เราจะไล่เป็นข้อๆ ถึงสาเหตุและผลที่จะตามมาของวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน และผลสะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆ
หลังจากปล่อยให้มีสภาพเหมือนผีดิบอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุด Evergrande ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองการล้มละลายภายใต้บทที่ 15 ของประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ต่อศาลนิวยอร์กเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งปกป้องทรัพย์สินของสหรัฐในขณะที่บริษัทพยายามทำข้อตกลงการปรับโครงสร้าง นี่คือเหตุการณ์แรงสั่นสะเทือนที่ใหญ่หลวงมากต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน ต่อเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลก
Evergrande เป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดในจีน แต่เริ่มซวนเซมาประมาณ 2 ปีแล้ว หลังจากพยายามเอาชีวิตรอดด้วยวิธีการต่างๆ พวกเขาทำไม่สำเร็จ และรัฐบาลก็ไม่อาช่วยอะไรได้มาก ทั้งๆ ที่เงินลงทุนของบริษัทนี้เกี่ยวพันกับชีวิตของคนจีนเป็นจำนวนมาก และคนจีนจำนวนมากไม่รู้จะไปลงทุนที่ไหน นอกจากในอสังหาฯ (จีนเก็บ 70% ของความมั่งคั่งในอสังหาริมทรัพย์ ) ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ บูมสุดๆ เป็นเวลานานเกือบ 10 ปีมาแล้ว จนกระทั่งมันเริ่มแสดงอาการไม่ดี หากฟองสบู่นี้แตกขึ้นมา เศรษฐกิจจีนอาจมีล้ม
นี่คือสาเหตุและผลที่จะตามมา
1. วิกฤตการณ์ทางการเงินของจีนเริ่มต้นมาจากปัญหาการบริหารของ Evergrande Group และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ของจีน อันเนื่องมาจากกฎระเบียบใหม่ของจีนเกี่ยวกับวงเงินกู้ของบริษัทเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วิกฤตดังกล่าวได้แผ่ขยายไปไกลกว่า Evergrande ในปี 2564 และยังส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เช่น Country Garden, Kaisa Group, Fantasia Holdings, Sunac, Sinic Holdings และ Modern Land
2. Evergrande ใหญ่แค่ไหน? เฉพาะแค่ที่ดินที่บริษัทสะสมเอาไว้ก็ใหญ่พอที่จะรองรับผู้คนได้ 10 ล้านคนในปี 2563 และในช่วงหลายปีก่อนเกิดวิกฤตในปี 2564 Evergrande ได้ดำเนินการขยายธุรกิจในเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า สวนสนุก พลังงาน และภาคส่วนอื่นๆ อีกมากมาย บริษัทมีแผนจะใช้เงินกว่า 45,000 ล้านหยวน (7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 ในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลกว่างโจว สโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดของจีน
3. แต่มันยังเทียบไม่ได้กับโครงการ Ocean Flower Island ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 100,000 ล้านหยวน (15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสร้างเกาะเทียมบนชายฝั่งทางเหนือของไห่หนาน ใกล้กับเมืองหยางผู่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งโครงการนี้ "กินกันสะบั้นหั่นแหลก" เพราะมีการติดสินบน จางฉี นักการเมืองของมณฑลไห่หนาน
4. นี่คือสถานการณ์ก่อนเกิดหายนะ เราจะเห็นว่า Evergrande ลงทุนมือเติบมาก นั่นก็เพราะพวกเขามีเงินในมือมาก (คนจีนเลือกที่จะลงทุนอสังหาฯ กันมาก) และตลาดเชื่อมั่นในกิจการของพวกเขา (แม้ว่าธุรกิจจะเริ่มหลากหลายจนไกลจากการลงทุนอสังหาฯ จนเกินไป) แต่มันไม่เสถียรเอาเลย
