สงครามฮามาสลามไปตะวันตก การฆ่าเพราะความเกลียดชัง เกิดต่อเนื่องจากฝรั่งเศส สหรัฐ และเบลเยี่ยม
สรุปสถานการณ์
• ครูคนหนึ่งในฝรั่งเศสถูกอดีตนักเรียนสังหาร รัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่าเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายอิสลาม
• ชาวเบลเยี่ยมสองรายถูกยิงเสียชีวิต ณ ใจกลางกรุงบรัสเซลส์ ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับสื่อเบลเยียมว่ามือปืนตะโกนว่า “อัลลอฮุอักบัร” ก่อนเปิดฉากยิง
• เจ้าของบ้านสังหารเด็กชายมุสลิมวัย 6 ขวบและแทงแม่ที่เช่าบ้านอยู่ ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ เจ้าที่ระบุว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนา
ในขณะที่เกิดสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล ในยุโรปและสหรัฐฯ ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเช่นกัน แม้ว่ายังเร็วไปที่จะบอกว่าเหตุการณ์เหล่านี้เชื่อมโยงกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ ผู้ก่อเหตุอาจจะก่อเหตุเพราะมีแรงจูงใจเรื่องเชื้อชาติและศาสนา
สถานการณ์เบื้องหลัง
• สหรัฐฯ และยุโรปให้การสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด และในสงครามล่าสุดก็เช่นกัน สหรัฐฯ สนับสนุนด้านเงินแก่อิสราเอลจำนวนมหาศาล ส่วนยุโรปก็แสดงท่าทีประณามฝ่ายฮามาส ท่าทีเช่นนี้ อาจทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวมุสลิมที่อยู่ในประเทศเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน คนศาสนาอื่นก็อาจจะไม่พอใจชาวมุสลิมในโลกตะวันตกเช่นกัน จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน
วันที่ 13 ตุลาคม 2566
เกิดเหตุแทงกันที่โรงเรียนมัธยม Gambetta-Carnot ในเมืองอาราส เมืองปาส-เดอ-กาเลส์ เมืองโอตส์-เดอ-ฟรองซ์ ประเทศฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย และอีกสามคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ตามข้อมูลของรัฐบาลฝรั่งเศส เชื่อว่าการแทงกันดังกล่าวเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและเชื่อมโยงกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุเป็นชายชาวรัสเซียเชื้อสายอินกูช ซึ่งเกิดในปี 2546 และย้ายไปฝรั่งเศสพร้อมครอบครัวในปี 2551 ตามที่ผู้เห็นเหตุการณ์ได้ยินเขาตะโกนว่า "อัลลอฮุอักบัร" ระหว่างการโจมตี ซึ่งผู้ต้องสงสัยเป็นที่รู้จักในหน่วยรักษาความปลอดภัยของฝรั่งเศสเนื่องจากเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามหัวรุนแรง และรัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่าเหตุกล่าวว่าเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายซึ่งเชื่อมโยงกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ทั้งนี้ ท่ามกลางสงครามอิสราเอล–ฮามาส คาเลด มาชาล ผู้นำกลุ่มฮามาสเรียกร้องให้มี "วันญิฮาดโลก" ในวันที่ 13 ตุลาคม คำประกาศดังกล่าวทำให้เกิดความหวาดกลัวอย่างกว้างขวางต่อความปลอดภัยของทั้งชุมชนชาวยิวทั่วโลก เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ส่งผลให้กิจกรรมสาธารณะต้องถูกยกเลิกจำนวนมาก ตลอดจนเพิ่มการรักษาความปลอดภัยและการตรวจรักษาด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน โรงเรียนหลายแห่งทั้งของรัฐและชาวยิวจึงปิดทำการในวันนี้
วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ชายวัย 71 ปีในเมืองเพลนฟิลด์ รัฐอิลลินอยส์ ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมและก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง หลังจากใช้มีดแทงเด็กวัย 6 ขวบเสียชีวิตและยังทำร้ายแม่ของเด็กจนได้รับบาดเจ็บ เพียงเพราะพวกเขาเป็นมุสลิม แถลงการณ์ของตำรวจ Will County Sheriff's Office ระบุว่า "เด็กชายอายุ 6 ขวบถูกแทง 26 ครั้งทั่วร่างกาย มีดที่ใช้ในการโจมตีครั้งนี้เป็นมีดสไตล์ทหารหยักขนาด 12 นิ้วซึ่งมีใบมีดขนาด 7 นิ้ว"
สำนักงานตำรวจยังบระบุว่า “นักสืบสามารถระบุได้ว่าเหยื่อทั้งสองในการโจมตีอันโหดร้ายนี้ตกเป็นเป้าหมายของผู้ต้องสงสัย เนื่องจากพวกเขาเป็นมุสลิม และความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มฮามาสและอิสราเอล”
ตามข้อความที่แม่ส่งถึงพ่อของเด็กชายทำให้ทราบว่า เมื่อแม่ของเด็กเปิดประตู เจ้าของบ้านที่เป็นชายผิวขาววัย 71 ปี ก็พยายามจะบีบคอเธอ จากนั้นก็แทงเธอพร้อมตะโกนตะโกน : “พวกมุสลิมอย่างแกจะต้องตาย!”
