"ทำไมฆ่าลูกๆ ได้ลงคอ?" 5เหตุผลที่พ่อแม่ฆ่าลูกตัวเอง จิตแพทย์ดังชี้จากจิตคลั่งจนถึงการแก้แค้น
การฆ่าลูกตัวเองเป็นพฤติกรรมที่สร้างความตื่นตระหนกให้คนทั่วไปได้ง่าย เพราะทำให้รู้สึกว่าแม้แต่ลูกตัวเองคนๆ นี้ก็ฆ่าได้ นับประสาอะไรกับการฆ่าคนอื่น
การฆ่าลูกตัวเองในภาษาอังกฤษเรียกว่า Filicide มาจากคำภาษาละติน filius และ filia ('ลูกชาย' และ 'ลูกสาว') และคำต่อท้าย -cide ซึ่งหมายถึงการฆ่า มันเป็นพฤติกรรมที่คนเป็นพ่อเป็นแม่บางคนทำมาตั้งแต่ยุคโบราณ และมีปรากฏในตำนานหลายเรื่อง รวมถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ทำไมพ่อแม่ถึงฆ่าลูกได้ลงคอ?
ดร. ฟิลลิป เรสนิค (Dr. Phillip Resnick) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ นักจิตวิทยานิติเวชแห่งมหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเสิร์ฟ ซึ่งทำการตรวจแม่ราว 80 คนที่ฆ่าลูกของตน ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าคนตายในปี พ.ศ. 2512 และระบุว่ามีสาเหตุหลัก 5 ประการของการฆ่าลูกตัวเอง คือ
1. ฆ่าเพราะสงสาร เพราะพ่อแม่เชื่อว่าโลกนี้โหดร้ายเกินไปสำหรับลูก หรือเพราะลูกต้องทนทุกข์ (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม)
2. การปฏิบัติไม่ดีอย่างร้ายแรง เป้าหมายไม่ใช่การฆ่าเด็กเสมอไป แต่เพราะปฏิบัติต่อลูกอย่างเลวร้าย จนทำให้เด็กต้องตายอยู่ดี
3. เป็นลูกที่ไม่พึงประสงค์ (ดูรายละเอียดต่อไป)
4. โรคจิตเฉียบพลัน (ดูรายละเอียดต่อไป)
5. การแก้แค้นของคู่สมรส เป็นการฆ่าลูกเพื่อทำร้ายคู่ชีวิตทางอ้อม กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เกลิน คาร์รูเธอร์ส (Glen Carruthers) ผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง "Making Sense of spousal Revenge Filicide" (ทำความเข้าใจเรื่องคู่สมรสฆ่าลูกเพื่อแก้แค้น) แย้งว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการฆ่าล้างแค้นของคู่สมรสมองว่าลูก ๆ ของตนเองเป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่งเท่านั้น
ยังมีแง่มุมชวนคิดจากสถิติที่เกี่ยวกับพ่อแม่ที่ลงมือฆ่าลูกตัวเอง เช่น
1. เพราะจิตป่วย
การศึกษาเชิงลึกในเชิงลึกคดี 297 คดีฆ่าลูกตัวเอง (filicide) และคดีฆ่าตัวตายพร้อมลูก 45 คดี (filicide-suicide) ในสหราชอาณาจักรระหว่างปี 2540 ถึง 2549 แสดงให้เห็นว่า 37% ของผู้กระทำผิดมีหลักฐานอาการป่วยทางจิตในขณะนั้น การวินิจฉัยที่พบบ่อยที่สุดคือความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorders) และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorders) มากกว่าอาการเป็นโรคจิต (psychosis) แต่อย่างหลังคิดเป็น 15% ของกรณีทั้งหมด
- ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือ โรคอารมณ์แปรปรวน มีทั้งประเภทที่อาการฟุ้งพล่าน อารมณ์ซึมเศร้า และฟุ้งพล่านกับระยะซึมเศร้าที่รู้จักกันว่าโรคอารมณ์สองขั้ว โดยเฉพาะอารมณ์ซึมเศร้า มีโอกาสเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้น
- ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เช่น มีอาการแบบระแวง อาการแบบไร้อารมณ์ ไม่แยแส ห่างเหิน อยู่โดดเดี่ยว อาการแบบจิตเภทหรือ มีท่าทางและพฤติกรรมที่แปลก ๆ อาการแบบต่อต้านสังคมหุนหันพลันแล่น ไม่รับผิดชอบ ผิดปกติ ควบคุมไม่ได้