5. ขนาดก่อนจะเกิดลางหายนะ Evergrande ยังส่ออาการไม่ดีแล้ว โดยระดมทุนหลายพันล้านดอลลาร์ผ่านผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง (WMP) และใช้เงินดังกล่าวเพื่ออุดช่องโหว่ในการระดมทุนของบริษัทเอง และเพื่อตอบแทนผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ความมั่งคั่งอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ที่ขายมีความเสี่ยงสูง โดยผู้บริหารที่ไม่ระบุตัวตนแนะนำว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ "เสี่ยงเกินไปสำหรับนักลงทุนรายย่อย และไม่ควรเสนอขายให้กับพวกเขา"
6. แม้จะเสี่ยงขนาดนี้แล้ว Evergrande ก็ยังตะเกียกตะกายหาเงินไม่หยุดเพื่ออุดช่องโหว่แบบขายผ้าเอาหน้ารอด เช่น ผู้จัดการของ Evergrande กดดันพนักงานใต้บังคับบัญชาให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาโดยให้ผลตอบแทนมากกว่า 10% ต่อปี แต่ของปลอมยังไงก็ปลอม การระดมทุนที่ไม่ตั้อยู่บนรากฐานที่มั่นคง ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ปรากฎว่าหนี้สินรวมของ WMP อยู่ที่ 40,000 ล้านหยวนในเดือนกันยายน 2564
7. ไม่ใช่แค่ Evergrande เท่านั้นที่ระดมทุนแบบนี้ บริษัทอสังหาฯใหญ่ๆ ในจีนก็ทำคล้ายๆ กัน ผลก็คือ ลางร้ายของหายนะหนี้อสังหาฯ เริ่มจะกลายเป็นจริง ในที่สุดรัฐบาลจีนทนไม่ไหว จึงได้ออกกฎ "เส้นสีแดงสามเส้น" ในปี 2563 เพื่อควบคุมการก่อหนี้ของบริษัทเหล่านี้ โดยจำกัดการกู้ยืมตามมาตรการต่อไปนี้ คือ "หนี้สินต่อเงินสด หนี้สินต่อทุน และหนี้สินต่อสินทรัพย์"
8. เมื่อรัฐบาลกำหนดเส้นตาย "เส้นสีแดงสามเส้น" แบบนี้ บริษัทอสังหาฯใหญ่ๆ ก็ไปไม่เป็นในทันที และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสลายของ Evergrande และบริษัทอื่นๆ หุ้นและความน่าเชื่อถือของ Evergrande ได้รับผลกระทบในทันทีคือ "ดิ่งฮวบ" เกิดภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แม้จะขายสินทรัพย์และอะไรต่อมิอะไก็ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ได้ จนต้องทุบโครงการอสังหาฯ ทิ้ง รวมถึงอภิมหาโครงการ Ocean Flower Island ก็ไม่รอด
9. หลังจากยักษ์ใหญ่ไปไม่รอด แถมไม่ยอมเผยแผนปรับโครงสร้างเสียที ผู้ซื้อบ้านชาวจีนก็ตอบโต้ ด้วยการเริ่มคว่ำบาตร พวกเขาหยุดชำระเงินจำนองในช่วงกลางปี 2565 ยอดขายของบริษัทอสังหาฯ ที่มีขนาดใหญ่ 100 อันดับแรกในจีนลดลงประมาณ 33% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามรายงานของ CRIC บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน
10. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 Evergrande เปิดเผยต่อสาธารณชนว่ามีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 476,000 ล้านหยวน (66,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564 และ 105,900 ล้านหยวน (14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 บริษัทระบุว่าหนี้สินรวมในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 2.43 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 340,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านล้านหยวน ในเดือนกันยายน 2564
11. ยังไม่ทันไร ในเดือนสิงหาคม 2566 Country Garden Holdings เตือนถึงผลขาดทุนสุทธิจำนวนมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เนื่องจากโครงการอสังหาฯ มีราคาตกต่ำและอัตรากำไรที่ลดลง Country Garden เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน การสูญเสียคาดว่าจะอยู่ในช่วง 45,000 ล้านหยวน ถึง 55,000 ล้านหยวน
