วิธีเอาตัวรอดถ้าเขื่อนแตก วิธีเอาชีวิตหนีหายนะมวลน้ำถล่ม และบทเรียนจากหายนะเขื่อนถล่มที่ลิเบีย
การพังทลายของเขื่อนเดอร์นาคือการพังทลายครั้งใหญ่ของเขื่อน 2 แห่งในเมือเดอร์นา ประเทศลิเบีย ในคืนวันที่ 10-11 กันยายน พ.ศ. 2566 หลังเกิดฝนตกหนักเพราะพายุดาเนียล เขื่อนถล่มทำให้เกิดน้ำประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรเจ้าท่วมบริเวณท้ายน้ำขณะที่แม่น้ำวาดีเดอร์นาล้นตลิ่ง น้ำท่วมทำลายเมืองเดอร์นาบางส่วน การประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตมีตั้งแต่ 5,300 ถึง 20,000 คน เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการพังทลายของเขื่อนที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ รองจากความล้มเหลวของเขื่อนป่านเฉียวในประเทศจีนในปี พ.ศ. 2518
หายนะครั้งนี้เกิดขึ้นจากอะไร มันจะเป็นบทเรียนให้เราได้มากแค่ไหน และถ้าเกิดเขื่อนแตก เราจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร? นี่คือการถอดบทเรียนจากหายนะเขื่อนแตกที่เดอร์นา
1. อยู่ใต้เขื่อน อย่าละเลยถ้ามีสัญญาณเขื่อนร้าว
มีรายงานรอยแตกร้าวในเขื่อนตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2541 รองนายกเทศมนตรีของเดอร์นา กล่าวว่า เขื่อนไม่ได้รับการบำรุงรักษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับปริมาณน้ำดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ในปีพ.ศ. 2565 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอมาร์ อัลมุกตาร์ ประเทศลิเบียได้เตือนไว้ในรายงานฉบับหนึ่งว่าเขื่อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน โดยชี้ให้เห็นว่ามี “ศักยภาพสูงที่จะเกิดความเสี่ยงจากน้ำท่วม” รายนี้ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบำรุงรักษาเขื่อนอย่างเร่งด่วน โดยระบุไว้เหมือนเป็นคำทำนายว่า “ (ถ้าเกิด) น้ำท่วมใหญ่ ผลลัพธ์จะเป็นหายนะ” แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ในอีก 1 ปีต่อมา ดังนั้น ถ้ามีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญว่าเขื่อนจะแตกและจะเกิดภัยพิบัติ แต่หน่วยงานยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ให้รีบย้ายจากพื้นที่นั้นออกไปก่อน
2. ถ้าการเมืองไม่ดี หาทางช่วยตัวเหลือเองแต่เนิ่นๆ
ก่อนที่เขื่อนจะพัง พายุดาเนียลทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วลิเบียทางตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 10 กันยายน ปริมาณน้ำฝนรวม 24 ชั่วโมงที่บันทึกได้ 150-240 มม. ทั่วลิเบียตะวันออกเฉียงเหนือ และมีความเร็วลม 70-80 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ก่อนเกิดพายุ ชาวบ้านถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านหลังจากทางการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 โชคไม่ดีที่ประชาชนในเมืองอาจจะต้องเชื่อฟังคำสั่งนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าเขื่อนอาจรับไม่ไหว เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่ดีนัก ตลอดช่วงทศวรรษที่ 2010 เมืองนี้เป็นสมรภูมิรบ ในช่วงสงครามกลางเมืองในลิเบีย การแทรกแซงของ NATO ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลคู่แข่งที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากการโค่นล้มของกัดดาฟี หลังจากการโค่นล้มของกัดดาฟี เมืองก็เปลี่ยนมือผู้ปกครองถึงสี่ครั้ง ดังนั้น ถ้าการเมืองไม่มั่นคง ประชาชนจะต้องหาทางเอาตัวรอดกันเองก่อน
