กต. แย้มไทยเจ้าภาพจัดประชุม ผู้นำ BIMSTEC พ.ย. นี้ แต่รอรัฐบาลใหม่ชัดเจน

กต. แย้มไทยเจ้าภาพจัดประชุม ผู้นำ BIMSTEC พ.ย. นี้ แต่รอรัฐบาลใหม่ชัดเจน
ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ BIMSTEC แย้มจัดประชุมผู้นำเดือนพฤศจิกายนนี้ ชงลงนามข้อตกลงทางทะเลอ่าวเบงกอลเชื่อม 13 ท่าเรือ

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยต่อทีม The Better ว่า ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นประธานกรอบความร่วมมือริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ที่ประกอบด้วยชาติสมาชิก บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย
, พม่า, เนปาล, ศรีลังกา และไทย โดยปี 2565-2566 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เผชิญข้อจำกัดด้านวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ผลกระทบจากสงครามยูเครน และการฟื้นตัวหลังโควิด-19 จึงทำให้ศรีลังกา ในฐานะประเทศเจ้าภาพจากวาระก่อน ส่งมอบการทำหน้าที่ให้กับประเทศไทยล่าช้า

อธิบดีกรมเศรษฐกิจต่างประเทศ กล่าวว่า จากหลายปัจจัยในข้างต้น การที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ถือเป็นความท้าทายในการทำหน้าประธานของไทย ซึ่งมีความมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้กับอนุภูมิภาค และขับเคลื่อนขีดความสามารถ นอกเหนือจากความร่วมมือวิชาการ  

"ไทยไม่ได้รับทำหน้าที่ประธานบิมสเทคอย่างเดียว แต่ยังรับมอบความท้าทายหลายปัจจัยด้วย เพราะเรามีความตั้งใจให้บิมสเทคเป็นกรอบความร่วมมือที่ทันสมัย และตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นทำให้เราจำเป็นต้องรีดีไซน์แผนความร่วมมือใหม่ทั้งหมดในขณะที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพ (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) เพื่อให้บิมสเทคสอดคล้องกับความท้าทายในอนาคตภายใต้ทศวรรษนี้" 

กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่มบิมสเทคในปีนี้ มีแผนการจัดประชุมผู้นำบิมสเทคในช่วงปลายปีนี้ คือช่วงพฤศจิกายน แต่ต้องรอให้ชาติสมาชิกบิมสเทคยืนยันและลงฉันทามติครบทุกประเทศก่อน ขณะเดียวกันมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพคือ สถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งหากยังคงมีข้อโต้แย้งและยังไม่อาจตั้งรัฐบาลได้

ไทยอาจต้องเลื่อนการประชุมออกไปปีหน้าหากยังไร้ความชัดเจนรัฐบาลใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรายังมีความเชื่อว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีความชัดเจนต่อทิศทางการเมืองไทยมาขึ้น ซึ่งยังต้องดูว่า ทิศทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ไทยจะเป็นเช่นไร ตลอดจนประเทศคู่ค้าอื่น ที่ไทยอาจเทียบเชิญมาร่วมวงประชุมด้วย


ชงลงนามข้อตกลงขนส่งทางทะเล

สำหรับการประชุมผู้นำบิมสเทคที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทยในฐานะประธานการประชุม เผยว่าจะมีการจัดลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งถือเป็นความร่วมมือด้านการค้าฉบับแรกของบิมสเทคที่จะมีการลงนามกัน

ย้อนกลับไปในการประชุมผู้นำบิมสเทค อย่างไม่เป็นทางการในเมืองกัว เมื่อปี 2016 ได้มีการตกลงที่จะสรุปร่างความตกลงการเดินเรือชายฝั่งภายใต้กรอบบิมสเทค ซึ่งต่อมาในปี 2021 ร่างฯ ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น 'ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล (Agreement on Maritime Trasport Cooperation) เผื่อขยายขอบเขตขยายเส้นทางการค้าทางทะเลเพิ่มเติม

ภายใต้ข้อตกลงนี้จะทำให้บรรดาชาติสมาชิกบิมสเทค สามารถขยายเส้นทางการขนส่งทางเรือให้ครอบคลุมทุกท่าเรือในอ่าวเบงกอลมากขึ้นจากเดิม 6 ท่าเรือ เป็น 13 ท่าเรือ โดยไทยมีท่าเรือระนองเป็นจุดเชื่อมโญงไปยังประเทศสมาชิกอื่น ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเล ทั้งหลีกเลี่ยงความล่าช้าในการขนส่งทางเรือ ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ สินค้าส่งออกไทยที่จะได้รับประโยชน์ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก น้ำมันปาล์ม อัญมณี ยาง เม็ดพลาสติก และเครื่องจัก ขณะเดียวกันจะอำนวยความสะดวกต่อสินค้าที่ไทยนำเข้าได้มากขึ้น อาทิ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และอาหารทะเล 

TAGS: #บิมสเทค #BIMSTEC #ไทย #อินเดีย #ศรีลังกา #อ่าวเบงกอล #เศรษฐกิจเอเชียใต้