'ฉนวนกาซา' คือคุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนปาเลสไตน์ลุกฮือเพราะถูกขังในดินแดนตัวเอง 

'ฉนวนกาซา' คือคุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนปาเลสไตน์ลุกฮือเพราะถูกขังในดินแดนตัวเอง 
'ฉนวนกาซา' คือคุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ฉนวนกาซา ( Gaza Strip) หรือเรียกง่ายๆ ว่า กาซา เป็นเขตของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกล้อมเอาไว้ด้วยดินแดนของอิสราเอลทางเหนือและตะวันออก และด้านใต้ประชิดพรมแดนอียิปต์ ด้านตะวันตกคือชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กาซาจึงถูกล้อมไว้ทุกทิศ ไม่ใช่แค่นั้น ฉนวนกาซายังเป็นหนึ่งในสองดินแดนของชาวปาเลสไตน์หรือรัฐปาเลสไตน์ที่ถูกแยกจากกันคนละทิศคนละทาง เพราะการเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอล นั่นคือฉนวนกาซาทางใต้ของอิสราเอล และเวสต์แบงก์ทางตะวันออกของอิสราเอล  

ฉนวนกาซาถูกขนานนามว่าเป็น "คุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก" หรือ "คุกกลางแจ้งของอิสราเอล" เพราะอิสราเอลควบคุมการเข้าออกฉนวนกาซาอย่างเข้มงวด ฝ่ายอียิปต์เองก็ควบคุมการเข้าออกของชาวปาเลสไตน์จากกาซาเช่นกัน ส่วนน่านน้ำก็ถูกปิดล้อมเอาไว้ ดังนั้น ชาวปาเลสไตน์ในกาซาจึงแทบไปไหนไม่ได้ ประชาชนกว่า 2 ล้านคน ต้องอยู่อย่างแออัดในพื้นที่เล็กๆ แค่ 365 ตารางกิโลเมตร ขาดแคลนไปทุกสิ่งทุกอย่าง และยังถูกกดันจากการโจมตีของอิสราเอลอยู่เนืองๆ เพื่อถล่มเป้าหมายของกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองและกลุ่มติดอาวุธที่ปกครองฉนวนกาซา 

ฉายา "คุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ไม่ใข่เรื่องที่โมเมขึ้นมาเอง ต่อไปนี้คือการใช้ฉายานี้โดยองค์กรสำคัญๆ ของโลก เพื่อใช้บรรยายความทุกข์ของคนปาเลสไตน์ที่นั่น 

"คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก"
สภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ (NRC) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านมนุษยธรรมที่ปกป้องสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการพลัดถิ่น ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านอันเป็นผลมาจากความขัดแย้ง เรียกฉนวนกาซาว่าเป็น "คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก" (Gaza: The world’s largest open-air prison) และบอกว่า "กาซาเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีประชากรมากกว่า 5,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ... คาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2563" (ปัจจุบันคือ 2,375,259 คน)

รายงานของสหประชาชาติปี พ.ศ. 2553 คาดการณ์ว่ากาซาจะ “ไม่สามารถอยู่ได้” ภายในปี 2563 หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อบรรเทาการปิดล้อม ซึ่ง "การปิดล้อม" ในที่นี้ คือ การปิดล้อมฉนวนกาซา (Blockade of the Gaza Strip) ทั้งทางบก อากาศ และทางทะเลที่กำลังดำเนินอยู่ของฉนวนกาซา เป็นการปิดล้อมโดยอิสราเอลและอียิปต์เป็นการชั่วคราวในปี พ.ศ. 2548-2549 และเป็นการถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ภายหลังการที่อิสราเอลถอนตัวออกจากฉนวนกาซา และหลังจากที่กลุ่มฮามาสเข้าปกครองฉนวนกาซา 

การปิดล้อมอาจจะเลวร้ายลง ภายหลังการเริ่มต้นของความขัดแย้งในกาซา-อิสราเอลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 และการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ อิสราเอลได้ดำเนินการ"การปิดล้อมโดยสิ้นเชิง" ต่อฉนวนกาซาในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566

สภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ (NRC) สรุปสถานการณ์ของฉนวนกาซาในฐานะ "คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เอาไว้เป็นสถิติที่เข้าใจง่าย ดังนี้ 

  •     1.9 ล้านคนถูกกักไว้ในกาซา
  •     7 ใน 10 คนเป็นผู้ลี้ภัย
  •     คนกาซาว่างงาน 42%
  •     84% ของคนกาซาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
  •     41% ของคนกาซามีอาหารน้อยเกินไป
  •     98% ของน้ำบาดาลในกาซาไม่สามารถดื่มได้
  •     คนกาซาใช้งานไฟฟ้าได้ 2 - 4 ชั่วโมง
  •     35% ของที่ดินทำกินในกาซาไม่พร้อมใช้งาน
  •     45% ของคนกาซาถูกปฏิเสธการรักษาพยาบาลนอกฉนวนกาซา

