จะเกิดอะไรขึ้นถ้า? อิสราเอลยึดฉนวนกาซา พวกเขาจะทำลายมันโดยไม่ต้องใช้อาวุธ!
สรุปสถานการณ์
ณ วันที่ 15 - 16 ตุลาคม ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าอิสราเอลอาจจะบุกฉนวนกาซาเร็วๆ นี้และอาจจะเข้ายึดครองกาซา นี่คือปฏิกิริยาเบื้องต้นจากฝ่ายต่างๆ
- ฉนวนกาซามีประชากรมากกว่า 2 ล้าน ซึ่งอยู่อย่างแออัดจนแทบอยู่อาศัยไม่ได้ แบ่งออกเป็นตอนเหนือและตอนใต้ ตอนเหนือเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงคือ นครกาซา (Gaza city) ตอนเหนือเป็นพื้นที่อิสราเอลสั่งให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซาอพยพออกไป
- โฆษกกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลเผยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ว่า ผู้คนราวครึ่งล้านได้ออกจากฉนวนกาซาทางตอนเหนือไปทางตอนใต้ตามประกาศอพยพของอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่สั่งให้ชาวปาเลสไตน์ 1 ล้านคนในตอนเหนือของกาซาอพยพออกไป
- เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ว่า ที่พักพิงทางตอนใต้ของฉนวนกาซาล้นแล้ว และยังขาดแคลนสิ่งของจำเป็น คือ น้ำ อาหาร และพลังงาน “ทางใต้ไม่มีที่พักพิงรองรับได้ ในแง่ของจำนวน (คนอพยพ) ที่กำลังมา”
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เตือนอิสราเอลไม่ให้ยึดครองพื้นที่ของฉนวนกาซา ขณะอิสราเอลส่งสัญญาณว่าพวกเขากำลังเตรียมการรุกรานภาคพื้นดิน โดยไบเดนกล่าวว่ามันจะเป็น “ความผิดพลาดครั้งใหญ่” ถ้าอิสราเอลยึดครองฉนวนกาซา
ถ้าอิสราเอลจะยึดครองกาซา มันจะเกิดอะไรขึ้น?
เพื่อให้ได้คำตอบ เราสามารถเทียบเคียงกับการยึดครองกาซาครั้งก่อนของอิสราเอล สิ่งที่อิสราเอลจะทำ ไม่ใช่การทำลายกาซา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นการ "เลี้ยง" กาซาเอาไว้เพื่อประโยชน์ของอิสราเอลเอง
1. ฉนวนกาซาเคยถูกอียิปต์ยึดครองมากก่อน แต่ชาวอาหรับหรือชาวปาเลสไตน์ในกาซา ประกาศตั้งรัฐบาลของตนเอง โดยได้รับหนังสือเดินทางปาเลสไตน์ อียิปต์ไม่ได้มอบสัญชาติให้พวกเขา เพราะอียิปต์ไม่เคยผนวกฉนวนกาซา แต่กลับปฏิบัติต่อฉนวนกาซาเป็นดินแดนควบคุมและบริหารจัดการโดยผ่านผู้ว่าราชการทหาร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510 ระหว่างสงครามหกวัน ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลสามารถยึดฉนวนกาซาจากอียิปต์ได้
2. ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 ในระหว่างการประชุมซึ่งคณะรัฐมนตรีความมั่นคงได้ระดมความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำอย่างไรกับประชากรอาหรับ (หรือชาวปาเลสไตน์) ในดินแดนที่ถูกยึดครองใหม่ หนึ่งในข้อเสนอแนะที่นายกรัฐมนตรีเลวี เอชคอลเสนอเกี่ยวกับฉนวนกาซาก็คือ ถ้าอิสราเอลจำกัดการเข้าถึงน้ำแก่ชาวอาหรับ ชาวอาหรับก็จะออกไปจากกาซา เขาบอกว่า "บางทีถ้าเราไม่ให้น้ำเพียงพอแก่พวกเขา พวกเขาก็จะไม่มีทางเลือก" ทั้งนี้ การจำกัดการเข้าถึงน้ำยังเป็นวิธีการที่อิสราเอลใช้กับชาวปาเลสไตน์ในกาซาจนถึงทุกวันนี้
3. ภายหลังชัยชนะทางทหาร อิสราเอลได้สร้างกลุ่มชุมชนชาวอิสราเอลกลุ่มแรกขึ้นในแถบกุชคาติฟ (Gush Katif) ซึ่งอยู่มุมตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับราฟาห์และชายแดนอียิปต์ โดยรวมแล้ว ระหว่างปี พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2548 อิสราเอลได้จัดตั้งการตั้งถิ่นฐาน 21 แห่งในฉนวนกาซา คิดเป็น 20% ของดินแดนทั้งหมด ภาคเกษตรกรรมของฉนวนกาซาได้รับผลกระทบในทางลบ เพราะการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลนรุนแรงขึ้น และอิสราเอลยังมีนโยบายกดขี่ภาคเกษตรของกาซา เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรของตน
