ในโลกของเรามีผู้นำมากมายที่เคยต้องโทษจำคุกในเรือนจำ ทั้งอยู่แบบยาวๆ และอยู่ชั่วคราว และมีทั้งที่กลับมาผงาดอีกครั้ง
ในศตวรรษที่ 20 และ 21 ประมุขของประเทศและผู้นำรัฐบาลมากมายที่ต้องคดีจนต้องถูกตำคุกในเรือนจำ เราจะมาสำรวจกันว่าในช่วงเวลาไม่นานมานี้ มีผู้นำคนไหนบ้างที่ต้องเข้าไปนอนคุก นี่คือชีวิตของผู้นำบางคนที่เราเลือกมานำเสนอ ชีวิตของพวกเขาพลิกผันจากตำแหน่งสูงสุดและทรงอิทธิพลที่สุด กลายมาเป็นแค่นักโทษคนหนึ่ง
นายกฯอิเควทอเรียลกินี ถูกทรมาณ ตายในคุก
มิเกล อาเบีย บิเตโอ โบริโก (Miguel Abia Biteo Boricó) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศอิเควทอเรียลกินี ในทวีปแอฟริกา โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ถึง 14 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เขาถูกจำคุกและถูกทรมานในเรือนแบล็คบีชในเมืองมาลาโบจากข้อมูลในปี 2550 และเสียชีวิตในวันที่ 6 ธันวาคม 2555 เนื่องจากหัวใจวาย
นายกฯ ประเทศชาด ป่วยตายในคุก
ฮิสแซน ฮาเบร (Hissène Habré) ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของชาด ในแอฟริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งเขาถูกปลดในปี พ.ศ. 2533 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ฮาเบรถูกตัดสินว่ามีความผิดโดยศาลระหว่างประเทศในเซเนกัลในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการข่มขืน การเป็นจับคนมาทาสทางเพศ และการสั่งสังหารผู้คน 40,000 คน และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เขาเป็นอดีตประมุขแห่งรัฐคนแรกที่ถูกตัดสินว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในศาลของประเทศอื่น เขาเสียชีวิตในโรงพยาบาลหลังถูกส่งตัวมาจากเรือนจำเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 หลังติดเชื้อโควิด-19
นายกฯลิเบีย เกือบถูกฆ่าตายในคุก
อาบูเซด โอมาร์ ดอร์ดา (Abuzed Omar Dorda)นายกรัฐมนตรีของลิเบียตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2533 ถึง 29 มกราคม พ.ศ. 2537 หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลิเบีย เขาถูกจับกุมโดยกองกำลังฝ่ายตรงกันข้าม เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554 ระหว่างถูกควบคุมตัว ดอร์ดาได้รับบาดเจ็บสาหัส (ขาหักทั้งสองข้าง) หลังจากตกจากหน้าต่างชั้นสองของเรือนจำ แต่ครอบครัวของเขาเชื่อว่าเขารอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหาร เจ้าหน้าที่เรือนจำอ้างว่าเขาพยายามฆ่าตัวตาย เขาได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ
นายกฯลิเบีย ติดคุกซ้อน 2 ประเทศ
บักดาดี อาลี มาห์มูดี (Baghdadi Ali Mahmudi) นายกรัฐมนตรีของลิเบียตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 ถึง (อย่างช้าที่สุด) 1 กันยายน พ.ศ. 2554 หลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลิเบีย เขาถูกจับในตูนิเซียเนื่องจากเข้าเขตแดนโดยผิดกฎหมายและถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน แม้ว่าภายหลังจะถูกลบล้างด้วยการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ศาลตูนิเซียได้ตัดสินให้ส่งมาห์มูดีไปยังลิเบียในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ภายใต้คำร้องขอจากสภาเปลี่ยนผ่านของลิเบีย แล้วไปติดคุกที่ลิเบียต่อ จนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562
ผู้นำไลบีเรีย ติดยาวๆ ไปครึ่งศตวรรษ
ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ (Charles Taylor) เประธานาธิบดีคนที่ 22 ของไลบีเรีย ในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2540 จนกระทั่งลาออกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2546 อันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองไลบีเรียครั้งที่สอง ในระหว่างดำรงตำแหน่ง เทย์เลอร์ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอันเป็นผลมาจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองเซียร์ราลีโอน เขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติในเซียร์ราลีโอน และจากนั้นถูกคุมขังที่สถาบันดัดสันดานฮากลันเดนในกรุงเฮก เพื่อรอการพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 จากทั้งหมด 11 ข้อหาที่ศาลพิเศษตัดสิน ซึ่งรวมถึงการก่อการร้าย การฆาตกรรม และการข่มขืน ในเดือนพฤษภาคม 2555 เทย์เลอร์ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี
เผด็จการทหารเกาหลีใต้ ติดคุกนิดหน่อย