"เรียกว่าคุกก็ยังน้อยไป"
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558  Banksy ศิลปินแนวสตรีทชื่อดังชาวอังกฤษได้ไปที่ฉนวนกาซาเพื่อทำให้ชาวโลกหันมาให้ความสนใจกับสถานการณ์ของชาวปาเลสไตน์ภายหลังเหตุโจมตีทำลายล้างของอิสราเอลเมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 ตอนนั้น Banksy เขียนว่า “กาซามักถูกเรียกว่าเป็น 'คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก' เพราะไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าหรือออก แต่นั่นดูไม่ยุติธรรมเลยสำหรับคุก พวกเขาไม่ได้ตัดไฟฟ้าและน้ำดื่มแบบมั่วๆ เกือบทุกวัน” 

นั่นหมายความว่า แม้แต่ในเรือนจำหรือคุกทั่วๆ ไปก็ยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ยังมีน้ำไหลไฟเปิดที่เอาแน่เอานอนได้ แต่ฉนวนกาซาไม่มีแม้แต่สิ่งจำเป็นของชีวิต เพราะพวกเขาถูกปิดล้อมเอาไว้ มิหนำซ้ำ พวกเขายังต้องอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนที่ถูกถล่มจากฝ่ายอิสราเอล โดยเฉพาะตอนที่ Banksy ไปเยือนกาซา เขาระบุว่า ในปี พ.ศ. 2557 อิสราเอล “ทำลายบ้านเรือนไป 18,000 หลัง”

สภาพที่น่าคับแค้นใจนี้ ทำให้ Banksy เตือนว่า “ผมไม่ต้องการเข้าข้าง แต่เมื่อคุณเห็นย่านชานเมืองทั้งหมดพังทลายลงจนไม่มีความหวังในอนาคต สิ่งที่คุณกำลังมองหาคือศูนย์จัดหางานกลางแจ้งขนาดใหญ่สำหรับผู้ก่อการร้าย และเราน่าจะจัดการเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทั้งหมดของเรา” นั่นหมายความว่า เมื่อคนในฉนวนกาซาถุกบีบให้เหมือนอยู่ในคุก และมีชีวิตที่สิ้นหวังและต้องอยู่อย่างหวาดกลัว คนที่นั่นไม่มีทางเลือกนอกจากจะกลายเป็น "ผู้ก่อการร้าย" หรือนัยหนึ่งก็คือพวกเขาถูกบีบให้เป็น "นักสู้" ที่ยอมสละชีวิตได้นั่นเอง

"เหมือนถูกขังมา 15 ปี"
เมื่อปี พ.ศ. 2565 องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch กระตุ้นให้โลกตระหนักว่าตอนนั้น ฉนวนกาซากลายเป็นคุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกมานานถึง 15 ปีแล้ว เพราะการปิดล้อมของอิสราเอล โอมาร์ ชากีร์ ผู้อำนวยการอิสราเอลและปาเลสไตน์ของ Human Rights Watch กล่าวว่า “ด้วยความช่วยเหลือของอียิปต์ อิสราเอลได้เปลี่ยนฉนวนกาซาให้กลายเป็นเรือนจำกลางแจ้ง” 

นอกจากอิสราเอลจะเป็นตัวการสำคัญแล้ว Human Rights Watch ยังชี้ว่าอียิปต์ก็มีส่วนทำให้กาซากลายเป็นคุกไปด้วย โดยระบุว่า "ทางการอียิปต์ได้ทำให้ผลกระทบของการปิดล้อมครั้งนี้รุนแรงขึ้นโดยการจำกัดการเคลื่อนไหวออกจากฉนวนกาซา และบางครั้งก็ปิดจุดผ่านแดนราฟาห์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวในกาซานอกเหนือจากเอเรซสู่โลกภายนอก"

ทำไมอียิปต์ซึ่งเป็นชาติอาหรับถึงช่วยเหลืออิสราเอลทำต่อคนอาหรับด้วยกัน? นั่นก็เพราะทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีมานานกว่าสามสิบปีแล้ว และอียิปต์ยังต้องอาศัยอิสราเอลในการควบคุมกลุ่มก่อการร้ายที่ปักหลักในแถบคาบสมุทรไซไน ซึ่งอยู่ระหว่างอิสราเอลและฉนวนกาซากับแผ่นดินใหญ่ของอียิปต์ 

