ประวัติศาสตร์การล่มสลายของ NFT ที่วันนี้มูลค่า "ไม่เหลืออะไรเลย"

ประวัติศาสตร์การล่มสลายของ NFT ที่วันนี้มูลค่า
NFTจากล้านมาเป็นศูนย์ เจาะประวัติศาสตร์หายนะ  มันถึงจุดที่มูลค่าเท่ากับ 0 ได้อย่างไร?  

ตามรายงานของ dappGambl บริษัทวิเคราะห์การลงทุนคริปโตฯ ที่ตรวจสอบข้อมูลจาก NFT Scan และ CoinMarketCap พบว่า NFT จำนวน 69,795 จาก 73,257  ราย มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 0 ในสกุลเงินคริปโตอีเธอร์ (Ether/ETH)

ผลก็คือ ผู้ที่ถือคอลเลกชัน NFT ของนักลงทุนสัดส่วนมากถึง 95% หรือ 23 ล้านคน กลายเป็นผู้ที่ลงทุนในสิ่งที่ไร้ค่าไปเสียแล้ว 

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? จุดที่  NFT เคยเป็นกระแสอันบ้าคลั่งในตลาดการเงิน จนกระทั่งฝันใฝ่กันว่ามันคือการลงทุนแห่งอนาคต แต่ในเวลาแค่ 2 ปีมันกลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า?

นี่คือประวัติศาสตร์ความล่มสลายของ  NFT

  • ก่อนอื่นมาทบทวนกันก่อนว่า NFT คืออะไร?

1. NFT เป็นไฟล์ข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในบัญชีแยกประเภทดิจิทัลประเภทหนึ่งที่เรียกว่าบล็อกเชน ซึ่งสามารถขายและแลกเปลี่ยนได้ มันจึงเหมือนคริปโตเคอร์เรนซี่

2. สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี่เป็น fungible นั่นคือ 1 เหรียญ (token) แลกได้ 1 เหรียญ หรือจะจะมี token เท่าไรก็ได้ด้ แต่มูลค่าต้องเท่ากัน 

3. แต่ NFT สามารถเชื่อมโยงกับสินทรัพย์บางอย่างได้ทั้งในแบบดิจิทัลหรือที่จับต้องได้ เช่น รูปภาพ ศิลปะ เพลง หรือการบันทึกการแข่งขันกีฬา

4. ด้วยความที่  NFT โยงกับภาพหรือไฟล์เฉพาะ มันจึงสามารถระบุตัวตนได้โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถแลกแบบหนึ่งต่อหนึ่งได้ มันจึงเป็น non-fungible

5. ดังนั้น NFT จึงมื่อเต็มว่า Non-fungible token และนิยมซื้อขายกันผ่านไฟล์รูปภาพ ภาพถ่าย และคลิปต่างๆ โดยที่ใครก็ทำขึ้นมาขายได้

  • ต่อไปนี้คือประวัติศาสตร์แสนสั้นของมัน

1. NFT ตัวแรกที่เป็นรู้จักกันเป็นคลิปวิดิโอที่ทำขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557 และต่อมาขายในราคา 4 ดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม 2558 มีโครงการ NFT แรกที่ชื่อว่า Etheria ทำกระเบื้องหกเหลี่ยม 457 ชิ้น แต่ส่วนใหญ่ขายไม่ออก 

2. แต่แล้วจู่ๆ ตลาด NFT เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2563 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสามเท่าเป็น 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การประมูล NFT ที่มีชื่อเสียงซึ่งเชื่อมโยงกับงานศิลปะดิจิทัลได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก 

3. NFT โยงกับไฟล์งานศิลปะมากขึ้น และงานชิ้นดังที่สุดคอลเลกชั่นหนึ่งคือ Bored Ape ออกมาในวันที่ 30 เมษายน 2564 แต่ชิ้นที่แพงที่สุดในตอนนั้น คืองานที่ชื่อ Everydays: the First 5,000 Days โดยศิลปิน ไมค์ วินเคิลแมน (Mike Winkelmann หรือรู้จักกันในนาม Beeple) ทำราคาถึง 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 

4. ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2564 มีการใช้จ่ายกับ NFT มากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการประมูล NFT ครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ Christie's ในปี 2564 และ บริษัที่ขาย NFT ต่างก็รวยไม่รู้เรื่องในชั่วข้ามคืน เช่น Yuga Labs ที่ทำ  Bored Ape บริษัทมีมูลค่าถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. ย้อนกลับไปที่โครงการ Etheria ที่ขายไม่ออก จนกระทั่ง 5 ปีต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม 2564 เมื่อความสนใจใน NFT ที่เกิดขึ้นใหม่ได้จุดประกายให้เกิดกระแสการซื้อกระเบื้องหกเหลี่ยมอย่างบ้าคลั่ง ภายใน 24 ชั่วโมง แผ่นกระเบื้องทั้งหมดของเวอร์ชันปัจจุบันและเวอร์ชันก่อนหน้า แต่ละแผ่นมีค่า 1 อีเธอร์ ถูกขายไปทั้งหมด 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

6. แต่นับตั้งแต่ปี 2564 การซื้อ NFT ที่เพิ่มขึ้นถูกเรียกว่าเป็นฟองสบู่ทางเศรษฐกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ แม้แต่ ไมค์ วินเคิลแมน ศิลปินและนักออกแบบคนดังแห่งวงการงานอาร์ต  NFT  ในเดือนมีนาคม 2564  เขายังเรียก NFT ว่าเป็น "ฟองสบู่ที่โป่งพองขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล 

7. ในที่สุดตลาดก็วายอย่างรวดเร็ว ในเดือนพฤษภาคม 2565  The Wall Street Journal รายงานว่าตลาด NFT กำลัง "พังทลาย" เพราะยอดขายโทเค็น NFT รายวันลดลง 92% จากเดือนกันยายน 2564  และจำนวนกระเป๋าเงินที่ใช้งานอยู่ในตลาด NFT ลดลง 88% จากเดือนพฤศจิกายน 2564  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการเดิมพันที่มีความเสี่ยงในตลาดการเงิน 

8. The Wall Street Journal กล่าวว่า "NFT เป็นหนึ่งในเป็นการเก็งกำไรมากที่สุด” ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่เหมือนกับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ ซึ่งถูกนักเศรษฐศาสตร์ที่มี่อเสียงหลายคนและธนาคารกลางใหญ่ๆ ของโลกชี้ว่ามันไม่ใช่อนาคตทางการเงิน แต่เป็นแค่การเก็งกำไรเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่า NFT จะถูก "ปั่นราคา" ยิ่งกว่าคริปโตฯ  

9. ที่ชัดเจนคืองานศิลป์ NFT ราคาแทบไม่เหลือแล้ว เช่น ภายในเดือนกรกฎาคม 2566ราคาพื้นของ Bored Ape ลดลง 88% จากจุดสูงสุดในเดือนเมษายน 2565 และในที่สุดรายงานของ dappGambl เดือนกันยายน 2566 ชี้ให้เห็นว่า ณ เวลาที่รายงานออกมา 95% ของ NFT มีมูลค่าทางการเงินลดลงเหลือศูนย์ โดยน้อยกว่า 1% มีมูลค่าสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์

10. ปรากฏการณ์ของมันจึงสะท้อนฟองสบู่ที่บ้าคลั่งจากการเก็งกำไรอย่างแท้จริง เหมือนกับที่ นักทฤษฎีทางการเงิน วิลเลียม เจ. เบอร์นสตีน (William J. Bernstein) เปรียบเทียบตลาด NFT กับความบ้าคลั่งการซื้อทิวลิปเพื่อเก็งกำไรในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเมื่อฟองสบู่แตก ราคาเหง้าดอกทิวลิปที่เคยปั่นราคาแพงเท่าบ้านก็ไร้ค่ายิ่งกว่าหัวหอม เบอร์นสตีนกล่าวว่าฟองสบู่เก็งกำไรใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้คน "ตื่นเต้น" 

สรุปก็คือผู้คนก็ยังมีนิสัยเดิมๆ เหมือนคนเมื่อหลายร้อยปีก่อน นั่นคือหาอะไรมาเก็งกำไรได้เรื่อยๆ และยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้ามากแค่ไหน พวกมันก็ยิ่งสร้างความ "ตื่นเต้น"  มากขึ้น และทำให้คนหลงไหลกับการเก็งกำไรมากขึ้น 

Photo by MARIO TAMA / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP
 

TAGS: #NFT #cryotocurrency