วิบากกรรมคนไทยในอิสราเอล ไปขายแรงงานก็ถูกกดขี่ อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นเหยื่อของสงคราม
ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนไทยจะต้องสังเวยชีวิตมากขนาดนี้
แต่ไหนแต่ไรมา เวลาที่ปาเลสไตน์รบกับอิสราเอล มักจะมีคนไทยถูกลูกหลงถึงขนาดเสียชีวิตอยู่บ่อยๆ แต่มักจะมีแค่คนสองคนเท่านั้น ลองตรวจสอบได้จากรายงานข่าว "แรงงานไทยกี่คนแล้วที่ต้องเสียชีวิตเพราะความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์" จะพบว่าไม่เกินความจริงเลย
แต่ครั้งนี้ปาเข้าไปถึง 18 คน (ณ เวลาที่เขียนบทความนี้) และยังถูกจับตัวอีกนับสิบ
เป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่คนไทยจะเสียชีวิตมากขนาดนี้
และไม่เคยมีมาก่อนเหมือนกันที่คนไทยจะถูกจับตัวไป
ตามปกติแล้ว คนงานต่างชาติจะถูกแค่ลูกหลง ไม่ใช่เป้าหมายสังหารที่แท้จริง นานๆ ทีถึงจะมีคนต่างชาติถูกฆ่าโดยเจตนา
นั่นหมายความว่า กลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์เปลี่ยนแทกติกแล้ว หันมาเล่นงานไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะยิว ไทย เนปาล ฟิลิปปินส์ ถ้าเกิดอยู่ "ผิดที่ผิดทาง" ก็อาจจะตายได้
การเปลี่ยนแทกติกของกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ยังเห็นได้จากการบุกแบบฉับพลัน ซึ่งถือว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง และหมายความว่างานข่าวกรองหรือการคุ้มครองของอิสราเอล (ต่อคนไทย) มีปัญหาแล้ว
ใครไปทำงานที่อิสราเอลโปรดตระหนักไว้อย่างหนึ่งว่า คนไทยและแรงงานต่างชาติทั้งหลาย ถูกนำเข้าไปในอิสราเอล เพราะการจ้างคนปาเลสไตน์อาจมีปัญหาเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะหลังการลุกฮือของปาเลสไตน์เมื่อทศวรรษที่ 2000 หรือ "อินติฟาฏาครั้งที่สอง" (การลุกฮือครั้งที่สอง) อิสราเอลจึงเลือกจะจ้างคนนอกภูมิภาคที่แม้จะมีต้นทุนสูงกว่า แต่สบายใจกว่า
คราวนี้ถูกเรียกว่าอินติฟาฏาครั้งที่สาม "สมมติว่า" ถ้าสถานการณ์สงบขึ้นมา แรงงานไทยจะยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น
คำถามคือถึงตอนนั้นคนไทยยังจะไปอยู่อีกหรือเปล่า?
