ทำไมโลกต้องกังวล? เมื่อรัสเซียยกเทคโนโลยีแลกอาวุธเกาหลีเหนือ 

ทำไมโลกต้องกังวล? เมื่อรัสเซียยกเทคโนโลยีแลกอาวุธเกาหลีเหนือ 
จากบทความเรื่อง "สงครามยูเครน: สองเหตุผลที่ดีที่โลกควรกังวลเกี่ยวกับการซื้ออาวุธของรัสเซียจากเกาหลีเหนือ"

เมื่อวันที่ 12 กันยายน คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางด้วยรถไฟหุ้มเกราะและอาวุธข้ามเข้าสู่พรมแดนของรัสเซียแล้ว ก่อนการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน โดยมีคำเตือนจากสหรัฐฯ ว่าผู้นำทั้งสองอาจทำข้อตกลงด้านอาวุธได้ เพราะในเวลานี้รัสเซียต้องการอาวุธอย่างหนักเพื่อทำสงครามกับยูเครน

แต่มันจะไม่ใช่แค่ทำข้อตกลงเรื่องอาวุธอย่างเดียว ต่อไปนี้เป็นทัศนะของ แดเนียล ซอลส์บิวรี (Daniel Salisbury) นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย King's College London ในบทความ "สงครามยูเครน: สองเหตุผลที่ดีที่โลกควรกังวลเกี่ยวกับการซื้ออาวุธของรัสเซียจากเกาหลีเหนือ" เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ต่อไปนี้คือบทความวิเคราะห์

จอห์น เคอร์บี เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมว่าการเจรจาโอนอาวุธระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียกำลัง "ก้าวหน้าอย่างแข็งขัน" ในขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียพยายามหาอาวุธป้อนเครื่องจักรสงครามของเขา

ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรที่นำโดยตะวันตก รัสเซียและบริษัทวากเนอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทางทหารของรัสเซีย ได้หันไปหารัฐบาลเปียงยางเพื่อซื้อกระสุนปืนใหญ่ และมีรายงานว่าอาจรวมถึง “จรวดและขีปนาวุธทหารราบ” ในปีที่ผ่านมา

แม้ว่าการขายอาวุธและความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองกับเกาหลีเหนืออาจส่งผลกระทบที่อย่างมีนัยสำคัญต่อยุทธการในยูเครน แต่จากการวิจัยของผม (แดเนียล ซอลส์บิวรี) เกี่ยวกับเครือข่ายการค้าและจัดซื้ออาวุธของเกาหลีเหนือชี้ให้เห็นว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK) มีแนวโน้มที่จะแสวงหาเทคโนโลยีจากรัสเซีย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน นี่จะเป็นการช่วยยกระดับอย่างมากต่อโครงการอาวุธของ DPRK และในขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบอบคว่ำบาตรของสหประชาชาติที่พยายามจำกัดโครงการเหล่านั้น

ความสัมพันธ์ทางทหารที่เฟื่องฟู
พัฒนาการล่าสุดชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าอาวุธที่กำลังขยายตัว แม้ว่าเกาหลีเหนือจะปฏิเสธ และเยฟเกนี  ปรีโกชิน (Yevgeny Prighozin) เจ้าของกลุ่มวากเนอร์ก็เพิ่งเสียชีวิตไปก็ตาม

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 สหรัฐฯ บอกเป็นนัยว่า DPRK กำลังจัดหากระสุนปืนใหญ่ให้กับรัสเซียในจำนวนที่ "มีนัยสำคัญ" และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 สองเดือนหลังจากที่เกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่าจัดหาจรวดและขีปนาวุธในสนามรบให้กับกลุ่มวากเนอร์ เคอร์บีได้แชร์ภาพถ่ายดาวเทียมของรถไฟขบวนหนึ่งที่ชายแดนเกาหลีเหนือ-รัสเซียที่บรรทุกสินค้าสงคราม