"คือห้องขังเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุด"
แม้แต่สื่อของอิสราเอล คือ Haaretz ซึ่งถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและได้รับการนับถือมากที่สุดทั้งการรายงานข่าวและการวิจารณ์ เขียนไว้ในบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ว่า "กาซาเปลี่ยนจาก 'เรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในโลก' ไปสู่ 'ห้องขังเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก'" และเรียกร้องให้ทางการอิสราเอลควรเปิดทางข้ามคาเล็มชาโลมอีกครั้ง และพยายามช่วยสร้างฉนวนกาซาขึ้นมาใหม่ 

ทางข้ามคาเล็มชาโลม คือจุดผ่านแดนที่ทางแยกระหว่างพรมแดนฉนวนกาซา-อิสราเอล และชายแดนฉนวนกาซา-อียิปต์ เป็นทางสำหรับรถบรรทุกที่บรรทุกสินค้าจากอิสราเอลหรืออียิปต์ไปยังฉนวนกาซา Haaretz บอกว่า นี่คือ "ช่องทางเดียวที่ชาวกาซาสามารถรับสินค้าและส่งออกสินค้าบางส่วนของตนเองได้ อนุญาตให้ผ่านเฉพาะอาหารและยาเท่านั้น" การปิดด่านนี้จึงเท่ากับการบีบให้คนกาซากลายสภาพจากนักโทษในเรือนจำ มาเป็นนักโทษที่ถูกคุมขังในภาพที่เลวร้ายลงไปอีก ไม่ต่างกับการขังเดี่ยว

คุกอยู่ตรงนั้นแต่ชาวโลกมองไม่เห็น
การขนานนามฉนวนกาซาเป็นคุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s แล้ว และใช้กันในหมู่นักวิชาการที่ต่อต้านอำนาจของชาติตะวันตกและอิสราเอล เช่น นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักวิชาการชื่อก้องโลก ซึ่งตราบวันนั้นจนถึงวันนี้เขาก็ยังเรียกกาซาเหมือนเดิมว่าเป็นเป็นคุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

แม้แต่ในโลกตะวันตกเอง ซึ่งมักจะ "เข้าข้างอิสราเอล" ก็ยังยอมรับว่ากาซาคือคุกดีๆ นี่เอง หนึ่งในนั้นคือ อดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนแห่งอังกฤษ กล่าวไว้ในปี พ.ศ.  2553 โดยเรียกฉนวนกาซาว่า 'เรือนจำกลางแจ้ง' 

แน่นอนว่านายกฯ อังกฤษถูกอิสราเอลวิพากษ์วิจารณ์ที่ใช้คำนี้ 

อิสราเอลมีทางเลือกที่จะทำลายเรือนจำแห่งนี้ และหยุดยั้งไม่ให้มันกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักสู้ที่จะกรูกันเข้ามาถล่มอิสราเอลแบบในตอนนี้ 

ทางเลือกนั้นมีอยู่แล้ว นอม ชอมสกี เขียนไว้ว่า "รัฐบาลอิสราเอลได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสูงสุดว่าการสงบศึกสามารถต่ออายุได้โดยการผ่อนปรนการปิดล้อมที่ผิดหลักนิติธรรม และยุติการโจมตีทางทหาร แต่รัฐบาล ... ปฏิเสธตัวเลือกเหล่านี้ โดยหันไปพึ่งความรุนแรงที่ตัวเองได้เปรียบอย่างมาก"

นั่นหมายความว่า อิสราเอลจะอยู่อย่างสงบขึ้นมาได้บ้าง ก็ต่อเมื่อหยุดกดขี่ชาวปาเลสไตน์ทั้งกักขังพวกเขาไว้ในคุกกลางแจ้งและหยุดโจมตีทางทหาร แต่รัฐบาลอิสราเอลเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น 

รายงานพิเศษโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better News 

Photo - ชาวปาเลสไตน์เดินผ่านซากปรักหักพังท่ามกลางการทำลายล้างจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในย่านอัล-ริมัลของเมืองกาซาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อิสราเอลยังคงทิ้งระเบิดใส่ฉนวนกาซาที่กลุ่มฮามาสควบคุมอยู่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม หลังจากกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ขู่ว่าจะประหารชีวิตตัวประกันบางส่วนจากประมาณ 150 คน ที่ถูกลักพาตัวไปในการโจมตีเมื่อสุดสัปดาห์ หากการโจมตีทางอากาศดำเนินต่อไปโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า  (Photo by MOHAMMED ABED / AFP)

TAGS: #อิสราเอล #ปาเลสไตน์ #กาซา #สงคราม #ฉนวนกาซา