ค่าแรงที่อิสราเอลถือว่า "โอเค" สำหรับคนไทย ซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำ จากข้อมูลของฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอกัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 5,571.75 เชคเกล หรือชั่วโมงละ 30.61 เชคเกล (สำหรับการทำงานเดือนละ 182 ชั่วโมง) หรือชั่วโมงละ 29.95 เชคเกล (สำหรับการทำงานเดือนละ 186 ชั่วโมง) จากเดิม 5,300 เชคเกล หรือชั่วโมงละ 29.12 เชคเกล
ชั่วโมงละ 30.61 เชคเกล เท่ากับ 289.15 บาทต่อชั่วโมง ถือว่าไม่เลวเลย เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในไทยที่ได้วันละ 350 กว่าบาทในอัตราสูงสุด
เพราะรายได้ที่ "โอเค" และเพราะอิสราเอลไม่อยากจะจ้างคนปาเลสไตน์ ดังนั้น จึงมีอยู่ช่วงหนึ่งที่แรงงานไทยทำงานในภาคเกษตรของอิสราเอลถึง 90%
ถามว่าคนอิสราเอลอยากจะจ้างคนปาเลสไตน์ไหม? ตอบว่ามีอยากจะจ้างเหมือนกัน เพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ จึงมีต้นทุนถูกกว่าจ้างคนไทย แต่เพราะคนไทยทำงานดี เป็นมืออาชีพ และเป็นระเบียบ มันจึงคุ้มกว่าในแง่ประสิทธิภาพ และบ้างครั้งต้องจ้างคนไทยให้เป็นหัวหน้างานคุมคนปาเลสไตน์อีกต่อหนึ่ง
คนต่างชาติจะถูกมองว่าแย่งงานคนท้องถิ่นหรือไม่? เรื่องนี้ยากที่จะสรุป แต่คนงานต่างชาติอาจถูกคนปาเลสไตน์บางกลุ่มมองว่า "ร่วมมือกับผู้รุกราน"
มีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อหลายปีก่อน มีคนงานไทย 3 คนถูกคนปาเลสไตน์แทง ระหว่างทำงานที่นิคมของชาวยิวที่ไปยึดที่ดินของชาวปาเลสไตน์มาครอง
นี่เป็นตัวอย่างเดียว และไม่ค่อยเกิดขึ้น ถ้าต่างคนต่างอยู่
แต่การเสียชีวิตของแรงงานไทยมากมายในการโจมตีอินติฟาฏาครั้งที่สามหรือครั้งล่าสุดนี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่า คงจะต่างคนต่างอยู่ลำบากแล้ว
นั่นก็เรื่องหนึ่งที่ต้องพึงระวังไว้ อีกเรื่องคือ คนไทยต้องระวังนายจ้างอิสราเอลเอาไว้ด้วย
สภาพการทำงานของแรงงานไทยในอิสราเอลใช่ว่าจะดีทุกคน บางแห่งเจอนายจ้างดีก็ดีไป แต่บางที่ใช้งาน "เยี่ยงทาส" จนเป็นข่าวดังข้ามโลกมาแล้ว
เช่น เมื่อปี 2558 องค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch เปิดเผยเรื่อง "อิสราเอลมีการล่วงละเมิดแรงงานข้ามชาติจากไทยอย่างร้ายแรง" เป็นรายงานจำนวน 48 หน้า โดยสรุปคือสภาพคนงานไทยในอิสรเอลนั้น "ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป สภาพการทำงานที่เป็นอันตราย และที่อยู่อาศัยที่ย่ำแย่สำหรับคนงานเกษตรกรรมชาวไทยบางคนในอิสราเอล และการลงโทษของนายจ้างหากพวกเขาพยายามประท้วงด้วยการนัดหยุดงาน"
Human Rights Watch ยังชี้ด้วยว่า "ตัวเลขของรัฐบาลแสดงให้เห็นรูปแบบการเสียชีวิตที่น่าวิตกของแรงงานไทย ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2556 ตามตัวเลขของรัฐบาล (อิสราเอล) ที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์ Haaretz ของอิสราเอล พบว่ามีคนงานไทย 122 คนเสียชีวิตในอิสราเอล ในจำนวนนี้รวมถึง 43 คนที่เจ้าหน้าที่ทางการเสียชีวิตเนื่องมาจาก “อาการเสียชีวิตในเวลากลางคืนกะทันหัน” ซึ่งเป็นภาวะหัวใจที่กล่าวกันว่าส่งผลกระทบต่อชายชาวเอเชียที่อายุน้อยและมีสุขภาพดี และ 22 คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่ไม่ทราบสาเหตุเนื่องจากทางการไม่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ"
