ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเลสิงหาคมนี้

ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงทะเลสิงหาคมนี้
เพื่อนบ้านจับตาIAEAไฟเขียวญี่ปุ่น ปล่อยน้ำปนเปื้อนปรมาณูลงมหาสมุทรแปซิฟิก

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนเริ่มกระบวนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ที่ผ่านการบำบัดแล้วลงมหาสมุทรแฟซิฟิกภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังได้รับการอนุมัติจากทบวงปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) 

สำหรับน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าว เป็นน้ำทะเลที่ถูกสูบขึ้นมาเพื่อใช้ในกระบวนการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ หลังจากที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับความเสียหายจากเหตุสึนามิพัดถล่มในปี 2011 ซึ่งหลังกระบวนการหล่อเย็น น้ำดังกล่าวจะปนเปื้อนกัมมันตรังสี รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องสร้างถังกักเก็บขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายถังโดยรอบโรงไฟฟ้าดังกล่าว

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA กล่าวระหว่างการเยือนกรุงโตเกียว เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า แผนปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นสอดคล้องตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ IAEA ว่าด้วยผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ IAEA ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าว จนพบว่ามีระดับความเข้มข้นของรังสีอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

นายกรอสซี ได้ส่งมอบรายงานการตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายให้กับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจว่าจะเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อใด โดยผู้นำญี่ปุ่นนรับปากว่าจะปล่อยน้ำเสียเหล่านั้นลงทะเลก็ต่อเมื่อแน่ใจว่าไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เบื้องต้นคาดว่ามีกำหนดการปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรเร็วสุดภายในเดือนสิงหาคมนี้

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า การรับรองจาก IAEA จะช่วยคลายความกังวลของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านและประชาชนญี่ปุ่นเอง รวมทั้งชุมชนชาวประมงที่ต่อต้านโครงการดังกล่าว

สำหรับกระบวนการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลจะเรียกกระบวนการนี้ว่า dvanced Liquid Processing System หรือ ALPS จะใช้วิธีกรองกัมมันตรังสีออกจากน้ำปนเปื้อนแล้วนำไปเจือจางจนต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

คาดว่ากระบวนการทั้งหมดอาจใช้ระยะเวลานานถึง 30-40 ปี นื่องจากปริมาณน้ำเสียมหาศาลหลายล้านตันที่บรรจุอยู่ในถังน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1,000 ลูกตามแนวชายฝั่งของโรงไฟฟ้า

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นพยายามจะระบายน้ำดังกล่าวลงสู่มหาสมุทร แต่ได้รับเสียงคัดค้านจากหลายส่วนทั้งในประเทศจนถึงชาติเพื่อนบ้านต่างประเทศทั้งในเกาหลีใต้ จีน และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เนื่องกังวลต่อข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอในการประเมินผลกระทบจากเรื่องนี้ รวมถึงอันตรายในระยะยาวจากกัมมันตรังสี ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล

TAGS: #นิวเคลียร์ #ญี่ปุ่น #โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ #ฟุกุชิมะไดอิจิ