ในเดือนมีนาคม อัสชอต มเกอร์ตีเชฟ  (Ashot Mkrtychev) ซึ่งเป็นชาวสโลวาเกียถูกคว่ำบาตรโดยกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จากการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือในการจัดหา "อาวุธและยุทโธปกรณ์สองโหลให้กับรัสเซีย" นี่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีช่องทางการติดต่อหลายทาง

ในเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ คว่ำบาตรพ่อค้าอาวุธของเกาหลีเหนือ ริม ยงฮยอก (Rim Yong Hyok) ฐานอำนวยความสะดวกในการโอนอาวุธที่ไม่ระบุรายละเอียดไปยังกลุ่มวากเนอร์ รายงานของสหประชาชาติประจำปี  พ.ศ. 2562 ระบุรายชื่อบุคคลที่มีชื่อเดียวกันซึ่งเคยเป็นรองตัวแทนของบริษัทค้าอาวุธของเกาหลีเหนือ คือบริษัท Komid ในซีเรีย

นี่คือพื้นที่การรบที่กลุ่มวากเนอร์มีปฏิบัติการเคลือนไหวในวงกว้าง บ่งชี้ว่าว่านี่อาจเป็นที่ที่การเชื่อมโยงการค้าอาวุธอย่างน้อยหนึ่งแห่งถูกสร้างขึ้น

สหายร่วมอาวุธ
แต่มันคือการมาเยือนเปียงยางของเซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ที่ถือเป็นสัญญาณที่สำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ที่กำลังชื่นมื่น ชอยกู ซึ่งมาเปียงยางเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของการสงบศึกสงครามเกาหลี อยู่ที่แถวหน้าของบรรดาผู้นำและที่ศูนย์กลางของการเฉลิมฉลอง เข้าชมขบวนพาเหรดของทหารและการประกวดอื่น ๆ โดยบดบังรัศมีของคณะผู้แทนจีน

ที่สำคัญที่สุดคือ คิมจองอึน เป็นคนพา ชอยกู ไปชมการจัดแสดงอาวุธโดยผู้นำเกาหลีเหนือด้วยตัวเอง นิทรรศการดังกล่าวประกอบด้วยขีปนาวุธข้ามทวีป ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงระยะไกล และโดรนขั้นสูงที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ท่ามกลางระบบอาวุธอื่นๆ อีกมากมาย

การส่งออกอาวุธของเกาหลีเหนือเติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมกับฐานอุตสาหกรรมด้านกลาโหมนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มีการโอนย้ายจำนวนมากไปยังพันธมิตรทางอุดมการณ์สงครามเย็น แต่ประเทศนี้ยังขายอาวุธเพื่อดึงสกุลเงินแข็งๆ และการแลกเปลี่ยนอื่นๆ มากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจ อิหร่านเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือในช่วงทศวรรษ 1980 ระหว่างที่ทำสงครามกับอิรัก

ตั้งแต่ปี 2549 เกาหลีเหนือเผชิญกับการคว่ำบาตรของสหประชาชาติที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อตอบโต้โครงการอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) ของเกาหลีเหนือ การคว่ำบาตรอาวุธของสหประชาชาติสั่งห้ามประเทศใดๆ นำเข้าอาวุธหลักจากเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และการนำเข้าอาวุธทั้งหมดจากเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552

รัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีอำนาจยับยั้ง ได้สนับสนุนการจัดตั้งมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือมานานกว่าทศวรรษ ผ่านการลงมติมติคว่ำบาตร มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดผ่านการรับรองแล้วในปี 2560

แต่การดำเนินการตามระบอบคว่ำบาตรของรัสเซีย รวมถึงท่าทีของจีนซึ่งเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงถาวร ยังห่างไกลจากการลงมือจริงๆ จังๆ มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงถึงการดำเนินการของรัฐบาลรัสเซียต่อเครือข่ายจัดซื้อจัดจ้างของเกาหลีเหนือในดินแดนรัสเซีย