ชุน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ผู้นำเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ปกครองประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2531 หลังเกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตย ศาลแขวงกรุงโซลได้ตัดสินประหารชีวิตเขา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ศาลสูงกรุงโซลได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตและปรับเป็นจำนวนเงิน 220,000 แสนล้านวอน เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2540 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุด ชุนถูกตัดสินอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้นำการจลาจล, สมรู้ร่วมคิดในการก่อการจลาจล, มีส่วนร่วมในการจลาจล, สั่งการเคลื่อนย้ายกองกำลังอย่างผิดกฎหมาย, ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างกฎอัยการศึก, สังหารนายทหารระดับสูง, พยายามสังหารนายทหารระดับสูง, สังหารทหารผู้ใต้บังคับบัญชา, เป็นผู้นำ การกบฎ การสมรู้ร่วมคิดในการก่อการจลาจล ต่อมาประธานาธิบดีคิม ยองซัม ลดโทษจำคุกตลอดชีวิต และชุนยังไม่ยอมจ่ายค่าปรับด้วย โดยอ้างว่า "ผมมีเงินที่อยู่ในชื่อของผมแค่ 290,000 วอน" (7,600 บาท)
นายกฯ มาเลย์ยังติดคุกแบบไม่มีลดโทษ
นาจิบ ราซัก (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของมาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ในปี พ.ศ. 2563 เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทุจริตในคดีอื้อฉาว 1 Malaysia Development Berhad ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการฟอกเงินและการยักยอกเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นาจิบกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่ถูกตัดสินว่าทุจริต และถูกตัดสินจำคุก 12 ปีและปรับ 210 ล้านริงกิต ปัจจุบันเขากำลังรับโทษอยู่ในเรือนจำกาจัง
ประธานาธิบดีรวันดาได้ลดโทษจากผู้นำใหม่
ปาเตอร์ บิซิมุนกู (Pasteur Bizimungu) ประธานาธิบดีคนที่สามของรวันดา ในแอฟริกา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ถึง 23 มีนาคม พ.ศ. 2543 ในปี 2547 บิซิมุนกู ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในข้อหาพยายามจัดตั้งกองทหารรักษาการณ์ ยุยงให้เกิดความรุนแรง และยักยอกเงิน แต่อีก 3 ปีต่อมาเขาได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีคนใหม่
ผู้นำมองโกเลียโทษ7ปี แต่ติดปีเดียวก็ได้อภัยโทษ
นัมบาริน เอนคาบาบาร์ (Nambaryn Enkhbayar)นายกรัฐมนตรีมองโกเลียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2547 และประธานาธิบดีมองโกเลียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2552 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2555 ศาลตัดสินให้เอนคาบาบาร์มีความผิดฐานทุจริตและถูกตัดสินจำคุก 7 ปี แต่ได้รับการลดโทษจากนั้นให้จำคุก 4 ปี และปรับมากกว่า 1.7 พันล้านเหรียญมองโกเลีย จากการใช้ทรัพย์สินของรัฐและอำนาจของรัฐบาลในทางที่ผิด ต่อมาศาลสูงสุดในมองโกเลียลดลงเหลือจำคุก 2 ปีครึ่ง โดยไม่เสียค่าปรับ ต่อมา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ประธานาธิบดีแห่งมองโกเลียได้ออกกฤษฎีกาอภัยโทษ เขาจึงได้รับการปล่อยตัวเจากคุกในวันที่กฤษฎีกาที่มีผลบังคับใช้
บราซิล ผู้นำที่ติดคุกแล้วกลับมาผงาดอีกครั้ง
ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva)เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 35 ของบราซิลระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2553 ในเดือนกรกฎาคม 2560 เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฟอกเงินและคอร์รัปชัน เขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปีครึ่ง และหลังจากการอุทธรณ์ไม่สำเร็จ เขาถูกจับในเดือนเมษายน 2561 และใช้เวลา 580 วันในคุก จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายน 2562 เมื่อศาลสูงสุดของรัฐบาลกลางตัดสินว่าการจำคุกของเขาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากการตัดสินของศาล ลูลาได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2565 โดยเอาชนะโบลโซนาโรอย่างขาดลอย เขากลายเป็นประธานาธิบดีบราซิลคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สาม และเป็นคนแรกที่เอาชนะผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ในฐานะประธานาธิบดีบราซิลที่มีอายุมากที่สุด โดยมีอายุ 77 ปี ณ เวลาที่เข้ารับตำแหน่ง