- โรคจิต อาจมีอาการหลงผิด ประสาทหลอน คือเห็นหรือได้ยินอะไรที่คนอื่นไม่เห็นไม่ได้ยิน
2. เพราะมีลูกไม่พร้อม
ในการศึกษาวิจัยในระดับวงกว้างของเดนมาร์ก พบว่าคนส่วนใหญ่ที่ฆ๋าลูกตัวเองไม่เคยใช้บริการด้านสุขภาพจิตก่อนเกิดการฆาตกรรม และมีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการรักษา ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะให้กำเนิดลูกตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ส่วนกลุ่มที่เป็นพ่อฆ่าลูกมีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้ความรุนแรงและมีประวัติการใช้สารเสพติดในทางที่ผิด และมีแนวโน้มที่จะฆ่าเหยื่อหลายราย ทารกมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กโต และบ่งชี้ว่าอานมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
3. แม่ฆ่าทารก พ่อฆ่าลูกโต
การศึกษาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐในปี 2542 สรุปว่าผู้เป็นแม่ลงมือฆ่าลูกในช่วงวัยทารกระหว่างปี 2519 ถึง 2540 ในสหรัฐอเมริกามากกว่าผู้เป็นพ่อ ในขณะที่ผู้เป็นพ่อมีแนวโน้มที่จะลงมือฆาตกรรมเด็กอายุแปดขวบขึ้นไป พ่อแม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการฆาตกรรมเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 61% บางครั้งมีการฆาตกรรมและการฆ่าตัวตายรวมกันในคดีความผิดทางอาญา โดยเฉลี่ย ตามสถิติของ FBI เด็ก 450 คนถูกพ่อแม่ฆ่าในแต่ละปีในสหรัฐอเมริกา
4. พ่อแม่ฆ่าลูกเยอะกว่าที่คิด
ในปี 2556 ในสหรัฐอเมริกา การฆ่าลูกตัวเองโดยน้ำมือพ่อแม่่ อยู่ในห้าอันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก และอยู่ในสามอันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กอายุระหว่าง 1 ถึง 4 ปี มีการระบุความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างอัตราการทารุณกรรมต่อเด็กและอัตราการฆาตกรรมเด็ก การวิจัยชี้ให้เห็นว่าเด็กที่ถูกพ่อแม่ฆ่าคือเหยื่อที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายก่อนเสียชีวิต
พ่อแม่ฆ่าลูกร่วมกันได้ไหม?
มีกรณีที่ใกล้เคียงกัน คือ แม่ชาวอเมริกันบอกว่าเธอฆ่าเด็ก 3 คนด้วยความช่วยเหลือจากลูกอายุ 16 ปี กรณีนี้ แม่ฆ่าลูกแล้วมีลูกอีกคนคอยช่วยแม่ฆ่าพี่น้องตัวเอง เรื่องนี้ ดร. ฟิลลิป เรสนิค (ดูข้อมูลเกี่ยวกับเขาด้านบน) อธิบายกับ Los Angeles Times ว่า กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่แม่จะฆ่าลูกของตน แต่จะยิ่งแปลกไปกว่านั้นที่แม่จะขอความช่วยเหลือจากลูกๆ ของเธออีกคนในการฆาตกรรม เขาบอกว่า “แม่อาจมีอาการทางจิตได้ และลูกชายก็อาจยอมรับอาการนี้” เขาชี้ว่านี่คือลักษณะ “Folie à deux เป็นโรคประสาทหลอนร่วมกัน”
- Folie à deux เป็นอาการทางจิต มาจากภาษาฝรั่งเศส ที่แปลว่า 'ความโง่เขลาของสองคน' หรือ 'ความบ้าคลั่ง [ที่แบ่งปัน] โดยสองคน เป็นกลุ่มอาการทางจิตเวชที่พบไม่บ่อย โดยอาการของความเชื่อที่หลงผิด และบางครั้งภาพหลอน จะถูกส่งต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง
- ดร. ฟิลลิป เรสนิค กล่าวกับ Los Angeles Times ว่า แม้ว่าจะมีบางกรณีที่แม่และพ่อร่วมกันก่ออาชญากรรมร่วมกัน แต่ “การมีส่วนร่วมของลูกเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง” นั่นหมายความว่าเป็นกรณีที่หาได้ยาก ส่วนพ่อแม่ร่วมมือกันพบบ่อยกว่า