ไขข้อข้องใจ นักโทษนอนโรงพยาบาล ต้องล่ามโซ่หรือเปล่า?

ไขข้อข้องใจ นักโทษนอนโรงพยาบาล ต้องล่ามโซ่หรือเปล่า?
การนำตัวนักโทษไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมีมาตรการต่างๆ กันไปทั่วโลก นี่คือตัวอย่างในไทยและในต่างประเทศ

มาตรการในไทย ใส่โซ่ตีตรวนได้แม้ว่าจะป่วย
จากข้อมูลในหนังสือ "คู่มือการควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่ได้รับการอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ" ระบุได้ในเรื่อง "การนำผู้ต้องขังป่วยส่งโรงพยาบาล" ได้ดังนี้

วิธีการนำตัวไปส่ง
1) ใช้อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ 2 คน ต่อผู้ต้องขัง 1 คน เว้นแต่กรณีผู้ต้องขังป่วยที่ต้องนำส่งโรงพยาบาลในคราวเดียวกันมากกว่า 1 คน ให้ใช้เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อผู้ต้องขัง 1 คนได้ และต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ได้รับมอบหมายควบคุมไปด้วยโดยไม่รวมพนักงานขับรถ

ระวังไม่ให้หลบหนี
2) ให้ระมัดระวังการควบคุมเป็นพิเศษ มิให้มีการหลบหนีทุกขณะ และห้ามใช้เวลาไปกระทำการอย่างอื่นในระหว่างเดินทางไปและกลับจากโรงพยาบาลด้วย

ต้องมีตำรวจคุม
3) กรณีเป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ เช่น คดียาเสพติดรายใหญ่ หรือคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง หรือผู้ต้องขัง มีอิทธิพล เมื่อต้องนำตัวไปศาล ให้เรือนจำประสานงานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจท้องที่เพื่อรักษาความปลอดภัยด้วย และหากผู้ต้องขังในกลุ่มดังกล่าวป่วยและจำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาล เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำแล้ว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเพื่อรักษาความปลอดภัยขณะนำส่งโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน

ป่วยก็ตีตรวนได้
4) การควบคุมผู้ต้องขังป่วยไปโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมมีอำนาจใช้กุญแจมือเป็นเครื่องพันธนาการได้ เว้นแต่ผู้ต้องขังนั้นเป็นผู้ร้ายรายสำคัญให้ใช้เครื่องพันธนาการอย่างอื่น ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เพื่อความปลอดภัยในการควบคุมแต่ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วยซึ่งไม่สามารถเดินได้ จะไม่ใช้เครื่องพันธนาการใดๆ ก็ได้

ห้ามเยี่ยมเด็ดขาด
หนังสือ "คู่มือการควบคุมผู้ต้องขังป่วยที่ได้รับการอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ" ยังระบุว่า ห้ามผู้ต้องขังป่วยติดต่อพบปะหรือรับการเยี่ยมจากผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด เว้นแต่การเยี่ยมจากญาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องเฝ้าสังเกตและควบคุมอย่างใกล้ชิดหากญาตินอาหารมาเยี่ยมผู้ต้องขังให้บันทึกแบบการส่งมอบอาหารส่วนตัวให้แก่ผู้ต้องขังโรงพยาบาลภายนอกตามเอกสารแนบท้ายด้วย

ผู้สูงวัยไม่ต้องตรวน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อกำหนดดังกล่าวของหน่วยงานราชทัณฑ์ แต่ในบางกรณีที่มีการคุมขังผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ก็มักจะมีละเว้นมาตรการบางอย่างได้โดยอ้างระเบียบปฏิบัติ เช่น กรณีของ สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ที่ถูกจับกุมเมื่อปี 2556 และถูกส่งตัวกลับเรือนจำกลางชลบุรี และมีเสียงวิจารณ์กรณีไม่ใส่โซ่ตรวนกับกำนันเป๊าะ และยังมีข่าวลือเรื่งการสิทธิพิเศษอื่นๆ  

กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในเวลานั้น ชี้แจงว่าไม่ได้ให้สิทธิพิเศษ ส่วนการตีตรวนมีข้อยกเว้นกรณีผู้ต้องขังป่วยหรือเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปห้ามใส่เครื่องพันธนาการทุกชนิด 

ดังนั้น ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีอายุ 74 ปีก็น่าจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องตีตรวนระหว่างอยู่โรงพยาบาลด้วย หากมีระเบียบข้อบังคับที่ว่านั้นอยู่จริง

ทั้งนี้ iLaw ระบุว่า นักโทษชายที่อายุไม่เกิน 60 ปีต้องถูกตีตรวนขณะเดินทางมาศาลและต้องใส่ตรวนอยู่ตลอดการพิจารณาคดีด้วย ถ้าอายุเกิน 60 ปี ถ้าต้องการจะไม่ใส่โซ่ตรวน ก็จะต้องทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

ที่สหรัฐต้องล่ามโซ่ไม่เว้น 
ที่สหรัฐอเมริกา นักโทษจะต้องถูกล่ามโซ่เอาไว้กับเตียงแม้ว่าจะป่วยจนรับการรักษาในโรงพยาบาลก็ตาม ในบางกรณีมีการควบคุมอย่างเข้มงวด แม้แต่ผู้ต้องขังเป็นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ระหว่างรับโทษก็ตาม 

นิตยสาร Cosmopolitan ในสหรัฐรายงานเรื่องของ ผู้หญิงที่ชื่อ เมลิสซา ฮอลล์ (Melissa Hall) ที่อ้างว่าระหว่างเป็นนักโทษในเรือนจำ Milwaukee County เธอถูกใส่กุญแจมือและล่ามโซ่ระหว่างการคลอดบุตร การคลอดบุตร และการรักษาหลังคลอด Cosmopolitan รายงานว่า "ระหว่างการเตรียมคลอดและการคลอดบุตร เธอกล่าวว่าโซ่ที่ล่ามลำตัวถูกถอดออก ข้อเท้าข้างหนึ่งและข้อมือข้างหนึ่งถูกล่ามไว้กับเตียง" จนเมื่อเธอพ้นโทษแล้ว เธอประกาศต่อสู้กับการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมแบบนี้ 

สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้รัฐต่างๆ กำลังจำกัดการใช้มาตรการตีตรวนกับผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ แต่เรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่

NPR สำนักข่าวในสหรัฐรายงานอ้างผลการศึกษาในปี 2018 พบว่า ในบรรดาพยาบาลในโรงพยาบาลที่กล่าวว่าพวกเขาดูแลผู้หญิงที่ถูกคุมขังในระหว่างตั้งครรภ์หรือช่วงหลังคลอด 82.9% รายงานว่าผู้ป่วยที่ถูกคุมขังถูกล่ามโซ่ "บางครั้งถูกใส่ตรวนตลอดเวลา"

การตีตรวนตอนป่วยมีทั่วไป
การตีตรวนนักโทษตอนรับการรักษาในโรงพยาบาลดูเหมือนนจะเป็นเรื่องปกติทั่วโลก จนเมื่อปี  2022 มีงานวิจัยเผยแพร่ใน  Journal of General Internal Medicine เรื่อง Shackling in the Hospital (การตีตรวนในโรงพยาบาล) ซึ่งระบุว่า "ผู้ป่วยที่ถูกคุมขังในโรงพยาบาลมักถูกใส่กุญแจมือตลอดระยะเวลาการรักษาในศูนย์การแพทย์ชุมชน (หมายถึงโรงพยาบาลคนปกติ) เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือทำอันตรายต่อผู้อื่น ในกรณีที่ไม่มีนโยบายที่ครอบคลุมซึ่งจะช่วยชี้นำการตีตรวนผู้ป่วยที่ไม่ได้ตั้งครรภ์และถูกคุมขัง แพทย์จึงแทบไม่ได้ปลดกุญแจมือผู้ป่วยในระหว่างการดูแลตามปกติ"

Photo - Rainerzufall1234 

TAGS: #ทักษิณ