4. ในระหว่างการปกครองกาซาโดยอิสราเอล อิสราเอลกำหนดโควตาสำหรับสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกจากฉนวนกาซา ขณะเดียวกันก็ยกเลิกข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายสินค้าของอิสราเอลเข้าสู่ฉนวนกาซา ทำให้กาซาขายของตัวเองไม่ได้ แต่สามารถซื้อสินค้าของอิสราเอลได้ง่าย ในแง่นี้ ทำให้กาซาต้องกลายเป็นทาสทางเศรษฐกิจต่ออิสราเอลไปโดยปริยาย และการที่อิสราเอลทำลายภาคเกษตรของกาซา ทำให้คนกาซาต้องทำงานอย่างอื่น เช่น ไปขายแรงที่อิสราเอล ทำให้พวกเขายิ่งกลายเป็น "ทาสแรงงาน" ของอิสราเอลเข้าไปอีก
5. ด้วยวิธีการที่แยบยลนี้ ทำให้การปกครองกาซาของอิสราเอลมีความแข็งแกร่ง เพราะเข้าไปยึดเส้นเลือดของชีวิต นั่นคือเรื่องปากท้องของประชาชน แม้ว่าจะมีการต่อต้านโดยขบบวนการติดอาวุธ แต่การทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจ เป็นอาวุธที่ทรงพลังมากกว่า ซารา รอย (Sara Roy) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักวิชาการชาวอเมริกัน ที่เชี่ยวชาญปัญหาในฉนวนกาซามากที่สุดคนหนึ่งชี้ว่า สิ่งที่อิสราเอลทำคือ การพัฒนาย้อนกลับ (de-development) รอยบอกว่า "ในช่วงกว่าสองทศวรรษภายใต้การปกครองของอิสราเอล ได้แปรสภาพเศรษฐกิจ (ของกาซา) ให้กลายเป็นข้ารับใช้ (an auxiliary) ของรัฐอิสราเอล"
6. รอยยังบอกว่า "การยึดครองชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลไม่ได้เทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีในแง่ของจริยธรรม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ... การยึดครองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการครอบงำและยึดเอาความเป็นเจ้าของของคนหนึ่งโดยอีกคนหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำลายทรัพย์สินและการทำลายจิตวิญญาณของพวกเขา โดยแก่นแท้แล้ว การยึดครอง เป้าหมายที่จะปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์ โดยการปฏิเสธสิทธิในการบอกวาพวกเขามีตัวตน และใช้ชีวิตตามปกติในบ้านของตนเอง"
7. ในแง่นี้ การยึดครองของอิสราเอล คือการทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาพึ่งตัวเองไม่ได้ หมดความรู้สึกว่าตัวเองกำหนดชะตากรรมตัวเองได้ ต้องกลายเป็นผู้ที่พึ่งพาภายนอก (คืออิสราเอล) ในขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ใช้ประโยชน์จากการทำลายความเป็นเจ้าของในที่ดินและทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ ให้พวกเขากลายเป็นเพียงแรงงานราคาถูกที่รับใช้เศรษฐกิจของอิสราเอล เพราะชาวปาเลสไตน์ไม่ทำงานกับอิสราเอล ก็จะไม่มีอะไรกิน
8. แต่ชาวปาเลสไตน์ก็ไม่ได้งอมืองอเท้า และเกิดการลุกฮือครั้งแรก (หรือที่เรียกว่าอินติฟาฏาครั้งแรก) มูบารัก อาวัด (Mubarak Awad) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์กล่าวไว้ อินติฟาฏาเป็นการประท้วงต่อต้านการกดขี่ของอิสราเอล ที่ได้กระทำ "การทุบตี การยิง การสังหาร การรื้อถอนบ้าน การถอนต้นไม้ การเนรเทศออกนอกประเทศ การจำคุกเพิ่มเติม และการคุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดี" สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ในบรรดาการทารุณต่างๆ เหล่านี้ "การถอนตันไม้" คือการทำลายต้นส้มและมะนาว รวมถึงต้นมะกอก ที่เป็นพืชผลหลักของชาวปาเลไสตน์ คือการทำให้พวกเขาอดตายนั่นเอง
