บทวิเคราะห์ ทำไมฮามาสจับตัวคนไทยไว้ พวกเขาจะทำอะไรกับตัวประกัน?
สงครามระหว่างฮามาสกับฮิสราเอลในเดือนตุลาคม 2566 เกิดเรื่องไม่คาดฝันมากมาย หนึ่งในนั้นคือจำนวนชาวอิสราเอลที่ถูกกลุ่มฮามาสจับกุมตัวไว้กว่า 200+ คน และที่ช็อคไปกว่านั้นคือมีชาวต่างชาติจำนวนมากถูกจับตัวไปด้วย
นี่คือตัวเลขคนต่างชาติที่ถูกจับตัวไว้ ณ วันที่ 15 ตุลาคม
- ไทย 17 คน
- เนปาล 17 คน
- เยอรมนี 5 คน
- เม็กซิโก 2 คน
ยังไม่นับชาติอื่นๆ อีกหลายชาติที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าพลเมืองของตนถูกจับตัวไว้กี่คน และยังไม่นับผู้สูญหาย
ในบรรดาผู้เสียชีวิตต่างชาติ คนไทยสูญเสียมากที่สุด
- สหรัฐฯ 29 คน
- ไทย 24 คน
- เนปาล 10 คน
- ฝรั่งเศส 8 คน
รัสเซีย, บราซิล, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ยูเครน, ปารากวัย ประเทศละ 2 คน ในขณะที่เปรู, เยอรมนี,โปรตุเกส, โรมาเนีย, ชิลี, กัมพูชา ประเทศละ 1 คน
ทำไมฮามาสจับตัวประกันไว้มากขนาดนี้?
เฉพาะชาวอิสราเอลถูกจับไปถึง 200+ คน รวมชาวต่างชาติถูกจับตัวไป 33 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราจะมาวิเคราะห์เป็นข้อๆ ว่า ทำไมฮามาสถึงจับตัวประกันไปมากขนาดนี้
ข้อแรก ฮามาสจับตัวประกันอิสราเอลไปจำนวนมาก อาจจะเพื่อใช้ต่อรองกับอิสราเอล และกดดันให้อิสราเอลส่งตัวชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจับตัวไปในฐานะ "นักโทษการเมือง" คืนมา พูดง่ายๆ คือใช้ตัวประกันมาเป็นเครื่องต่อรองนั่นเอง
ข้อสอง หลักฐานก็คือ ซาเลห์ อัล-อารูรี รองหัวหน้าสำนักงานการเมืองของกลุ่มฮามาสเผยในโซเชียลมีเดีย Telegram ว่า “ผู้ถูกคุมขังของเราในเรือนจำ [อิสราเอล] เสรีภาพของพวกเขาใกล้เข้ามาแล้ว สิ่งที่เรามีอยู่ในมือ (ตัวประกัน) จะปล่อยนักโทษของเราทั้งหมด ยิ่งการต่อสู้ดำเนินต่อไปนานเท่าไร จำนวนนักโทษ (ตัวประกัน) ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น”
ข้อสาม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 หน่วยงานราชทัณฑ์อิสราเอล (IPS) ได้ควบคุมตัวชาวปาเลสไตน์ 4,499 คนที่ถูกคุมขังหรือถูกคุมขังตามคำจำกัดความของ "ความมั่นคง" รวมถึง 183 คนจากฉนวนกาซา หรือถูกจับเพราะอิสราเอลพิจารณาว่าคนปาเลสไตน์เหล่านี้คุกคามพวกตน ซึ่งจะมีมูลแค่ไหนนั้นก็อีกเรื่อง
ข้อสี่ ตัวเลขเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 มีนักโทษความมั่นคงชาวปาเลสไตน์นในเรือนจำอิสราเอล รวมถึงเด็ก 160 คน ผู้หญิง 32 คน และ "ผู้ต้องขังเพื่อการบริหารการปกครอง" หรือถูกคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหา มากกว่า 1,000 คน
ข้อห้า จะเห็นว่าเอาเฉพาะจำนวนเด็กและผู้หญิงชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลควบคุมไว้มีจำนวนพอๆ กับชาวอิสราเอลที่ฮามาสจับตัวเอาไว้ได้ ยังไม่รวมชาวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงคนไทยด้วย แต่ตัวเลขตัวประกันทั้งหมดยังเทียบไม่ได้กับจำนวชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขังไว้ถึงเกือบ 5,500 คน
ข้อหก ดังนั้น ฮามาสจึงอาจจะใช้ตัวประกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับสมาชิกของฮามาสหรือบุคคลสำคัญในขบวนการต่อสู่ของปาเลสไตน์มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าอิสราเอลจะยอมหรือไม่ ปัจจัยที่อิสราเอลต้องพิจารณาคือ ตัวประกันไม่ได้มีแค่ทหาร แต่ยังมีพลเรือน และคนต่างชาติด้วย
ข้อเจ็ด ถ้าอิสราเอลชักช้าลังเล ฮามาสก็อาจจะใช้วิธีเด็ดขาดได้ กองกำลัง Al-Qassam Brigades ขู่แล้วว่าถ้าอิสราเอลการกำหนดเป้าหมายในจุดที่มีพลเรือนปาเลสไตน์โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า พวกเขาประหารชีวิตตัวประกันพลเรือนที่อยู่ในความควบคุมของพวกเขา และจะถ่ายทอดการประหารให้ดูกันจะๆ
ข้อแปด นี่อาจไม่ใช่คำขู่ เพราะปฏิบัติการโจมตีของฮามาสทำแบบไม่เลือกหน้าทั้งทหาร พลเรือน และคนต่างชาติ อาจเป็นการแสดงให้เห็นก่อนว่าพวกเขาเอาจริง เพราะลงมือฆ่าไม่เลือกหน้าไปแล้ว หากอีกฝ่ายยึกยักก็อาจฆ่าตัวประกันโดยไม่ลังเลได้เหมือนกัน
