หญิงญี่ปุ่นวัย 70 เสียชีวิตหลังติดเชื้อไวรัสออซ (Oz) จากถูกเห็บกัด กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเผย เป็นเคสแรกของโลก
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานว่า หญิงชาวญี่ปุ่นวัย 70 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดอิบารากิ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังจากติดเชื้อไวรัสออซ (Oz) แม้ว่าจะมีรายงานจากการติดเชื้อไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะในสัตว์ป่าและมนุษย์ แต่เชื่อว่านี่เป็นกรณีแรกของโลกที่เสียชีวิตจากไวรัสดังกล่าว
หญิงชาวญี่ปุ่นรายนี้ เข้ารับการรักษาเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วด้วยอาการมีไข้ อ่อนเพลีย และปวดข้อต่อ เดิมทีสถาบันการแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคปอดบวม และจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ต่อมาอาการแย่ลง จึงเข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์สึคุบะ ขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบเห็บแข็งดูดเลือดที่ต้นขาขวาของเธอ ทั้งนี้เธอเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบราวหนึ่งเดือนถัดมา
อ้างอิงจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIID) ไวรัสออซถูกพบครั้งแรกในปี 2018 ในเห็บแข็งซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า amnlyomma testudinarium ในจังหวัดเอฮิเมะ
มีการตรวจพบแอนติบอดีสำหรับไวรัสออซในสัตว์ป่า เช่น ลิงแสมญี่ปุ่น หมูป่า และกวางในจังหวัดชิบะ กิฟุ มิเอะ วากายามะ ยามากูจิ และโออิโตะ กระทรวงฯ ระบุ มีการตรวจเลือดของนักล่าสัตว์ 24 คนในจังหวัดยามากูจิ พบว่ามีนักล่าสัตว์ 2 คนที่มีผลตรวจแอนติบอดีของไวรัสออซเป็นบวก ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าพวกเขาเคยติดเชื้อมาก่อน โดยที่ไวรัสออซยังไม่เคยตรวจพบนอกประเทศญี่ปุ่น
ทาดากิ ซูซูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาการติดเชื้อของ NIID กล่าวว่า สืบเนื่องจากเป็นกรณีการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันรายแรก จึงเป็นเรื่องยากที่จะพิจารณาความรุนแรง หรืออันตรายของไวรัส ณ ขณะนี้ “กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า ไวรัสเป็นสาเหตุของอาการร้ายแรง รวมถึงการเสียชีวิตได้ แต่จากการตรวจสอบก่อนหน้านี้พบผู้ที่มีแอนติบอดีในร่างกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบางคนอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย”
กระทรวงฯ ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือหลีกเลี่ยงการเปิดเผยผิวหนังเมื่ออยู่ในพื้นที่ ที่สามารถสัมผัสกับเห็บแข็งได้ และได้แนะนำเพิ่มเติมว่าควรสวมเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวเมื่อเข้าใกล้บริเวณพุ่มไม้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเห็บกัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จนถึงฤดูใบไม้ร่วงตอนที่แมลงออกหากิน การใช้ยาไล่แมลงอาจช่วยได้เช่นกัน หากใครที่ถูกกัดควรไปพบแพทย์ และหลีกเลี่ยงการเอาออกเอง
ทั้งนี้เห็บแข็ง ซึ่งมีเกล็ดแข็งและมีขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มักพบได้ในป่า และตามพุ่มไม้ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากเห็บที่มักพบในบ้าน