แทนที่จะผูกมิตรและทำลายศัตรู จีนเลือกที่จะใช้แผนที่เป็นตัวจุดชนวนความบาดหมาง มันเป็นเพราะอะไร?
กลายเดือนสิงหาคมจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ จีนทำให้ประเทศโดยรอบโกรธเคืองกันยกใหญ่ หลังจากออก "แผนที่มาตรฐาน"
แผนที่ฉบับนี้สร้างมาตรฐานใหม่จริงๆ เพราะประเทศเพื่อนบ้านจีนพร้อมใจกันประท้วงจีนที่เหมารวมดินแดนที่ยังพิพาทกันอยู่ไปเป็นของจีน คือ
1. "ดินแดนอักไสชิน" อินเดียอ้างสิทธิ์ แต่จีนควบคุม
2. "รัฐอรุณาจัลประเทศ" จีนอ้างสิทธิ์ แต่อินเดียควบคุม
3. พื้นที่พิพาทกับเนปาลตามพรมแดน
4. "เกาะบอลชอย อุสซูรึยสกี" รัสเซียควบคุม จีนอ้างสิทธิ์
5. ทะเลจีนใต้แย่งชิงกับฟิลิปปินส์, กับเวียดนาม, กับมาเลเซีย, กับบรูไน และกับอินโดนีเซีย
แผนที่ฉบับล่าสุดขอจีนคือชวนเหตุแห่งความบาดหมางของแท้ กับคู่กัดเก่าๆ ยังไม่เท่าไร แต่จีนทำให้เพื่อเก่ากลายเป็นศัตรูใหม่ไปด้วยนี่สิ
ถ้าใครติดตาม "การเมืองเรื่องแผนที่" ของจีน จะรู้ดีว่าจีนมีความเซนซิทีฟเรื่องแผนที่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะแผนที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างสิทธิ์ทับเส้นกับบรรดาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนนั้นละเอียดอ่อนกับเรื่องนี้มาก ถึงขนาดที่ว่าแผนที่ในภาพยนต์หรือเอนิเมชั่นที่ไม่เขียนเส้นพรมแดนไม่ถูกต้องอาจจะถูก "เล่นงาน" ถ้าไม่โดนเล่นงานจากทางการจีน ก็ถูกชาวเน็ตจีนเล่นงานเอาก็ได้
ซึ่งไม่ใข่เรื่องเล่นๆ เพราะชาวเน็ตจีนมีเป็นร้อยๆ ล้านคน เป็นผู้บริโภคที่ทรงพลังที่พร้อมจะถล่มซื้อหรือถล่มแบนสินค้าอะไรก็ได้
ในระยะหลังฮอลลีวูดจึงเลือกที่จะเอาใจจีน ถ้าในภาพยนต์เรื่องไหนต้องมีแผนที่ของเอเชีย พวกเขาจะเขียน "เส้นประเก้าจุด" (nine-dash line) ซึ่งเป็นเส้นกำหนดน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่ประเทศจีนอ้างสิทธิ์ นัยว่าเพื่อกันเอาไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นหนังจะขายในจีนไม่ได้
ภาพยนต์ที่ทำแบบนี้ก็เช่น Abominable (ปี 2019) และ Barbie (ปี 2023)
แต่แทนที่จีนจะแบนหนังพวกนี้ คนที่แบนมันคือประเทศที่เป็นคู่กรณีของจีน เช่น เวียดนามสั่งแบน Barbie เพราะมีแผนที่ที่ยกน่านน้ำให้จีนไปหมด โดยไม่สนใจว่าเวียดนามก็อ้างสิทธิ์เหมือนกัน
ตอนที่ Abominable เขาฉาย มาเลเซียสั่งตัดฉากที่มีแผนที่นั้น เพราะอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เหมือนกัน ส่วนเวียดนามสั่งถอดจากโรงฉาย ฟิลิปปินส์เรียกร้องให้คว่ำบาตรค่ายหนัง
นี่คือความเปราะบางของ "การเมืองเรื่องแผนที่" ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
เหมือนกับที่คนไทยจะรู้สึกเจ็บแสบหัวใจ เมื่อเห็นกัมพูชาเขียนแผนที่อ้างสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร หรือลากเส้นน่านน้ำทับอ่าวไทยที่เราอ้างเป็นเจ้าของ
มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกัน ถ้าเข้าใจหัวอกคนกันเองแล้ว เราก็จะเข้าใจสถานการณ์ของจีนและเพื่อนบ้านต่างๆ ของไทยว่าทำไมต้องโมโหอะไรกันหนักหนากับแผนที่แผ่นเดียวด้วย
