ประเทศอื่นเขาแจกเงินกันยังไง? ไปดูเขาแจกเงินเดือนประชาชนฟรีๆ ที่สหรัฐ

ประเทศอื่นเขาแจกเงินกันยังไง? ไปดูเขาแจกเงินเดือนประชาชนฟรีๆ ที่สหรัฐ
ที่เมืองเดนเวอร์ ประเทศสหรัฐ มีโครงการแจกเงินรายได้ประจำฟรีๆ ให้กับประชาชนที่ขัดสนทางการเงิน

การแจกเงินให้ประชาชนมีจุดประสงค์ต่างๆ กันไป แต่ในเวลานี้การแจกเงินโดยรัฐให้กับประชาชนมีอยู่ 2 โมเดลหลักๆ โมเดลแรกคือการแจกเงินจำนวนหนึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ในช่วงการระบาดใหญ่ รัฐบาลต่างๆ แจกเงินให้ประชาชนโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนที่หวาดกลัวปัญเศรษฐกิจ ให้หันมาใช้จ่ายอีกครั้ง จนกระทั่งเศรษฐกิจหมุนเวีน และคึกคักขึ้นมา

โมเดลใหม่ลดความเหลื่อมล้ำ
อีกโมเดลก็คือการแจกเงินรายได้ประจำถ้วนหน้า หรือ  Basic Income ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่ถูกพูดถึงกันมาก ไม่เพียงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้น และครอบคลุมทุกคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในชาติด้วย 

เนื่องจากมันเป็นโมเดลใหม่ ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าการแจกเงินแบบนี้มีใครทำบ้าง และได้ผลหรือไม่ เราจะไปดูกรณีศึกษาจาก "โครงการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าของเดนเวอร์" หรือ Denver Basic Income Project (DBIP) 

ตอนนี้ DBIP กำลังศึกษาผลกระทบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงแก่ผู้คนที่ไม่มีบ้านพักอาศัยที่อาศัยอยู่ในเดนเวอร์ DBIP ระบุว่าระบบการมอบเงินให้ระชาชนโดยตรงเป็นวิธีหนึ่งในการลดความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่ง และยกระดับความเป็นมนุษย์ 

ไปเอาเงินมาจากไหน?
เงินที่แจกมาจาก  Denver City Council คือ สภาผู้แทนราษฎรของเมืองเดนเวอร์ ซึ่งเงินเหล่านี้มาจากภาษีประชาชนนั่นเอง รวมเป็นเงิน 1.8 ล้านดอลลาร์ 

เนื่องจากเป็นเงินภาษี ดังนั้นโครงการแจกเงินถ้วนหน้าจึงมักถูกวิจารณ์นำเงินของผู้เสียภาษีไปให้กับผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีได้ใช้ 

อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีภาษีประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Negative income tax ซึ่งเสนอกันในสหรัฐตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 ให้คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์จ่ายภาษีแก่รัฐ ส่วนคนที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ การแจกเงินถ้วนหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้เช่นกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้ประชาชนมีพลังการผลักดันเศรษฐกิจเท่าๆ กัน 

ใครที่ได้แจกเงินบ้าง?
DBIP บอกว่า "แนวทางและการตัดสินใจของเรามีศูนย์กลางอยู่ที่ข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิต (ที่อยู่กับความยากจน) ผู้ที่อยู่ในแนวหน้า (ในสถานการณ์เสี่ยงต่างๆ ทางสังคม)  และผู้ที่กำลังประสบปัญหาคนไร้บ้าน ด้วยผู้คนมากกว่า 32,000 คนที่ประสบปัญหาคนไร้บ้านในเขตนครเดนเวอร์ (Denver Metro) เพียงแห่งเดียว การเรียนรู้จากโครงการนี้จะมีคุณค่าอย่างยิ่งในการแจ้งถึงกลยุทธ์และนโยบายในอนาคตที่ให้บริการชุมชนนี้"

DBIP ดำเนินการทดสอบนำร่อง 2 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม 2564 และกรกฎาคม 2565 เพื่อทดสอบการออกแบบ และสมมติฐานของโปรแกรม จากนั้นก็เปิดตัวโปรแกรมเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยใช้การเรียนรู้จากการศึกษาเหล่านั้น และผู้เข้าร่วมเริ่มได้รับการชำระเงินหลังจากนั้น

