สื่อนอกยกเมืองหลวงไทย ขยายระบบรถไฟฟ้าก้าวหน้าสุดของอาเซียน

สื่อนอกยกเมืองหลวงไทย ขยายระบบรถไฟฟ้าก้าวหน้าสุดของอาเซียน
สื่อนอกจับตาโมโนเรลขยายทั่วอาเซียน บริษัท 'ญี่ปุ่น-จีน' ชิงเค้กวางระบบ ยกไทยโครงการรถไฟฟ้าก้าวหน้านำชาติเพื่อนบ้าน

นิเคอิเอเชียรายงานว่า ภายในสิ้นปีหน้าเครืข่ายรถไฟฟ้าในมหานครใหญ่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% การเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากความจำเป็นในการขยายระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองเพื่อลดความแออัดและลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์

จากการตรวจสอบของนิเคอิพบว่า ระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ทั่วอาเซียนทั้งในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีความยาวของเส้นทางรถไฟฟ้ารวมกันทั้งสิ้น 1,147 กิโลเมตร ณ มกราคม 2566 โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มเส้นทางขยายไม่น้อยกว่า 1,356 กิโลเมตรภายในสิ้นปี 2567 

สำหรับประเทศไทย ล่าสุดที่มีการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสีเหลืองที่เชื่อมต่อในเขตเมืองของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรปราการ ในลักษณะรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล ครอบคลุม 23 สถานีระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร


สื่อญี่ปุ่นระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าในการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าในเขตเมืองหลวงมากที่สุด เริ่มจากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เริ่มให้บริการในปี 2542  รวมถึงรถไฟทั้งใต้ดินและบนดินอีกหลายเส้นทางตามแผนแม่บทการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งหากทางรถไฟฟ้าทุกสายสร้างเสร็จ จะส่งผลให้กรุงเทพมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นรถยะทางรวมไม่น้อยกว่า 200 กิโลเมตร ถือเป็นชาติทีมีระบบขนส่งทางรางที่ก้าวหน้ามากที่สุดของเซียนแซงหน้ามาเลเซียและอินโดนีเซีย

ขณะที่หากเทียบกับชาติเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ถือว่าการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตเมืองนับว่าช้ามาก โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศในเมืองโฮจิมินห์ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในปีหน้า หลังประสบความล่าช้าหลายครั้ง โดยเริ่มจาก 14 สถานีในระยะทาง 20 กม. ขณะที่กรุงฮานอยมีระบบรถไฟใต้ยาว 13 กม. ซึ่งหมายความว่าเส้นทางรถไฟของเวียดนามรวมทั้งสิ้น 33 กม. ภายในปี 2567
 
ส่วนฟิลิปปินส์ ก็มีแผนขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าเช่นกันในช่วงปลายเดือนมิถุนายน  นี้โดยเฉพาะการก่อสร้างเส้นทาง MRT สาย 7 ที่เชื่อมระหว่างเขตกรุงมะนิลากับปริมณฑลโดยรอบมูลค่ากว่า 1,790 ล้านดอลลาร์ เพื่อหวังลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนซึ่งกลายเป็นความแออัดและสร้างปัญหาจราจรติดขัดในกรุงมะนิลามายาวนาน

ที่ผ่านมาบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถไฟสัญชาติญี่ปุ่น ถือเป็นรายใหญ่ที่คว้าสัมปทานวางระบบเดินรถไฟฟ้าให้กับหลายชาติ ตัวอย่างเช่น Shimizu ผู้ผลิตรถไฟฟ้าสัญญาติญี่ปุ่นที่เพิ่งคว้าสัมปทานวางระบบรถไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2572 นี้ เช่นเดียวกับบริษัท Kawasaki Heavy Industries ของญี่ปุ่นเคยเป็นผู้วางระบบรถไฟฟ้าหลายสายให้กับประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตรถไฟสัญชาติจีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการคว้าส่วนแบ่งตลาดการวางระบบเดินรถในหลายชาติของอาเซียน โดยเฉพาะความสำเร็จจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่วิ่งเชื่อมระหว่างมณฑลยูนนานของจีนมายังนครหลวงเวียงจันทร์ นอกจากนี้ จีนยังเป็นหัวหอกในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอินโดนีเซีย ระหว่างกรุงจาการ์ตา-เมืองบันดุง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้เร็วที่สุดในปีนี้


จีนกำลังพยายามอย่างหนักในการแข่งขันเป็นซัพพลายเออร์ระบบรถไฟฟ้าที่แข่งกับผู้ผลิตจากฝั่งญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่นรถไฟฟ้าสายสีแดงในกรุงเทพฯ ใช้ตู้รถไฟที่ผลิตโดยฮิตาชิของญี่ปุ่น ขณะที่สายสีเหลืองตัดสินใจนำตู้รถไฟที่ผลิตโดย CRRC ของจีนมาให้บริการ 

ส่วนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ใช้ขบวนรถอัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 สัญชาติฝรั่งเศสเป็นผู้วางระบบเดินรถ โดยสื่อญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากข้อมูลเชิงเทคนิคในการวางระบบรถไฟฟ้าแล้ว หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้รูปแบบการทูตที่สมดุลซึ่งรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติตะวันตกกับตะวันออก ในแง่การพัฒนาทางด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

 

TAGS: #รถไฟฟ้า #อาเซียน #กรุงเทพ #จีน #ญี่ปุ่น