12. นี่คืออีกหนึ่งสัญญาณร้ายที่มาแบบเหนือความคาดหมาย เพราะกำไรสุทธิของ Country Garden อยู่ที่ประมาณ 1,910 ล้านหยวนในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 หุ้นของบริษัทตกลงถึง 14.4% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในวันถัดจากคำเตือนกำไรตกต่ำ หุ้นปิดต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ฮ่องกงเป็นครั้งแรก และหุ้นของบริษัทลดลง 30% ในสัปดาห์ต่อมา
13. ในวันที่ 14 สิงหาคม 2566 มีสองบริษัทกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินจากกองทรัสต์เพื่อการลงทุนใน Country Garden ในขณะเดียวกันบริษัทพยายามที่จะชะลอการชำระหนี้ของหุ้นกู้เอกชนออนชอร์ 1 ตัว และระงับการซื้อขายหุ้นกู้ออนชอร์อีก 11 ตัว ทำให้นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าบริษัทกำลังเตรียมการปรับโครงสร้างหนี้ ในวันเดียวกันนั้น Sino-Ocean อีกหนึ่งยักษ์อสังหาฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐได้ประกาศว่าขาดชำระดอกเบี้ยไปเกือบ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
14. ในวันที่ 14 สิงหาคม เช่นกัน มีรายงานเตือนถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก Zhongrong International Trust Co ซึ่งเป็นบริษัททรัสต์ขนาดใหญ่ของจีนที่มีความเสี่ยงสูงในอสังหาริมทรัพย์ ผิดนัดภาระผูกพันในการชำระคืนผลิตภัณฑ์การลงทุนบางอย่าง นักวิเคราะห์ชี้ว่า การผิดนัดชำระโดย "ธนาคารเงา" (เช่น บริษัททรัสต์) ที่มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะเพิ่มแรงกดดันให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนมากขึ้น
15. หลังจากนั้น Evergrande ก็ยื่นล้มละลายในสหรัฐเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม คำถามก็คือตลาดอสังหาฯ จีนจะรอดไหม และผลสะเทือนทางเศรษฐกิจจะลามไปยังประเทศอื่น รวมถึงไทยหรือไม่? คำตอบอยู่ที่ นักลงทุนนอกจีน (รวมถึงในไทย) ถือครองหนี้และการลงทุนของอสังหาฯ จีนมากแค่ไหน? การที่จะดูว่าประเทศไหนเสี่ยงที่สุด อาจจะดูตรงๆ ไม่ได้ เพราะการลงทุนในบริษัทอสังหาฯ จีนอาจทำผ่านบริษัทคนกลางหลายต่อ
16. เช่น บริษัทในอเมริกาและยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากวิกฤต Evergrande ผ่านการถือครองหุ้นกู้ ในจำนวนนี้มีบริษัท Ashmore Group ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเกิดใหม่ เป็นเจ้าของหุ้นกู้มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ขณะที่ UBS เป็นเจ้าของหุ้นกู้มากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ BlackRock มีเงินลงทุนทั้งหมด 400 ล้านดอลลาร์จากกองทุนทั้งหมด บริษัทอื่นๆ มีความเสี่ยงน้อยกว่า โดย HSBC มีมูลค่าสูงสุดที่ 31 ล้านดอลลาร์
17. อย่างไรก็ตาม การระบาดของวิกฤตไม่ใช่แค่เกิดแบบตรงไปตรงมาระหว่างบริษัทหน่งไปสู่บริษัทหนึ่ง แต่วิกฤตอสังหาฯ จีนจะทำให้ภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจซบเซาไปด้วย ทำให้คนจีนจำนวนมหาศาลสูญเสียเงินออม (ที่นิยมออมไว้ในการลงทุนอสังหาฯ) และความไม่มั่นคงจะทำให้คนจีนยิ่งเก็บเงินมากขึ้น และใช้จ่ายน้อยลง สำหรับประเทศที่พึ่งพาการบริโภคจากจีน (เช่นประเทศไทย) แล้ว นี่ข่าวร้ายชัดๆ
Photo by Noel Celis / AFP