค #เรือดำน้ำ #ไททัน #สหรัฐ #แคนาดา #ฝรั่งเศส #อังกฤษ