9. สิ่งที่อิสราเอลตอบโต้หนักเข้าไปอีก คือ ต้นไม้ถูกถอนรากถอนโคนในฟาร์มของชาวปาเลสไตน์ และผลิตผลทางการเกษตรถูกขัดขวางไม่ให้ขาย ในปีแรกของการลึกฮือ บ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 1,000 คนถูกพังยับเยินหรือถูกปิดกั้น ถ้าชาวปาเลสไตน์ปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีจะต้องถูกยึดทรัพย์สินและใบอนุญาต ผู้ตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลในเขตปาเลสไตน์ ยังมีส่วนร่วมในการโจมตีชาวปาเลสไตน์เป็นการส่วนตัวด้วย
10. ในการลุกฮือครั้งแรก กินเวลาระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2530 – 13 กันยายน พ.ศ. 2536 (5 ปี 9 เดือน 5 วัน) ตลอดเวลานั้น กองกำลังอิสราเอล หรือ IDF สังหารชาวปาเลสไตน์ประมาณ 1,162 – 1,204 คน ส่วนพลเรือนอิสราเอล 100 คนและเจ้าหน้าที่ IDF 60 คนถูกสังหาร อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียนี้ จะนำไปสู่การเจรจาลับ ที่ทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพตามข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) ในปี พ.ศ. 2536 ที่จะนำไปสู่การถอนตัวของอิสราเอลออกจากฉนวนกาซา และเขตยึดครองอื่นๆ และเป็นการตกลงยอมรับสิทธิในการปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์
11. แต่ชุมชนผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในปาเลสไต์จะยังคงอยู่ต่อไป ตราบจนกระทั่ง การถอนตัวจากความเกี่ยวข้องกับกาซา ที่เสนอในปี พ.ศ. 2546 โดยนายกรัฐมนตรีแอเรียล ชารอน โดยมีการบังคับรื้อถอนบ้านและถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตฉนวนกาซาออกไป แล้วรัฐบาลอิสราเอลจะจ่ายเงินชดเชยชาวอิสราเอลเหล่านั้น แม้ว่าจะมีผู้ต่อต้านคำสั่งนี้ก็ตาม การรื้อถอนนี้กว่าจะทำเสร็จก็ปาเข้าไปในปี พ.ศ. 2548
12. กระนั้นก็ตาม ในแง่ของการเมือง สหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนมาก ถือว่าฉนวนกาซายังคงอยู่ภายใต้การยึดครองของทหารโดยอิสราเอล เพราะหลังจากการถอนตัว อิสราเอลยังคงรักษาการควบคุมโดยตรงเหนือพื้นที่ทางอากาศและทางทะเลของฉนวนกาซา การข้ามทางบก 6 ครั้งจากทั้งหมด 7 ครั้งของฉนวนกาซา รักษาเขตกันชนห้ามเข้าภายในอาณาเขต ควบคุมการลงทะเบียนประชากรปาเลสไตน์ และฉนวนกาซายังคงขึ้นอยู่กับอิสราเอลในด้านการเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า โทรคมนาคม และสาธารณูปโภคอื่นๆ
สรุป นี่คือการยึดครองแบบไม่ต้องยึดครอง
ดังนั้น อิสราเอลจึงไม่เคยถอนตัวจากฉนวนกาซาอย่างแท้จริง พวกเขายังควบคุมมันอยู่ในภาพที่เป็น "คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก" โดยควบคุมเศรษฐกิจของกาซาเอาไว้ ควบคุมความจำเป็นพื้นฐานเอาไว้ และปล่อยให้แรงงานปาเลสไตน์เข้ามาทำงานในอิสราเอลได้ เพื่อทำให้กาซายังคงเป็น "ข้ารับใช้ของรัฐอิสราเอล" ตามคำกล่าวของ ซารา รอย และหากชาวกาซาหรือกลุ่มติดอาวุธในนั้นตอบโต้อิสรkเอลหรือทำการรุกโจมตีแบบครั้งล่าสุด อิสราเอลก็จะโจมตีกลับรุนแรงกว่า โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไป "ยึดครอง" โดยตรง เพราะพวกเขาทำการยึดกาซาเอาไว้อยู่แล้วผ่านการปิดล้อมและแบ่งแยกเชื้อชาติ
ทำไมอิสราเอลต้องทำแบบนี้ด้วย มันมีสาเหตุที่ต้องอธิบายต่อไป และเป้นเหตุผลที่อิสราเอลกลัวปาเลสไตน์ที่สุด
โปรดติดตามตอนต่อไป
รายงานพิเศษโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better News
Photo by MOHAMMED FAEQ / AFP