อนาคตโลกจะไร้ดอลลาร์ หยวนจะมาแทนที่จริงหรือ เงินอเมริกันถูกคุกคามจากจีนหรือเปล่า?
ตามรายงานล่าสุดของ Bloomberg ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาแห่งยุโรป (EBRD)การที่รัสเซียหันมาค้าขายในสกุลเงินหยวนจีนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่ทำให้รัสเซียไม่สามารถค้าขายผ่านเงินดอลลาร์ได้ การทำแบบนี้แทนที่จะผลเสียต่อรัสเซีย กลับจะบั่นทอนความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เบียตา ยาวอร์ชิก (Beata Javorcik) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ EBRD กล่าวกับ Bloomberg ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธว่า "การใช้สกุลเงินจีนที่เพิ่มขึ้นนี้กำลังมาพร้อมกับความเสียหายต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ”
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 Morgan Stanely สถาบันกรเงินชั้นนำของโลกตั้งคำถามว่า "การครอบงำของเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ภายใต้ภัยคุกคามหรือไม่?" โดยตั้งข้อสังเกตว่า "นักลงทุนบางรายเกรงว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจสูญเสียความเป็นอันดับหนึ่ง ... ข้อกังวลดังกล่าวได้ปะทุขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจหนุนสกุลเงินอื่น ๆ เช่น ยูโร หยวนของจีน หรือแม้แต่สกุลเงินร่วมที่เสนอในกลุ่มประเทศที่เรียกว่า BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้"
อย่างไรก็ตาม Morgan Stanely ชี้ว่าความกังวลเรื่องดอลลาร์ถูกคุกคามอาจจะเป็นการปลุกปั่นจนเกินไป (Threats Seem Exaggerated) โดยให้เหตุผล 3 ข้อว่า
- เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน” หลักๆ ของโลก จากข้อมูลของ SWIFT ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใช้กันมากที่สุดในระบบการชำระเงินทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 41.7% ของการชำระเงิน
- ดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินใน “หน่วยบัญชี” หลักทั่วโลก หมายถึงถูกใช้ในการชำระบัญชีการค้าทั่วโลก จากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตั้งแต่ปี 1999-2019 เงินดอลลาร์สหรัฐคิดเป็น 74% ของเงินที่ใช้การออกใบแจ้งหนี้การค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ 79% ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
- ในระดับวงกว้าง เงินดอลลาร์สหรัฐยังถือเป็น "ตัวสะสมมูลค่า" ที่เชื่อถือได้ เพราะขณะนี้ดอลลาร์ยังมีสัดส่วนเกือบ 60% ของทุนสำรองต่างประเทศ และจากข้อมูลของสถาบัน Brookings มากกว่า 65 ประเทศกำหนดสกุลเงินของตนเป็นดอลลาร์สหรัฐ
- ที่สำคัญคือ ขณะนี้ไม่มีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ หมายถึงสกุลเงินอื่นยังไม่แกร่งพอที่จะแทนที่ดอลลาร์ได้ โดยเฉพาะเงินหยวนของจีน "คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ"
อย่างไรก็ตาม JPMorgan ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่งเห็นต่างออกไป เมื่อสิงหาคม 2566 มีรายงานชื่อ "การลดอิทธิพลเงินดอลลาร์ : เงินดอลลาร์สหรัฐสูญเสียอำนาจครอบงำหรือไม่?" ซึ่งระบุไว้ว่า
- สัญญาณบางประการของการลดค่าเงินดอลลาร์ก็กำลังเกิดขึ้นในตลาดน้ำมัน เพราะแต่ก่อนเงินดอลลาร์สหรัฐเคยเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของราคาน้ำมันโลก แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะสูญเสียอิทธิพล ตามปกติแล้ว "เงินดอลลาร์มีความสัมพันธ์เชิงลบกับราคาน้ำมัน เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคานำเข้าน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้น และความต้องการก็ลดลงด้วย"
- แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะประเทศต่างๆ หันมาใช้เงินสกุลอื่นในการซื้อขายน้ำมันกันมากขึ้น ทำให้กลไกที่ดอลลาร์เคยยึดโยงกัลน้ำมันก็เริ่มเสื่อมคลายลง ข้อมูลจาก J.P. Morgan Research แสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 2005 - 2013 การแข็งค่าขึ้น 1% ของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงประมาณ 3% อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2014 ถึง 2022 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 0.2%
JPMorga สรุปว่าจะเกิดปรากฏารณ์ "การลดอิทธิพลเงินดอลลาร์บางส่วน (partial de-dollarization) ซึ่งเงินหยวนจะทำหน้าที่บางส่วนในปัจจุบันแทนที่เงินดอลลาร์ในกลุ่มประเทศที่ไม่ไม่ใช่พันธมิตรตะวันตกและคู่ค้าของจีน จะมีความเป็นไปได้มากกว่า" ซึ่งหมายถึงการละทิ้งเงินดอลลาร์ไปทั้งหมดอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่การลดอิทธิพลเงินดอลลาร์บางส่วนจะนำไปสู่การสร้างขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และทำให้สกุลเงินอื่นๆ และตลาดอื่นๆ เข้ามามีบทบาทนำมากขึ้น
Photo premier.gov.ru - ภาพเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 วลาดิเมียร์ ปูตินประกาศว่าการค้าทวิภาคีของรัสเซียกับจีนจะชำระเป็นเงินรูเบิลและหยวน แทนที่จะเป็นดอลลาร์สหรัฐ