3. ระวังช่วงดึก เพราะไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นตอนหลับ
หายนะครั้งนี้เลวร้ายมาก เพราะประชาชนเตรียมตัวไม่ทัน สาเหตุที่เตรียมไม่ทันเพราะมันเกิดช่วงกลางดึก กลางดึกคืนนั้นชาวบ้านเล่าว่าได้ยินเสียงระเบิดดังตอนที่เขื่อนแตก น้ำเหล่านี้ไหลผ่านเมืองเดอร์นาโดยมีวิดีโอแสดงน้ำท่วมถึงเมืองไม่นานก่อนเวลา 03:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 11 กันยายน เหตุการณ์เขื่อนแตกใหญ่ๆ บางเหตุการณ์มีความเสียหายมาก เพราะไม่มีสัญญาณเตือน กรณีนี้ก็เช่นกันมันเกิดช่วงดึกมาก และเสียงระเบิดของเขื่อนแตกอาจทำให้ประชานเข้าใจผิดว่าเป็นความวุ่นวายทางการเมือง และหลังจากเกิดเขื่อนแตก ชาวเมืองยังไม่กล้าอพยพออกไป เพราะกลัวเหยียบกับระเบิดที่อาจมากับกระแสน้ำ กรณีนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เมืองเดอร์นาไม่เหมือนกับเหตุการณ์เขื่อนแตกที่อื่น เพราะเมืองนี้ยังเผชิญกับปัจจัยการเมืองที่ไม่เหมือนใคร
4. อย่าเลือกที่อยู่ในเมืองใต้เขื่อนที่มีภูมิประเทศเสี่ยง
เมืองเดอร์นาตั้งอยู่ที่ด้านล่างของเทือกเขาสูงที่มีมีเขื่อนตั้งอยู่ในหุบเขาโดยมีเมืองอยู่ที่ใต้เขื่อนไม่ไกลนัก แต่ก่อนจะถึงเมืองคือแม่น้ำที่อยู่ในหุบเขาสูงและแคบ มันจะบีบให้น้ำไหลรุนแรง ดังนั้นเมื่อเขื่อนแตก กระแสน้ำจึงไหลทะลักในพรวดเดียว และไม่มีเวลาให้ชาวเมืองได้ตั้งตัว ต่างจากเขื่อนแตกที่อื่นๆ ที่มักอยู่ไกลเมืองระยะหนึ่ง และเมื่อเขื่อนแตกยังพอมีเวลาได้ขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำ แต่ที่เดอร์นา พลังของน้ำและโคลนที่ไหลจากที่สูงรุนแรงมาก มันเหมือนสึนามิลูกใหญ่ที่พังเมืองในพริบตา ดังนั้น ย่านที่อยู่อาศัยจึงถูกซัดหายไป รวมแล้ว 25% ของเมืองราวกับว่าถูกสึนามิกวาดลงทะเลที่อยู่เบื้องหน้าของเมือง ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นกรณีพิเศษ เพราะเขื่อนใกล้เมืองเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาเตรียมตัว กว่าจะรู้ตัวเมืองก็ถูกกวาดไปทั้งหมด ไม่มีเวลาที่น้ำจะค่อยๆ เอ่อล้น
5. เมื่อเขื่อนแตกให้หนีขึ้นที่สูง นี่คือกฎเหล็ก
แม้ว่ากรณีของเมืองเดอร์นาจะไม่เหมือนที่อื่น เพราะสภาพของเมืองที่ทำให้เกิด "สึนามิ" จากเขื่อนจนกระแสน้ำรุนแรงมาก ซัดเมืองทั้งเมืองลอยลงทะเลไป แต่ส่วนใหญ่แล้วกรณีเขื่อนแตกจะเกิดน้ำไหลทะลักที่ยังพอมีเวลาให้ตั้งตัวได้บ้าง วิธีการรับมือที่ดีที่สุดคือ ตัดกระแสไฟฟ้าในบ้านก่อนเพื่อป้องกันไฟช็อต จากนั้นหนีขึ้นอยู่ที่สูงสุดของบ้าน กรณีของเมืองเดอร์นา เรายังพบว่าส่วนของเมืองที่อยู่ริมภูเขาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก บางทีทางเลือกที่ดีที่สุดของมนุษย์ในโลกยุคสถาพภูมิอากาศแปรปรวน อาจเป็นการเลือกอาศัยอยู่สภาพตามธรรมชาติที่คุ้มครองเรา แทนที่จะดัดแปลงธรรมชาติเพื่อให้สะดวกกับเรา เช่น การสร้างเขื่อนที่เสี่ยงจะพังแบบไม่รู้ตัว
PHOTO TOPSHOT - อาสาสมัครนั่งอยู่บนเศษซากของอาคารในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันในเมืองเดอร์นาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมรดกแห่งสงครามและความโกลาหลที่สั่งสมมานานหลายปี (Photo by Abdullah DOMA / AFP)