เมื่อทหารยึดอำนาจ เพื่อนบ้านส่งกองทัพช่วย 'ประชาธิปไตย' มันจะวุ่นแค่ไหน?

เมื่อทหารยึดอำนาจ เพื่อนบ้านส่งกองทัพช่วย 'ประชาธิปไตย' มันจะวุ่นแค่ไหน?
กรณีศึกษาจากภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เมื่อประเทศนีแชร์เกิดการยึดอำนาจ แต่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเตรียมส่งทหารเข้าแทรกแซง คืนอำนาจให้ผู้นำจากการเลือกตั้ง

ประเทศนีแชร์อยู่ตรงไหนของโลก?
ประเทศนีแชร์ หรือ ไนเจอร์ (Niger) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในแอฟริกาตะวันตก เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก เศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ที่เกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ และการส่งออกแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศตะวันตก นีแชร์ส่งออกแร่ยูเรเนียมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ให้สหภาพยุโรป โดยเฉพาะกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเดิมของนีแชร์ 

เบื้องหลังที่นีแชร์ต้องทำรัฐประหาร
นีแชร์เคยทำรัฐประหารมาแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2503 โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2553 ในระหว่างนั้นยังมีความพยายามก่อรัฐประหารอีกหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือในปี 2564 เมื่อทหารที่ไม่เห็นด้วยพยายามยึดทำเนียบประธานาธิบดี สองวันก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด บาซูม ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกของประเทศ 

นีแชร์อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแร่ยูเรเนียม ซึ่งฝรั่งเศสและประเทศในยุโรปต้องการอย่างมาก และนีแชร์ยังมีพันธะตามข้อตกลงกับฝรั่งเศสให้ฝรั่งเศสสามารถส่งกองกำลังมาปฏิบัติการทางทหารในประเทศได้ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านของนีแชร์ ที่ถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงคล้ายๆ กัน 

แต่ในช่วงไม่กี่มานี้ เพื่อนบ้านของนีแชร์ เช่น มาลี และบูร์กินาฟาโซ เกิดการรัฐประหารโดยกองทัพที่ต่อต้านอิทธิพลฝรั่งเศสและชาติตะวันตก และได้ไล่กองทัพฝรั่งเศสออกไป นีแชร์ ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยจึงกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศส และ บาซูม กลายเป็นผู้นำไม่กี่คนในแถบนี้ที่ยังโปรตะวันตก มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมจากอเมริกาได้ฝึกฝนสมาชิกองครักษ์หลายคนของ บาซูม

ท่ามกลางความรู้สึกต่อต้านฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมถึงกระแสต้านตะวันตกในนีแชร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชาชนมองว่าตะวันตกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และยังกอบโกยความมั่งคั่งจากประเทศพวกเขา ทั้งๆ ที่นีแชร์ร่ำรวยด้วยแร่ยูเรเนียม แต่กลับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ความไม่พอใจตะวันตก เปิดทางให้รัสเซียเข้ามาเป็นมิตรกับประเทศเหล่านี้ โดยผ่านบริษัททหารรับจ้างของ Wagner Group และความนิยมรัสเซียก็เริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมู่กองทัพของนีแชร์

ทหารยึดอำนาจเพื่อชาติ?
ในที่สุดวันที่ 26 กรกฎาคม ทหารนีแชร์ก็ยึดอำนาจ โดยอ้างว่าทำรัฐประหารพื่อหลีกเลี่ยง "ความหายนะที่ค่อยเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้" ของประเทศ และกล่าวว่า บาซูม พยายามซ่อน "ความจริงอันโหดร้าย" ของประเทศ ฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารพยายามอธิบายว่า บาซูม เป็นพวกนิยมฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของนีแชร์ และเพื่อนบ้านมานานหลายสิบปี 

ส่วน เยฟเกนี ปรีโกชิน หัวหน้ากลุ่ม Wagner Group ทหารรับจ้างเอกชนของรัสเซียที่ปฏิบัติการในมาลีที่อยู่ใกล้เคียงและเข้ามาแทนที่ฝรั่งเศสในการต่อสู้กับการก่อความไม่สงบของกลุ่มเคร่งศาสนาในประเทศโดยรอบนีแชร์ ยกย่องการรัฐประหารในนีแชร์ และบอกว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของนีแชร์กับ "ผู้ล่าอาณานิคม" ซึ่งหมายถึงฝรั่งเศสและชาติตะวันตก 