แท้จริงแล้วทั้งสองประเทศ (รัสเซียกับจีน) ต่างก็ยื้อไม่ให้มีการประกาศมติคว่ำบาตรเพิ่มเติม

เปียงยางกระหายเทค
เห็นได้ชัดว่ารัสเซียหวังว่าการค้าอาวุธจะช่วยยังประโยชน์ให้กับตนในสนามรบในยูเครน แต่การซื้ออาวุธจะบ่อนทำลายระบบการคว่ำบาตรของเกาหลีเหนือและช่วยสร้างรายได้ให้กับระบอบคิม นอกจากนี้ยังอาจกระตุ้นให้องค์กรส่งออกอาวุธของเกาหลีเหนือฟื้นตัวขึ้นมาในวงกว้างมากขึ้น 

เกาหลีเหนือต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อาหาร น้ำมัน ปุ๋ย และสินค้าอื่นๆ อย่างมาก ตัวอย่างเช่น บุคคลชาวสโลวาเกียที่ถูกคว่ำบาตรตามที่กล่าวข้างต้น ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือเพื่อจัดหาอาวุธให้กับรัสเซีย “เพื่อแลกกับวัสดุตั้งแต่เครื่องบินพาณิชย์ วัตถุดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะส่งไปยังเกาหลีเหนือ”

แต่ที่น่ากังวลมากกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกคว่ำบาตร เกาหลีเหนือต้องอาศัยการขายอาวุธมาเป็นเวลานานเพื่อใช้ในการพัฒนาอาวุธ ซึ่งรวมถึงโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลด้วย

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "การจัดหาเงินทุนเพื่อการผลิตนิวเคลียร์" และภาคประชาสังคมต้องพยายามอย่างมากในการกระตุ้นรัฐบาลและภาคเอกชนทั่วโลกให้ดำเนินตามการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ

รัสเซียมีศูนย์อุตสาหกรรมด้านการทหาร นิวเคลียร์ และขีปนาวุธขนาดใหญ่ ซึ่งถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะต้องอยู่อย่างลำบากเนื่องจากการคว่ำบาตร แต่ก็อาจทำให้เกาหลีเหนือได้รับผลทางเทคโนโลยีที่จำเป็นมาก แม้ว่าหลักฐานการถ่ายโอนเทคโนโลยีอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐโดยรัสเซียนั้นมีน้อย แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งนี้

รัสเซียได้แสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นตลาดที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของเกาหลีเหนือ รายงานของสหประชาชาติปี พ.ศ. 2565 เน้นย้ำถึงบทบาทของนักการทูตเกาหลีเหนือในมอสโกในการจัดหาเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับขีปนาวุธ และแม้กระทั่งความพยายามที่จะจัดหาเหล็ก 3,000 กิโลกรัมสำหรับโครงการเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563 

สิ่งที่น่าขันเกี่ยวกับความสนใจครั้งใหม่ของรัสเซียในด้านอาวุธของเกาหลีเหนือก็คือ มอสโกเป็นผู้จัดหาอาวุธอันดับต้นๆ ของเกาหลีเหนือก่อนยุคคว่ำบาตร ซึ่งในอดีตเทียบเคียงกับจีน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเงินทุนแก่ระบอบการปกครองเกาหลีเหนือในวงกว้างมากขึ้นด้วยความช่วยเหลือก่อนการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์และการสิ้นสุดของสงครามเย็น

หากมอสโกก้าวไปสู่การเป็นลูกค้าประจำของอาวุธเกาหลีเหนือที่ถูกคว่ำบาตร มันจะช่วยให้ปูตินทำสงครามที่ผิดกฎหมายกับยูเครนต่อไปได้ แต่สิ่งตอบแทนทางเทคโนโลยีที่อาจมอบให้รัฐบาลเปียงยางอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกในระยะยาวและต้องนำมาพิจารณาด้วย

Photo by KCNA