รถไฟความเร็วสูงอินโดนีเซีย ประเดิมสายแรกของอาเซียน กับเบื้องหลังการสร้างที่ไม่ธรรมดา
ในที่สุดหลังจากรอคอยกันมานาน รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา–บันดุง ซึ่งเชื่อมระหว่างสองเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ก็เปิดให้บริการแล้วในวันที่ 2 ตุลาคม นี่คือรถไฟความเร็วสูงสายแรกในอาเซียน ครอบคลุมระยะทาง 142.3 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในซีกโลกใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รถไฟสายนี้เร็วจริงประหยัดจริง โดยวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (220 ไมล์ต่อชั่วโมง) โดยจะช่วยประหยัดเวลาการเดินทางระหว่างสองเมืองจาก 3 ชั่วโมงเหลือประมาณ 30 นาที ดังนั้นมันจึงมีชื่อเรี ยกว่า WHOOSH ย่อมาจากคำในภาษาอินโดนีเซียว่า Waktu Hemat, Operasi Optimal, System Handa ที่แปลว่า "ประหยัดเวลา, ดำเนินสุดความสามารถ, ระบบที่เชื่อถือได้"
ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นบนรางคู่และใช้พลังงานไฟฟ้า เหมาะสำหรับความเร็ว 350 กม./ชม. (220 ไมล์ต่อชั่วโมง) ทำให้อินโดนีเซียเป็นเพียงประเทศที่สองในโลกรองจาจีน ที่มีเครือข่ายรถไฟที่เร็วที่สุดในโลกที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ทัดเทียมกับจีน
ที่จริงแล้ว WHOOSH จะต้องเปิดตัวในช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 แต่การเปิดโครงการถูกเลื่อนไปจนถึงปลายเดือนกันยายน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าสาเหตุหลักคือความจำเป็นในการรับรองความปลอดภัยของผู้โดยสาร รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2566 และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566
นี่คือ 5 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอาเซียน ไม่ใช่ในแง่เทคนิค แต่เป็นเบื้องหลังทางการเมืองที่มีความสำคัญต่ออาเซียนทั้งภูมิภาค
1. ผู้ได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างคือจีน โดยแข่งขันอย่างดุเดือดกับญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นมีการเตรียมการมาดีกว่า และเสนอแผนให้ก่อนหลายปีด้วยซ้ำ นั่นคือปี 2551 แต่สุดท้ายในปี 2558 อินโดนีเซียเลือกที่จะให้จีนเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ ทั้งๆที่จีนเพิ่งจะเสนอตัวในปี 2558 สร้างความผิดหวังให้ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในขณะนั้น ตำหนิความเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียว่า "ยากที่จะเข้าใจ" แต่ รินี ซูมาร์โน รัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย ยืนยันว่า จีนได้รับเลือกแทนแผนของญี่ปุ่น เนื่องจากยืดหยุ่นกว่าในเรื่องการเงิน
2. มีการเคราะห์กันว่าที่จีนกับญี่ปุ่นแย่งชิงเป็นผู้สัมปทานโครงการนี้อย่างดุเดือด ก็เพราะเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะอินโดนีเซียมีภูมิศาสตร์ที่อยู่ควบคุมเส้นทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียแลแปซฟิก จึงมีความสำคัญหากชาติใดชาติหนึ่งได้อินโดนีเซียมาเป็นพันธมิตร แต่ในแง่เศรษฐกิจก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะนักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนมีไหวพริบเหนือกว่าญี่ปุ่นในการประมูลอันเป็นผลมาจากแพ็คเกจการจัดหาเงินทุนสำหรับอินโดนีเซียที่มีผลประโยชน์ดีกว่า
3. โครงการมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์นี้ มีส่วนที่ได้ทั้งสองฝ่าย เช่น จีนมีแพ็คเกจเสริมมาพร้อมกับการประมูลโดยให้คำมั่นที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทอินโดนีเซียเพื่อผลิตรางรถไฟสำหรับรถไฟความเร็วสูง รางไฟฟ้า ระบบรถไฟฟ้ารางเบา ไม่เพียงแต่สำหรับอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังเพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และบูรณะสถานีรถไฟใหม่ ดังนั้น ด้วยวิธีนี้อินโดนีเซียจะกลายเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟแบบใหม่ในอาเซียน แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะแม้แต่โครงการสร้างเส้นทาง WHOOSH ก็พบกับอุปสรรคมากมาย รวมถึงการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
4. ปี พ.ศ. 2560 ในช่วงที่โครงการก่อสร้างคืบหน้าได้ไม่น่าพอใจนัก จู่ๆ อินโดนีเซียกลับต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการร่วมทุนระหว่างอินโดนีเซียและจีน เพราะก่อนหน้านี้ ในปี 2559 อินโดนีเซียให้สัมปทานญี่ปุ่นทำโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายจการ์ตาเชื่อมต่อเมืองสุราบายา ซึ่งโครงการนี้ยิ่งไม่คืบหน้าเอาเลย แล้วแต่ต่อมา ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียกลับต้องการเชื่อมสายบันดุงกับสายสุราบายาเข้าด้วยกัน โดยอ้างเรื่องการเงิน ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นบอกว่า "ตามปกติ ควรจะถามเราก่อน"
5. ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โอนัน ฮิโรชิ (Onan Hiroshi) นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่น กล่าวถึงประธานาธิบดีโจโค วิโดโดของอินโดนีเซียว่าเป็น "ขอทานรถไฟความเร็วสูง" โดยชี้ให้เห็นถึงคำร้องขอของอินโดนีเซียที่ต้องการให้ญี่ปุ่นช่วยเหลือในการทำโครงการให้เสร็จสิ้น การ์ตูนดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงอย่างรวดเร็วจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอินโดนีเซีย และภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นักเขียนการ์ตูนได้ทวีตข้อความขอโทษ ลบภาพวาดออก และปิดหน้าเพจดังกล่าว
นี่คือประเด็นการเมืองและการแย่งชิงอิทธิพลในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่รอบๆ โครงการรถไฟความเร็วสูงของอินโดนีเซีย นี่คือตัวอย่างที่จะทำให้ประเทศร่วมภูมิภาคได้เห็นถึงความซับซ้อนของการพัฒนาสาธารณูปโภคโดยอาศัยการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมักจะลงเอยถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ และถูกดึงเข้าไปสู่ "สงครามเย็นครั้งใหม่" โดยไม่รู้ตัว
Photo - เจ้าหน้าที่ยืนอยู่ข้างรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงชื่อ 'Whoosh' หลังจากพิธีเปิดที่สถานีฮาลิมในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 (ภาพโดย Yasuyoshi CHIBA / AFP)