ไทยได้ที่โหล่ ประเทศน่าอยู่ตอนแก่ ส่องระบบบำนาญลำดับต้นๆ ของโลก
กลายเป็นข้อถกเถียงจากกรณีราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยกรณีการปรับเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยสูงอายุได้ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีระบบการจ่ายแบบขั้นบันได เรียงตามลำดับอายุดังนี้
- ผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
- ผู้สูงอายุ อายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
- ผู้สูงอายุ อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
- ผู้สูงอายุ อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
เมื่อเทียบระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ไทยอยู่อันดับไหน?
ผลการศึกษาจาก Mercer CFA Institute Global Pension Index 2022 การศึกษาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญ 44 ระบบทั่วโลก คิดเป็น 65% ของประชากรโลก โดย Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ พบว่าประเทศไทยรั้งท้าย
ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 โดยมีดัชนีเฉลี่ยอยู่ที่ 41.7 คิดเป็นเกรด D ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าพอใจ แต่ยังมีจุดอ่อนใหญ่ ๆ หากขาดการพัฒนาจะกลายเป็นที่น่ากังวลกับผลที่เกิดขึ้นและความยั่งยืนของประชากรในอนาคต
สำหรับประเทศที่ได้ค่าวัดเป็นเกรด A มีดัชนีเฉลี่ยมากกว่า 80 ได้แก่ประเทศ
- ไอซ์แลนด์
- เนเธอแลนด์
- เดนมาร์ก
ประเทศไอซ์แลนด์ถูกจัดเป็นอันดับหนึ่งสำหรับระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก
ประเทศในอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์ ที่ได้ค่าวัดสูงสุดอยู่ที่ 74.1 คิดเป็นเกรด B เทียบเท่าสหราชอาณาจักร เบลเยียม เยอรมันนี และอื่น ๆ
ประเทศมาเลเซียถูกจัดอันดับอยู่ที่เกรด C+
ส่วนประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อยู่ที่เกรด D เทียบเท่าประเทศไทย
หากเจาะลึกเกี่ยวกับระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลกอย่างประเทศไอซ์แลนด์ และระบบบำนาญที่ดีที่สุดในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ จะมีอะไรบ้าง?
ไอซ์แลนด์
ระบบบำนาญในประเทศไอซ์แลนด์ มี 3 ระบบ ได้แก่
1. เงินบำนาญสาธารณะจากภาษีประชาชน ในแต่ละรัฐจะมีความแตกต่างกันออกไปตามค่าจ้าง และคำนึงถึงดัชนีของค่าครองชีพ
- บุคคลทั่วไปจะได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุ 67 ปี
- มีการจัดเก็บภาษี 15% จากรายได้เฉลี่ย
- ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำ จะได้รับเงินบำนาญสูงสุดถึง 70% ของรายได้เฉลี่ย
2. เงินบำนาญจากการประกอบอาชีพ
- ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถเบิกเงินบำนาญได้ตั้งแต่อายุ 65 ปี (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ)
- รัฐให้เงินบำนาญ 50-60% ของรายได้เต็มเวลาระหว่างการจ้างงาน และอัตราเงินสมทบต้องไม่ต่ำกว่า 11%
3. เงินบำนาญส่วนตัว
สิงคโปร์
ระบบสวัสดิการสังคมจะอยู่ในรูปแบบของกองทุน ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์กำหนดให้มีทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund – CPF) โดยกำหนดให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินประกันสังคมให้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับ CPF เป็นรายเดือน เงินประกันสังคมถูกจัดอยู่ในบัญชี 3 ประเภท
- บัญชีเงินฝากปกติ (Ordinary Account – OA) กองทุนสำหรับที่พักอาศัย การลงทุน และการศึกษา
- บัญชีเงินฝากพิเศษ (Special Account – SA) กองทุนสำหรับเกษียณอายุ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องหลังเกษียณอายุ
- บัญชีเมดิเซฟ (Medisave Account) กองทุนสำหรับการรักษาที่โรงพยาบาล และค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
เมื่ออายุครบ 55 ปี จะมีบัญชีที่ 4 เกิดขึ้น คือ The Retirement Account (RA) เป็นการรวมเงินจาก OA และ SA เพื่อเกษียณอายุ (Retirement Sum)
Photo - Nancy Wong