พวกเขาเน้นประชาชนที่ขาดโอกาสในชีวิตอย่างรุนแรง และยากจนอย่างที่สุด เช่น คนที่กำลังประสบปัญหาคนไร้บ้าน ใช้ชีวิตในรถยนต์ สวนสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ และอาคารร้าง รวมถึงคนที่ต้องอาศัยอยู่ในโมเทล โรงแรม และพื้นที่ตั้งแคมป์เนื่องจากไม่มีที่พักทางเลือกที่เพียงพอ

ได้เงินคนละเท่าไร?
คนที่กำลังประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลที่คล้ายกัน แต่พวกเขาตั้งเงื่อนไขว่าคนที่รับเงินจะต้องไม่มีความต้องการใช้สารเสพติดหรือมีสุขภาพจิตที่รุนแรงและไม่ได้รับการแก้ไข

คนที่ได้รับเงินประจำไปฟรีๆ มีจำนวน 800 คน ผู้เข้าร่วมถูกสุ่มให้เป็นหนึ่งในสามกลุ่ม ดังนี้ 

1. ผู้เข้าร่วมกลุ่ม A จะได้รับเงินสด 12 เดือนเป็นเงิน 1,000 ดอลลาร์ รวมเป็นเงิน 12,000 ดอลลาร์ในระยะเวลา 12 เดือน

2. ผู้เข้าร่วมกลุ่ม B จะได้รับเงินสดโดยตรงเริ่มแรกจำนวน 6,500 ดอลลาร์ และจะได้รับการชำระเงิน 11 เดือนจำนวน 500 ดอลลาร์ รวมเป็นเงิน 12,000 ดอลลาร์ในช่วง 12 เดือน

3. ผู้เข้าร่วมกลุ่ม C จะได้รับการชำระเงินสด 12 เดือนเป็นเงิน 50 ดอลลาร์ รวมเป็น 600 ดอลลาร์ในระยะเวลา 12 เดือน

แล้วแจกเงินได้ผลไหม?
จากรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า "เมื่อถูกถามเกี่ยวกับผลของโครงการ DBIP ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ผู้เข้าร่วมเกือบทุกคนสังเกตเห็นถึงความรู้สึกโล่งใจ ความเครียดลดลง และความหวังเพิ่มขึ้น"

สิ่งที่โครงการพบก็คือ ผู้ที่ได้รับเงินไม่ได้นำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย แม้ว่าการให้เงินจะไม่มีเงื่อนไขและไม่มีข้อผูกมัดก็ตาม สิ่งที่พบก็คือผู้ที่ได้รับเงินแจก

1) จัดลำดับความสำคัญในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานเร่งด่วน (ใช้เงินไปเพื่อการขนส่ง สุขอนามัย ของชำ และเสื้อผ้า)

2) จ่ายบิลและค่าใช้จ่ายปกติ (ค่าเช่า หนี้ ค่ารักษาพยาบาล และการซ่อมรถยนต์) และ

3) ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต (เปลี่ยนที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์)”

บทวิเคราะห์ของเรา
เนื่องจากโครงการ DBIP เน้นที่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างที่สุดและยากจนมากๆ ดังนั้นเงินที่แจกไปจึงถูกใช้เพื่อกำจัดความยากจนอย่างแท้จริง และนอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นพลังการใช้จ่ายของประชาชนด้วย เพราะการแจกเงินให้กับผู้ที่ต้องการจริงๆ จะช่วยสร้างพลังการจับจ่ายให้กลุ่มคนเป็นจำนวนมากในสังคม ภาคการผลิตก็จะกระเตื้องขึ้นมา (เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค) แม้แต่ภาคยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ก็จะกระเตื้อง เพราะผู้ได้รับเงินแจก (ซึ่งมักจะไร้บ้าน) นำเงินไปซื้อหรือเช่าบ้าน และซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นของจำเป็นมากในสหรัฐ เพราะสหรัฐไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม ทำให้คนเดินดินประสบกับชีวิตที่ยากลำบากในการเดินทางไปทำงาน 

นี่เป็นรายงานประเมินคร่าวๆ ส่วนรายงานผลโครงการที่ละเอียดกว่านี้จะออกมาในเดือนตุลาคม 2566


Photo by Asif HASSAN / AFP

TAGS: #แจกเงิน #สวัสดิการถ้วนหน้า