มาถึงปี 2563 เกิดประเด็นขึ้นมาอีกเมื่อนักเคลื่อนไหวและนักสิทธิมนุษยชนกังวลกับการที่รัฐบาลไทยต่ออายุข้อตกลงกับอิสรเาอลในการส่งแรงงานไทยไปทำงานที่นั่น เพราะเกรงว่าคนไทยจะต้องไปเผชิญกับการถูกทารุณ (abuse)
หนึ่งในนักเคลื่อนไหว คือ Human Rights Watch ซึ่งตามเรื่องนี้มาตั้งแต่หลายปีก่อน คราวนี้ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของกลุ่มกล่าวกับมูลนิธิ Thomson Reuters Foundation ว่า “ปัญหาใหญ่ก็คือ กรมการจัดหางานของไทยมีประวัติ...ที่ไม่ค่อยดีนักในการปกป้องสิทธิของคนงานชาวไทยในฟาร์มที่อิสราเอล”
การไม่ปกป้องสิทธิของคนงานไทยเท่าที่ควร ไม่ใช่แค่สวัสดิภาพการทำงานไม่ดี บางครั้งเลวร้ายจนอาจเป็นเหตุให้แรงงานไทยถึงแก่ชีวิต
เรื่องนี้ไม่ได้พูดเองเออเอง แต่มาจากรายงานของอิสราเอลเมื่อปี 2564 (ดูลิ้งก์นี้) ซึ่งสรุปสภาพชีวิตแรงงานไทยในอิสราเอลไว้แบบนี้
- มีเพียง 50% ของแรงงานไทยในอิสราเอลเท่านั้นที่มีบัตรประกันสุขภาพอยู่ในความครอบครองและสามารถทำได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างอิสระ
- ในบรรดาคนงานที่ต้องการรับการรักษาพยาบาลในอิสราเอล 44% ไม่เข้าใจแพทย์และ/หรือบุคลากรทางการแพทย์เนื่องจากไม่มีการแปลภาษา
- เกือบ 90% ของคนงานถูกจ้างงานในตำแหน่งงานที่เป็นอันตราย แต่มีเพียง 33% เท่านั้นได้รับอุปกรณ์ป้องกันภาคบังคับจากนายจ้าง
- เกือบ 60% ของคนงานได้รับบาดเจ็บขณะทำงาน และ 93% ประสบปัญหาด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของพวกเขา
- เกือบ 46% ของคนงานต้องทนทุกข์จากความทรมานทางจิตใจ
- เกือบ 50% ของคนงานยังคงต้องทำงานต่อไปแม้ว่าจะป่วย และมากถึง 70% ไม่ได้รับเงินเวลาลาป่วย
รายงานระบุว่า ในปี 2562 คนงานไทยเสียชีวิต 23 คน และในปี 2563 (ถึงเดือนสิงหาคม) คนงานไทยเสียชีวิตในอิสราเอลเพิ่มอีก 14 คน
"คนเหล่านี้คือคนงานรุ่นเยาว์ที่มาถึงอิสราเอลหลังจากผ่านกระบวนการ การทดสอบทางการแพทย์ที่ครอบคลุมเพื่อยืนยันสุขภาพที่ดีของพวกเขา แต่อัตราการเสียชีวิตของแรงงานไทยในอิสราเอลยังสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของพลเมืองอิสราเอลในวัยเดียวกันถึงสามเท่า" รายงานระบุไว้แบบนี้
อยากจะสรุปว่า ในเวลาที่ไม่รบกันคนงานไทยยังต้องเสียชีวิตเพราะสภาพการทำงานที่แย่ พอรบกันยังต้องมาเสี่ยงชีวิตกับการถูกลูกหลงอีก
แต่ดูเหมือนว่าการรบครั้งล่าสุด แรงงานไทยจะไม่ใช่ถูกหลงอีก แต่เป็นเป้าหมายจังๆ เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าสถานการณ์ข้างหน้าเอาแน่เอานอนไม่ได้แล้ว เพราะการรบของกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์มันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
ต่อให้สงครามสงบแล้วคนไทยเป็นที่ต้องการอย่างมากอีกครั้ง แต่ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งไม่รู้ว่าจะคุ้มกับค่าแรงที่ได้ไปหรือไม่
ดังนั้น คิดให้ดีก่อนไปอิสราเอล หรือพูดอีกอย่างก็คือ รัฐบาลไทยควรคิดดีๆ ก่อนจะสนับสนุนให้คนไทยไปทำงานที่นั่น เพราะค่าแรงที่ดีอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการและบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by JACK GUEZ / AFP