สำรวจปฏิกริยาของคนประเทศต่างๆ ต่อข่าวที่ญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นประกาศว่าจะเริ่มปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เสียหายจากภัยพิบัติสึนามิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกภายใน 48 ชั่วโมง แม้ว่าเพื่อนบ้านจะต่อต้านก็ตาม ญี่ปุ่นกล่าวว่าน้ำจะปลอดภัยหลังจากใช้ระบบประมวลผลของเหลวขั้นสูง (ALPS) ซึ่งกำจัดรังสีเกือบทั้งหมดออกจากน้ำเสีย โดยมีไอโซโทปเป็นข้อยกเว้นหลักในเรื่องนี้ ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมากกว่า 1 ล้านตันในอีก 30 ปีข้างหน้าตามแผน
การกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความแตกแยก ส่งผลให้เกิดการต่อต้านอย่างดุเดือดจากรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความแตกแยกในความคิดเห็นของสาธารณชนปรากฏชัดเจนในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยจีนตัดสินใจระงับการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น เพื่อ "ป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารจากการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียนิวเคลียร์จากฟุกุชิมะลงสู่ทะเล"
นอกจากจีนและเกาหลีใต้แล้ว ประเทศอื่นๆ มีทัศนะในด้านลบต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของญี่ปุ่น เช่น
สำนักข่าว The Straits Times รายงานข่าวสำนักงานอาหารสิงคโปร์กล่าวว่าผลการเฝ้าระวังอาหารจากญี่ปุ่น รวมถึงการฉายรังสี อยู่ในเกณฑ์ “น่าพอใจ” แต่ประชาชนสิงคโปร์แสดงความเห็นไม่พอใจหน่วยงานของรัฐ เช่น ความเห็นหนึ่งที่มีคนชื่นชอบมาก บอกว่า "มักจะรอจนกระทั่งบางสิ่งเกิดขึ้นมากกว่าลงมือทำเลยงั้นสิ?"
ชาวสิงคโปร์อีกคนบอกว่า "ไม่มีทางรักษาโรคซี (C Disease คือความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง) ที่น่ากลัวนั้นได้ เมื่อมีน้ำปนเปื้อนถูกทิ้งลงมหาสมุทร จึงน่ากลัวเมื่อนึกถึงผู้คนที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น"
ชาวสิงคโปร์อีกรายท้าทายท่านผู้นำประเทศว่า "เพื่อพิสูจน์ว่าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นปลอดภัย เราขอให้นายกรัฐมนตรีลี (เซียนลุง) และภรรยากินอาหารทะเลมื้อใหญ่จากน่านน้ำญี่ปุ่น LIVE ทางทีวีได้ไหม เพื่อแสดงว่ากินได้เหมือน (ตอนฉีด) วัคซีนโควิด"
อีกความเห็นบอกว่า "หากรัฐบาลเลือกที่จะไม่สั่งห้าม อย่างน้อยโปรดทำเครื่องหมายแหล่งที่มาของอาหารทะเลบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อที่เราจะได้เลือกซื้อหรือไม่ซื้อ" และอีกคนยืนยันว่า "จะหยุดซื้ออาหารทะเลจากญี่ปุ่น ขอบคุณสำหรับข้อมูล"
ความเห็นเหล่านี้เป็นท็อปเมนต์ของเพจสำนักข่าวระดับประเทศของสิงคโปร์ แต่ก็ยังสะท้อนความไม่พอใจต่อรัฐบาลตัวเองที่ไม่เดือดร้อนกับการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น
ด้านสื่อเก่าแก่และน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ คือ Manila Bulletin รายงานข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเช่นกัน ในส่วนความเห็นของชาวฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ดุเดือด อาจเป็นเพราะฟิลิปปินส์อยู่ใกล้กับญี่ปุ่นพอสมควร และอยู่ในมหาสมทุรแปซิฟิกเหมือนกัน
ชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งแสดงความเห็นระดับท็อปเมนต์บอกว่า "หากน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ไม่เป็นอันตรายตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นอ้าง ทำไมไม่ทำเป็นน้ำดื่มเองล่ะ? ว่าแต่รัฐบาลเรากำลังทำอะไรอยู่? นี่เป็นหายนะต่ออุตสาหกรรมประมงของเรา อย่างน้อยเราควรทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องตัวเราเอง!"
อีกรายเสนอว่า "นักวิทยาศาสตร์ชาวฟิลิปปินส์ควรศึกษาการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรและวิถีของมัน พวกเขาจะทิ้งน้ำเสียไปที่ส่วนใดของมหาสมุทรอย่างแน่นอน และจะเกิดการปนเปื้อนและผลกระทบประเภทใดต่อเรา"
ชาวฟิลิปปินส์คนนี้บอกสั้นๆ ว่า "โลกอยู่ได้โดยไม่มีญี่ปุ่น แต่โลกอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีทะเล"
ขณะที่ BBC News ของอังกฤษ (ซึ่งในทางภูมิศาสตร์อยู่ไกลจากปัญหาในมหาสมุทรแปซิฟิก) รายงานข่าวเรื่อง "คนรักซูชิกินคำสุดท้ายหลังการห้ามอาหารทะเลกระทบญี่ปุ่น"
ชาวอังกฤษคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า "ช่างหัวมูลค่าการส่งออกคาดการณ์ 1.1 พันล้านปอนด์ แล้วผลกระทบจากการปล่อยกากนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรจะส่งผลต่อโลกทั้งใบล่ะ! นี่เป็นเรื่องเลวร้ายและเป็นเครื่องเตือนใจว่าทำไมครอบครัวของฉันถึงไม่กินอาหารทะเล! พวกเขากำลังคิดบ้าอะไรอยู่!"
แต่ความเห็นนี้บอกว่า "พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามเอาประโคมสถานการณ์นี้ด้วยวิธีการเดิมๆ เพื่อพยายามเอาชนะทางการเมืองเหนือญี่ปุ่นอย่างสิ้นหวัง โดยไม่สนใจข้อมูลของ IAEA (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ) หรือข้อเท็จจริงที่ว่าเครื่องปฏิกรณ์ของจีนระบายน้ำหล่อเย็นออกสู่มหาสมุทรซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีมากกว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดออกมาของฟุกุชิมะ"
ความเห็นใน The New York Times สื่อชั้นนำของสหรัฐ มีความเห็นที่ดุเดือดไม่แพ้กัน ความเห็นหนึ่งที่มีคนชื่นชอบจำนวนมาก บอกว่า "พวกเขา (ญี่ปุ่น) สามารถขายอาหารทะเลเหล่านั้นให้กับพันธมิตรตะวันตก" และอีกคนบอกว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้จะต้องรับผิดชอบ"
ท็อปเมนต์อีกรายแนะว่า "หากชาวญี่ปุ่นอ้างว่าน้ำนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำไมพวกเขาจึงไม่ขายเป็นน้ำดื่มในญี่ปุ่นล่ะ?"
Photo - IAEA Imagebank