จีนเองก็เหมือนกัน ความรู้สึกประเภท "เราจะไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว" ฝังลึกในสำนึกคนจีน มันมีเหตุมาจากความรู้สึกไม่ยอมให้จีนเสียแผ่นดิน เสียศักดิ์ศรี และอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป เหมือนที่เกิดขึ้นเรื่องร้อยกว่าปีก่อน ตอนที่จีนถูกชาติตะวันตกรุกราน
ความรู้สึกชาตินิยมแบบนี้ยิ่งรุนแรงขึ้นทุกวัน ในช่วงเวลาที่คนจีนรู้สึกว่าประเทศของพวกเขาถูกคุกคามจากชาติตะวันตก (สหรัฐและยุโรป) จากคู่กรณีเก่า (อินเดีย) จากคู่กรณีใหม่ (ออสเตรเลีย) จากศัตรูเก่า (ญี่ปุ่น) และจากจีนด้วยกันเองที่ไม่ยอมเป็นจีน (ไต้หวัน)
แต่ยังมี "คู่กรณี" อีกพวกหนึ่งซึ่งจีนทำให้พวกเขาเป็นศัตรูไปโดยไม่จำเป็น อันที่จริงแล้วจีนใช้วิธี "หยอดคำหวานแล้วตักเตือน" กับ "ตักเตือนแล้วหยอดคำหวาน" สลับกันไปมากับประเทศเหล่านี้
นั่นคือคู่กรณีพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้ในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน และอินโดนีเซีย
แผนที่มาตรฐานยังทำให้อาเซียนไม่รู้จะเป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรูกับจีนดี
ในขณะที่จีนพยายามบอกอาเซียนว่าอย่าหลงกล "มือมืด" ที่พยายามก่อกวนให้อาเซียนกับจีนแตกแยกกัน
แต่จีนก็ออกแผนที่ไม่ไว้หน้าอาเซียน แบบนี้แล้วอาเซียนจะไว้ใจจีได้อย่างไร? ดูอย่างฟิลิปปินส์ที่ก่อนหน้านี้เกือบจะยอมเป็ยนเพื่อนจีน แต่ล่าสุด ยอมเป็นเพื่อนสหรัฐ และทำท่าจะให้สหรัฐมาตั้งฐานทัพเพื่อประจันหน้ากับจีนเสียอีก
อาจจะพูดเกินเลยไปหน่อย แต่อยากจะชวนให้คิดว่าแผนที่แผ่นเดียวอาจทำให้จีนเสียหมากทั้งกระดานในเกมแห่งการชิงอำนาจกับชาติตะวันตก
จีนยังไม่เกรงใจมิตรยามยากอย่างรัสเซีย เพราะแผนที่ใหม่ล่าสุดผนวกเอาดินแดนพิพาทกับรัสเซียเข้าไปด้วย จนรัสเซียต้องออกมาเคลื่อนไหว
แผนที่มาตรฐานที่สั่นสะเทือนเพื่อนบ้านฉบับนี้ยังออกมาหลังการการประชุมกลุ่ม BRICS เสร็จไปหมาดๆ ท่ามกลางบรรยากาศการประชุมที่เหมือนจะเป็นมิตร พอจีนกลับบ้านไปไม่กี่วัน ก็ออกแผนที่ที่ทำให้กลุ่ม BRICS แทบแตก
อะไรดลใจให้จีนทำแบบนั้น หรือว่าจีนก็ไม่คิดว่า BRICS จะเป็นปึกแผ่นอะไร? ฝั่งอินเดียก็คิดว่าจีนออกแผนที่นี้มาในช่วงที่อินเดียเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 พอดี โดยที่ สีจิ้นผิง ไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่ส่ง หลี่เฉียง ซึ่งเป็นระดับนายกรับมนตรีมาแทน
อินเดียยังสั่งซ้อมรบใกล้พรมแดนจีนในช่วงที่ประชุม G20 และตอนที่จีนเผยว่าหลี่เฉียงจะมาแทนสีจิ้นผิง
นี่มันทะแม่งๆ แล้วว่า BRICS อาจจะไม่ได้มั่นคงจริงๆ และที่ประโคมกันว่ากลุ่มนี้จะมาคานอำนาจกับชาติตะวันตก ดูท่าแล้วคงเป็นไปได้ยาก
การที่จีนออกแผนที่ที่ไม่เกรงใจรัสเซียกับอินเดีย เพียงไม่กี่วันหลังประชุม BRICS สะทือนว่า ถึงกลุ่มนี้จะร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความระแวงกันในเรื่องการเมือง
จุดนี้ต่างจากการรวมกลุ่มของตะวันตก ที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ หัวและหางไปทางเดียวกัน พร้อมที่จะร้องเพลง You’ll Never Walk Alone ไปด้วยกัน และปกป้องกันจริงๆ เวลาเผชิญกับการคุกคาม
แต่แผนที่ของจีนสะท้อนว่า จีน รัสเซีย และอินเดียไม่ไว้ในใจกัน และจีนย้ำว่าจีนพร้อมจะ Walk alone ไม่สนว่าใครจะมีใครเป็นพวกหรือไม่ เพราะจีนใหญ่พอที่จะสร้างโลกของตัวเอง
บทวิเคราะห์โดยทีมข่าว The Better