หลังจากเหตุการณ์นี้ CAIR International องค์กรสิทธิพลเมืองมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา แถลงว่า "เราตกใจและกังวลใจที่ได้รู้ว่าเจ้าของบ้านในชิคาโกซึ่งแสดงความเห็นต่อต้านมุสลิมและต่อต้านชาวปาเลสไตน์บุกเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวมุสลิมและโจมตีพวกเขาด้วยมีด ทำให้แม่ได้รับบาดเจ็บ และสังหาร ... ลูกชายวัย 6 ขวบของเธอ ... วาทกรรมที่เกลียดกลัวอิสลามและการเหยียดเชื้อชาติต่อต้านปาเลสไตน์ที่แพร่กระจายโดยนักการเมือง สื่อ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะต้องยุติลงเดี๋ยวนี้"
วันที่ 16 ตุลาคม 2566
เกิดเหตุกราดยิงที่บรัสเซลส์ เมื่อเวลาประมาณ 19:15 น. (วันที่ 17 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย) ชาวสวีเดน 2 คนที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลถูกยิงเสียชีวิตที่ Place Saintelette ในเขตเมืองมอเลนเบก โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยหนึ่งคน คนร้ายได้หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ ทำให้การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 รอบคัดเลือกระหว่างเบลเยียมและสวีเดนที่สนามกีฬา King Baudouin ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 5 กิโลเมตร ถูกยกเลิกในช่วงพักครึ่งแรกเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
ผู้ก่อเหตุโจมตีคือ อับเดซาเลม ลาสซูด ผู้ก่อการร้ายชาวตูนิเซีย วัย 45 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกพิจารณาฐานก่อเหตุก่อการร้ายในตูนิเซีย ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับสื่อเบลเยียมว่ามือปืนตะโกนว่า “อัลลอฮุอักบัร” ก่อนเปิดฉากยิง
หลังการโจมตี ชายคนหนึ่งโพสต์บนโซเชียลมีเดียโดยอ้างว่าเป็นผู้โจมตีและเป็นสมาชิกของกลุ่มรัฐอิสลาม แม้การกล่าวอ้างนี้ไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ชาวเบลเยียม ตำรวจเบลเยียมระบุว่าการโจมตีดังกล่าวว่าเป็นการกระทำของการก่อการร้ายอิสลาม หลังการโจมตี ระดับภัยคุกคามต่อบรัสเซลส์เพิ่มขึ้นเป็น 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ก่อนหน้านี้สถานการณ์ในเบลเยียมโดยรวมอยู่ในระดับ 2
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เบลเยียมกล่าวว่าแรงจูงใจเบื้องหลังการสังหารครั้งนี้คือเหยื่อเป็นชาวสวีเดน และอาจแก้แค้นเหตุการณ์เผาอัลกุรอานในปี 2566 ในสวีเดน ซึ่งเหตุการณ์การเผาอัลกุรอานหลายครั้งเกิดขึ้นในสวีเดน เช่น ในเดือนมกราคม ราสมุส ปาลูดัน นักการเมืองขวาจัดชาวเดนมาร์ก-สวีเดน ได้เผาสำเนาอัลกุรอานนอกสถานทูตตุรกี ทำให้เกิดการประท้วงและประณามจากนานาชาติ โดยเฉพาะในโลกมุสลิม
Photo - TOPSHOT – กองเชียร์ชาวสวีเดนแสดงอาการเศร้าโศกขณะที่พวกเขารออยู่บนอัฒจันทร์ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือกยูโร 2024 ระหว่างเบลเยียมและสวีเดนที่สนามกีฬา King Baudouin ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 หลังจากการ “โจมตี” ที่มุ่งเป้าไปที่พลเมืองสวีเดน เกิดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ (ภาพโดย JOHN THYS / AFP)