หลังจากมรณกรรมของ เจียงเจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีนทำให้บางคนคิดว่าคงไม่มีใครทัดทานสีจิ้นผิงได้อีก
บทบรรณาธิการของ Nikkei Asia อ้างแหล่งข่าวที่กล่าวว่า สีจิ้นผิง ถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทิศทางของประเทศเป็นครั้งแรกในการประชุมที่เมืองตกอากาศ เป่ยไต้เหอ ช่วงฤดูร้อนนี้
คัตสึจิ นาคาซาวะ นักข่าวของกองบรรณาธิการ Nikkei Asia ซึ่งประจำการอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา 7 ปีและดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานในจีนของสำนักข่าว แจ้งข่าวในบทบรรณาธิการที่เขียนเมื่อวันที่ 5 กันยายน ว่ากลุ่มผู้อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เกษียณอายุแล้ว ได้พบกับได้พบกับ สีจิ้นผิง จัดการประชุมหนึ่งวัน
ปรากฏว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้อาวุโสของพรรคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เรื่องการแก้ปัญหาความไม่มีสเถียรภาพของสังคมจีน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ อาจทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสูญเสียความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน
สีจิ้นผิง ไม่พอใจกับการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ แต่เขาไประบายกับผู้ช่วยใกล้ชิดของเขา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รายงานข่าวนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงเท็จแค่ไหน เพราะมีเพียง Nikkei Asia รายเดียวที่ได้ข่าวเอ็กซ์คลูซีฟชิ้นนี้ แต่ถ้าอนุมานว่าข่าวนี้เป็นความจริง เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ใครกันที่กล้าตำหนิผู็ชายที่มีอำนาจสูงสุดคนนี้ได้?
รายงานของ Nikkei Asia ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่มีการวิเคราะห์จากสื่อบางแห่งว่าอาจเป็น เจิงชิ่งหง (曾庆红/Zeng Qinghong) คำถามต่อมาก็คือ เขาคือใคร และ "ใหญ่" แค่ไหน?
1. เจิงชิ้งหง เกิดมาในครอบครัวชาวฮากกา (จีนแคะ) ที่มณฑลเจียงซีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 เขาเป็นบุตรชายของ เจิงซาน นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. เขาเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2503 เนื่องจากบิดาของเขามีบทบาทสำคัญในพรรค เจิงจึงถูกมองว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มการเมืองย่อยในพรรคใหญ่ (faction) ที่เรียกว่า "พรรครัชทายาท" หรือ ไท่จื่อต่าง (太子党/Princelings) ซึ่งเป็นทายาทของนักปฏิวัติผู้มีบทบาทสูงในพรรค
3. ในปี พ.ศ. 2527 เจิง เริ่มทำงานให้กับรัฐบาลเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเขาได้กลายเป็นพันธมิตรคนสำคัญของ เจียงเจ๋อหมิน เลขาธิการคณะกรรมการพรรคในขณะนั้น เมื่อเจียงได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังการปรับแกนนำบริหารพรรคเนื่องจากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เจียงก็ตั้งให้เจิงเป็นที่ปรึกษาของเขา
4. ในฐานะรองหัวหน้าสำนักงานทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึง พ.ศ. 2536 เจิงช่วยชี้นำ เจียงเจ๋อหมิน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในการเมืองระดับประเทศ ให้คุ้นเคยกับการทำงานภายในของพรรค โครงสร้างทางการทหาร และระบบราชการในกรุงปักกิ่ง เขาส่งเสริมความเป็นผู้นำและความคิดของเจียง ขยายเครือข่ายของเจียง และกลายเป็นมือขวาของเจียง
5. ในช่วงทศวรรษ 1990 เจิงกุมหน่วยงานของพรรคที่รับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญเอาไว้ ในฐานะหัวหน้าแผนกองค์กรของพรรคตั้งแต่พ.ศ. 2542 ถึง พ.ศ. 2545 เจิงได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของเจียงโดยส่งเสริมสมาชิกของ "กลุ่มเซี่ยงไฮ้" หรือซ่างไห่ปาง (上海帮/Shanghai clique) กลุ่มการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเจียงเจ๋อหมิน ให้เป็นผู้นำในตำแหน่งส่วนกลางและระดับภูมิภาค
6. นี่คืออิทธิพลเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของ เจิงชิ่งหง สิ่งที่น่าสนใจก็คือทำไมเขาถึงมีอิทธิพลขนาดติงสีจิ้นผิงได้ เรื่องนี้อาจจะต้องพึ่งพาอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่อาจจะพิจารณาเรื่องความน่าเชื่อถือเช่นกัน นั่นคือ Epoch Times ซึ่งเป็นสื่อภาษาจีนที่มีฐานในสหรัฐและเป็นสื่อที่ "ไม่เป็นมิตร" กับรัฐบาลจีน สื่อรายนี้ชี้ว่า เจิงชิ่งหง นี่แหละที่ช่วยทำให้ สีจิ้นผิงมีอำนาจขึ้นมาได้
7. บทความของ Epoch Times ระบุว่า "สีจิ้นผิงได้รับการแนะนำครั้งแรกโดยฝ่ายของ เจิงชิ่งหง และ เจียงเจ๋อหมิน โดยเฉพาะตอนที่เขาเข้ามาในคณะกรรมการกลางครั้งแรกและกำลังจะได้เป็นกรรมการสำรองของคณะกรรมการกลางก็มีการเลือกตั้งสำรองสำหรับสมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลาง ... เจิงชิ่งหง เป็นหัวหน้าคณะกรรมการองค์กรของคณะกรรมการกลางและส่งเสริม สีจิ้นผิง อย่างมาก เพราะในเวลานั้น เจียงเจ๋อหมิน และ เจิงชิ่งหง ได้พิจารณาที่จะฝึกอบรม สีจิ้นผิง ให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของ หูจิ่นเทา แล้ว"
8. บทความนี้ของ Epoch Times ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงแค่ไหน แต่หากโยงไปถึงรายงานของ Nikkei Asia รวมถึงนัยแวดล้อมต่างๆ ก็อาจเป็นได้ว่า เจิงชิ่งหง คือบุคคลที่มีอิทธิพลสูงมากจริงๆ แม้ว่า เจียงเจ๋อหมิน จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังมี เจิง เป็นผู้อาวุโสของพรรคที่ยังสามารถติติง สีจิ้นผิง ได้
รายงานพิเศษโดยทีมข่าว The Better News