แคปซูลบรรจุตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย "เบนนู" เดินทางกลับถึงพื้นโลกแล้ว นาซา หวังไขปริศนาระบบสุริยะ
แคปซูลอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ของสหรัฐฯ นำตัวอย่างฝุ่นพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย "เบนนู" กลับคืนสู่พื้นโลกได้สำเร็จ ความหวังในการไขปริศนาการกำเนิดระบบสุริยจักรวาล การก่อเกิดโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลก
ยานแคปซูลถูกปล่อยออกจากยานอวกาศ OSIRIS-REx ที่เป็นยานแม่ ด้วยความเร็ว 108,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตกลงบริเวณทะเลทรายภายในเขตทหาร ในเมืองซอลต์เลกซิตี้ รัฐยูทาห์ เมื่อเวลา 14.52 น. ตามเวลามาตรฐานสากล หรือตรงกับเกือบ 22.00 น. เมื่อวันที่ 24 กันยายน ตามวันเวลาของไทย
ซึ่งกระบวนการกลับสู่พื้นโลกของยานแคปซูล ถ่ายทอดสอดผ่านเว็บไซต์ขององค์การนาซา อันเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจนาน 7 ปี เพื่อเก็บตัวอย่างฝุ่นพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย ขนาดเล็กที่ชื่อว่า "เบนนู" ที่นาซาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแอริโซนา
ด้วยน้ำหนักวัตถุตัวอย่างที่เป็นฝุ่นพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนู ขนาด 250 กรัม ถือเป็นวัตถุตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยนำกลับโลก และนับเป็นวัตถุตัวอย่างที่เป็นฝุ่นดาวเคราะห์เป็นลำดับที่ 3 ที่ถูกนำกลับมาจากอวกาศเพื่อศึกษาวิจัย ต่อจากโครงการสำรวจอวกาศคล้ายกัน ของสำนักงานอวกาศของญี่ปุ่น ที่สามารถนำวัตถุตัวอย่างที่เป็นฝุ่นดาวเคราะห์น้อยกลับโลกได้สำเร็จ 2 ครั้ง เมื่อปี 2010 และ 2020 แต่มีขนาดน้ำหนักเล็กกว่ามาก
โดยเจ้าหน้าที่ของนาซานำแคปซูลพร้อมวัตถุตัวอย่างฝุ่นดาวเคราะห์ เบนนู ไปทำความสะอาดเพื่อเตรียมนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมที่ศูนย์อวกาศ จอห์นสัน ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส ในวันจันทร์ 25 กันยายน ตามวันเวลาท้องถิ่น และนาซามีแผนประกาศผลการศึกษาวิจัยรอบแรกในวันที่ 11 ตุลาคมนี้
ตัวอย่างฝุ่นดาวเคราะห์ เบนนู ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ส่วนตัวอย่างปริมาณฝุ่นดาวเคราะห์ราว 1 ใน 4 จะใช้เพื่อการศึกษาทดลองโดยทันที และจะส่งตัวอย่างฝุ่นดาวเคราะห์ปริมาณเล็กน้อยไปให้หุ้นส่วนภารกิจสำรวจ ทั้งญี่ปุ่นและแคนาดา เพื่อทำการศึกษาวิจัยเหมือนกับที่ญี่ปุ่นเคยส่งตัวอย่างฝุ่นดาวเคราะห์น้อยให้กับนาซาศึกษาวิจัยมาแล้ว
บิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การนาซา เผยว่า ฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อย เบนนู จะช่วยให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้รู้เบาะแสที่พิเศษที่จะนำไปสู่จุดกำเนิดของระบบสุริยะ
ด้านเมลิสซา มอร์ริส ผู้บริหารโครงการสำรวจ OSIRIS-REx กล่าวว่า ฝุ่นดาวเคราะห์น้อย เบนนู สามารถบอกเบาะแสของการก่อรูปร่างและวิวัฒนาการของระบบสุริยะได้ เนื่องจากดาวเคราะห์น้อย ประกอบด้วยวัตถุดั้งเดิมของระบบสุริยะ ที่นับอายุย้อนกลับไปราว 4,500 ล้านปี และยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่
นอกจากนี้ ยังต้องการศึกษาลักษณะวัตถุที่เป็นภูเขาของดาวเคราะห์น้อย เบนนู ที่ได้ชื่อว่า เป็นก้อนหินที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะและมีโอกาสพุ่งชนโลก แม้จะน้อยมาก
ทั้งนี้ เมื่อ 3 ปีก่อน ยานอวกาศ OSIRIS-REx ของนาซา เก็บตัวอย่างฝุ่นจาก เบนนู ดาวเคราะห์น้อย ขนาดเล็กซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 เมตรที่อุดมด้วยก๊าซคาร์บอน ที่ค้นพบเมื่อปี 1999 และแม้ได้รับการจัดกลุ่มว่าเป็นวัตถุใกล้โลก เพราะโคจรเคลื่อนตัวผ่านเข้าใกล้โลกทุก 6 ปี แต่โอกาสที่เบนนูจะพุ่งชนโลก หรือสร้างผลกระทบต่อโลก ถือว่ามีน้อยมาก หรือความน่าจะเป็นที่ 1 ต่อ 2,700 และจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2182 หรือนับจากนี้ไปอีก 159 ปี