เพื่อนบ้านแทรกแซงได้ไหม?
นีแชร์ เป็นสมาชิกของกลุ่ม ECOWAS หรือ ประชาคมเศรษฐกิจของรัฐแอฟริกาตะวันตก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจ แต่ ECOWAS ยังทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพในภูมิภาค โดยในบางครั้งประเทศสมาชิกจะส่งกองกำลังทหารร่วมเข้าแทรกแซงในประเทศสมาชิกของกลุ่มในช่วงเวลาที่เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและความไม่สงบ

การรัฐประหารนีแชร์ สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับ ECOWAS อย่างมากเพราะเป็นหนึ่งในการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นถี่ๆ ในประเทศใกล้เคียงกัน เช่น ในประเทศกินี มาลี และซูดานในปี 2564 และรัฐประหารสองครั้งในบูร์กินาฟาโซในเดือนมกราคมและกันยายน 2565 ซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้ถูกเรียกว่า "แถบรัฐประหาร" (coup belt)

แต่ตรงกันข้ามกับการรัฐประหารในกินี ECOWAS ไม่ได้ส่งคนกลางหรือตัวแทนอย่างเป็นทางการไปยังนีแชร์เพื่อเจรจา  ในวันที่ 30 กรกฎาคม ECOWAS ยังยื่นคำขาดให้กำหนดเวลาหนึ่งสัปดาห์แก่ผู้นำการรัฐประหารของนีแชร์ในการส่งมอบอำนาจคืนให้กับ บาซูม หรือเผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติและ/หรือการใช้กำลัง

เมื่อเส้นตายใกล้เข้ามา แผนการที่จะใช้กำลังของ ECOWAS ก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ และผู้นำของประเทศสมาชิกก็เห็นพ้องกันว่าจะต้องใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง ประธานาธิบดี โบลา  ตินูบู ของไนจีเรีย ในฐานะประธานของกลุ่ม ECOWAS กล่าวว่า "เราต้องยืนหยัดในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการปกครอง เสรีภาพ และหลักนิติธรรม หากปราศจากประชาธิปไตย เราจะไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในแอฟริกาตะวันตกอีก ระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดการ แต่เป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด"

กู้ประชาธิปไตยหรือผลประโยชน์?
ส่วนฝรั่งเศสก็เปิดหน้าชัดเจนว่า สนับสนุนการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงนีแชร์ สำนักข่าวของฝรั่งเศสส คือ France24 กล่าวว่า นีแชร์คือ "ฐานที่มั่นสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคซาเฮล" ซึ่งภูมิภาคซาเฮล (Sahel) หมายถึงดินแดนในแถบชายทะเลทรายซาฮาราตอนใต้

แต่เพราะมีกระแสต่อต้านฝรั่งเศสในภูมิภาครุนแรงเช่นกัน จึงมีการตอบโต้ว่าการรัฐประหารในนีแชร์เป็นการทำลายล้างระบอบอาณานิคมซ่อนรูปของฝรั่งเศสมากกว่า และแม้แต่ในกลุ่ม ECOWAS ก็มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนการใช้กำลังทหารแทรกแซง และฝ่ายที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร และยังมีการวิเคราะห์ว่าการส่งทหารเข้าไปในนีแชร์ จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายวงเข้าไปมากขึ้น 

ในช่วงเวลาของการรัฐประหารที่นีแชร์ ท่อส่งน้ำมันสำคัญที่น่าจะยาวที่สุดในแอฟริกาที่ความยาว 1,980 กม. กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเชื่อมต่อแหล่งน้ำมันของโอเอซิส อากาเดมในนีแชร์กับท่าเรือเซเม ในประเทศเบนิน  เจ้าหน้าที่เบนินให้ความเห็นว่าการลงโทษนีแชร์โดยกลุ่ม ECOWAS จะทำให้การก่อสร้างล่าช้าอย่างมาก หมายถึงภูมิภาคนี้จะเสียผลประโยชน์ไปอย่างมหาศาล

และเมื่อประเทศเหล่านี้วุ่นวายหนัก ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือชาติตะวันตก เช่น ฝรั่งเศสที่ยังมีสัญญากับบางประเทศที่ให้ฝรั่งเศสส่งทหารเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยได้ หรือนัยหนึ่งคือเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของฝรั่งเศส ในขณะเดียวกับ รัสเซียก็อาจเข้ามาแทรกแซงมากขึ้นด้วย และอาจจะไม่มีใครยอมใคร เพราะว่านีแชร์มีขุมทรัพย์สำคัญจองแร่ยูเรเนียม ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และใช้สร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้เช่นกัน 

รายงานพิเศษเจาะลึกโดยทีมข่าว The Better 

ภาพจาก @BabenSoro/Twitter 

TAGS: #niger #coup #democracy #ไนเจอร์ #นีแชร์ #รัฐประหาร