สื่อญี่ปุ่นจับตาการเมืองไทย เชื่อนายกคนใหม่อาจมาจากพรรคเพื่อไทย หลังพิธาไม่ผ่านโหวตนายก
นิเคอิของญี่ปุ่นรายงาน หลังจากวันที่ 13 ก.ค.นายพิธา ลิ้นเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการลงมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการรับรองเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ส่งผลทิศทางการเมืองไทยในขณะนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
แม้ไม่ผ่านโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกแต่พิธาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังคงไม่ยอมแพ้ และว่าจะให้มีการเสนอเป็นครั้งที่สองในวันที่ 19 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าความหวังที่พิธาจะได้รับการเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั้น ยากเกินความเป็นจริงนั่นทำให้ ความสนใจเปลี่ยนไปที่พรรคเพื่อไทยเพราะ หลายฝ่ายเชื่อว่าพรรคกำลังตัดสินใจว่าจะยังคงสนับสนุนพิธาต่อไป หรือเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคตนเองที่มีทั้งชื่อของนาย เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาฯ วัย 60 ปี หรือ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาววัย 36 ปีของทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังคงสงวนท่าทีดังกล่าว โดยตามที่นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว แกนนำพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธที่จะระบุว่าพรรคจะเปลี่ยนขั้วเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหรือไม่ภายหลังนายพิธาไม่ผ่านโหวตนายกฯ โดยว่าพรรคเพื่อไทยจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อตัดสินใจในการลงมติครั้งที่สอง
นิเคอิตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงในสภา 141 เสียง น้อยกว่าพรรคก้าวไกล 10 เสียง อีกทั้งยังมีท่าทีประณีประนอมต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากกว่าฝั่งพรรคก้าวไกล ซึ่งมีจุดยืนสำคัญปฏิรูปกฎหมาย 112 ที่ถูกวิพาษ์กวิจารณ์จากฝ่ายวุฒิสภาจนทำให้ไม่ผ่านการโหวตรับรองนายกฯ
ในการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก พิธาได้รับคะแนนเสียง 324 เสียงในการประชุมร่วมรัฐสภา ขาดคะแนนเสียงที่ต้องการไป 51 เสียง จึงจะผ่านการรับรองเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลกล่าวว่าจะเสนอร่างกฎหมายแก้ก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบอำนาจวุฒิสภาในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี
ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อนานกว่าที่คาดไว้ และยิ่งขัดขวางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการหยุดชะงักของโควิด-19 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับบรรดาภาคธุรกิจ สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวว่า วงการธุรกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นรัฐบาลใหม่และนโยบายที่ชัดเจน
"สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คืองบประมาณของรัฐบาลซึ่งควรรวบรวมทันทีหลังจากที่เรามีรัฐบาลใหม่ ความล่าช้าในกระบวนการลงคะแนนเสียงของนายกรัฐมนตรีมีแนวโน้มที่จะลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอาจทำให้เกิดปัญหาการใช้จ่ายของรัฐบาลได้หาก งบประมาณล่าช้า”
ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเซีย พลัส กล่าวความกังวลทางการเมืองเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งคาดว่าจะซื้อขายในวงแคบในวันศุกร์ นักวิเคราะห์กล่าวว่านักลงทุนกำลังรอการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก่อนที่นักลงทุนจะดำเนินการใด ๆ ต่อไป
ภายหลังทราบผลโหวตนายกฯ กลุ่มซีพี, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และกลุ่มบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ต่างเป็นที่จับตามองในวงกว้าง เนื่องจากนักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อหรือขาย โดยทราบดีว่าหุ้นของบริษัทเหล่านี้จะได้รับผลกระทบหากพรรคก้าวไกลสามารถขึ้นเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีจุดยืนอย่างชัดเจนเรื่องการต่อต้านกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือตลาด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับการประท้วงที่ยืดเยื้ออีกระลอกจากบรรดาผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่อาจวางแผนที่จะจัดการประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้พิธาผ่านการลงมติโหวตนายกรอบสอง
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความล่าช้าในการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อไปจนถึงเดือนตุลาคม และการประท้วงประปรายอาจปะทุขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว กดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อไป หากความล่าช้ายาวนานขนาดนั้นและการประท้วงยังดำเนินต่อไป เศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 2.5% ถึง 3% ในปีนี้ ซึ่งจะต่ำกว่าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ไว้ที่ 2.7% ถึง 3.7%