ข้อเก้า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายอิสราเอลแล้ว อย่างที่กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์บอกว่า “เราเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ (ฆ่าตัวประกัน) แต่เราถือว่า (อิสราเอล) และผู้นำต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้” นี่คือการโยนแรงกดดันไปให้อิสราเอลเผชิญกับแรงกดดันกับนานาชาติอีกต่อหนึ่ง
ข้อสิบ แม้ว่าชาติที่มีตัวประกันอาจจะประณามหรือเจรจากับฮามาสโดยตรง แต่ฮามาสจะโยนความรับผิดชอบให้ไปคุยกับอิสราเอลเอง เพื่อให้ชาติเหล่านั้นกดดันให้อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ ถ้าอิสราเอลไม่ทำตาม ก็เสี่ยงที่จะเสียความสัมพันธ์กับชาติที่มีพลเมืองถูกจับตัวไว้
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องตระหนักให้ดี เพราะมีคนไทยถูกจับมากที่สุดอันดับหนึ่ง และเสียชีวิตมากที่สุดอันดับสอง การที่คนไทยเสียชีวิตมากขนาดนี้ นั่นหมายความว่าฮามาสพร้อมจะฆ่าคนไทยได้ง่ายๆ เหมือนกัน โปรดทราบว่าแต่ก่อน คนไทยแค่โดนลูกหลง แต่ตอนนี้ตกเป็นเป้าสังหารโดยตรง
บทสรุป เราจะช่วยอย่างไร?
เราต้องยอมรับว่า คนไทยกลายเป็นเบี้ยต่อรองในสงครามไปแล้ว การเจรจากับฮามาสเป็นเรื่องยาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากเรารู้ว่าฮามาสตั้งใจจะใช้คนไทยแลกตัวนักโทษที่อิสราเอลคุมไว้หรือไม่ และดำเนินการตามที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนการเจรจากับอิสราเอลคงจะยาก เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับนโยบายต่อปาเลสไตน์ ที่ผ่านมาอิสราเอลไม่ได้ปฏิบัติต่อนักโทษปาเลสไตน์ในฐานะคู่ขัดแย้ง (หรือนักโทษสงคราม) ซึ่งสามารถแลกตัวกันได้หรือได้รับการปฏิบัติอย่าง "มีมนุษยธรรม" ตามอนุสัญญาเจนีวา
นักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกคุมตัวไว้ในฐานะ "นักโทษการเมือง" หรือ "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอิสราเอลไม่ได้มองว่าปาเลสไตน์เป็น "รัฐเอกเทศ" หรือเป็นหนึ่งในสองรัฐคู่กับรัฐอิสราเอล แต่เป็นดินแดนที่อยู่ในกำมือของอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ไม่ใช่คนต่างรัฐ แต่เป็นคนในควบคุมของอิสราเอล ในขณะที่ไทยถือหลักการ "ทางออกสองรัฐ" คือยอมรับทั้งรัฐปาลสไตน์และรัฐอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเหมือนกันที่อิสราเอลจะแลกตัวนักโทษ เช่น กรณี การแลกเปลี่ยนนักโทษเมื่อปี 2554 เพื่อปล่อยตัวทหารอิสราเอล กิลาด ชาลิต (Gilad Shalit) เพื่อแลกกับนักโทษ 1,027 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์และอาหรับ-อิสราเอล ชาวยูเครน ชาวจอร์แดน และชาวซีเรียที่ถูกอิสราเอลคุมตัวไว้ (ในจำนวนนี้ 280 คนถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตจากการวางแผนและกระทำการโจมตีเป้าหมายต่างๆ ของอิสราเอล)
จากกรณีนี้ อิสราเอลยอมแลกชาวปาเลสไตน์และคนชาติอื่นๆ ที่ตนจับไว้นับพันคน กับทหารอิสราเอลเพียงคนเดียวที่ฮามาสจับไว้ได้
แต่กรณีนี้ กิลาด ชาลิต ถูกฮามาสจังตัวไว้นานถึง 5 ปี และกว่าจะเจรจากันได้ต้องใช้กระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ต้องใช้ประเทศคนกลาง และการติดที่ไม่ได้ใช้ช่องทางปกติ
คราวนี้ก็เหมือนกัน ความซับซ้อนของปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอล ทำให้ชีวิตของคนไทยที่ถูกจับตัวไว้ (และยังต้องไปทำมาหากินที่นั่น) น่ากังวลอย่างมาก
บทความ - กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ภาพประกอบข่าว ชายคนหนึ่งอพยพเด็กหญิงที่ได้รับบาดเจ็บออกจากจุดโจมตีของอิสราเอลในเมืองกาซาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อิสราเอลกล่าวว่าได้ยึดพื้นที่ชายแดนฉนวนกาซาคืนมาจากกลุ่มฮามาส ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากสงครามทะลุ 3,000 รายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการต่อสู้อันทรหดนับตั้งแต่ กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ได้โจมตีอย่างไม่คาดคิด (ภาพโดย Bashar TALEB / AFP)