Opinion: นี่คือสิ่งที่ทำให้อิสราเอลกลัวปาเลสไตน์ที่สุด

Opinion: นี่คือสิ่งที่ทำให้อิสราเอลกลัวปาเลสไตน์ที่สุด
มันร้ายยิ่งกว่ากระสุนปืน อิสราเอลกลัวปาเลสไตน์ที่สุด ผู้นำทั้งสองฝ่ายชี้ว่าคือ"อาวุธที่แข็งแกร่งที่สุด"

นี่คือความเข้าใจผิด คนทั่วไปมักจะคิดว่าอิสราเอลต้องการจะกลืนปาเลสไตน์และต้องการจะยึดดินแดนปาเลสไตน์มาครอบครองทั้งหมด แต่ถึงอิสราเอลจะมีศักยภาพที่จะยึดดินแดนได้ แต่อิสราเอลจะรักษามันไว้ไม่ได้ นี่คือคำตอบจากบทความเรื่อง "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอิสราเอลบุกเข้ามายึดครองฉนวนกาซา? พวกเขาจะทำลายมันโดยไม่ต้องใช้อาวุธ"

นี่คือเหตุผลว่าทำไม

1. อิสราเอลเคยยึดครองฉนวนกาซามาหลายสิบปี และยังมีการปล่อยให้คนยิว (อิสราเอล) ไปตั้งถิ่นฐานในกาซา แต่ในปี 2548 การตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอล 21 แห่งในฉนวนกาซาถูกรื้อถอนโดยไม่มีเงื่อนไข และผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลและกองทัพอพยพออกจากภายในฉนวนกาซา

2. แน่นอนว่า อิสราเอลยังคงควบคุมกาซาเอาไว้ในทางปฏิบัติ มีทั้งการควบคุมการเข้าออกของผู้คนและสิ่งของจำเป็นอย่างเข้มงวด จนทำให้กาซาถูกตั้งฉายาว่าเป็น "คุกกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เพราะอิสราเอลขังชาวกาซาไว้ข้างใน และล้อมด้วยแนวรั้วป้องกันที่เข้มงวดมาก

3. ดูเหมือนว่าอิสราเอลไม่ต้องการให้ชาวปาเลสไตน์ออกมาเพื่อที่ "ก่อการร้าย" ต่อรัฐอิสราเอลและชาวยิว แต่มันมีเหตุผลมากกว่านั้น เหตุผลนั้นหลุดมาจากปากของ เอฮุด โอลเมิร์ต รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล และต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เขาบอกว่า "ผมไม่มีข้อสงสัยในใจว่าอีกไม่นานรัฐบาลอิสราเอลจะต้องแก้ไขปัญหาด้านประชากรศาสตร์ด้วยความจริงจังและแก้ไขอย่างที่สุด"

3. ปัญหาด้านประชากรศาสตร์ (demographic issue) นี่แหละคือสิ่งที่อิสราเอลกังวลกับปาเลสไตน์มากที่สุด มันเปรียบได้กับอาวุธที่มองไม่เห็นที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ปาเลสไตน์ และบ่อนทำลายอิสราเอล และถึงขั้นทำให้อิสราเอล "สิ้นชาติ" ก็ยังได้ โดยที่ปาเลสไตน์ไม่ต้องทำอะไรมาก

4. ก่อนจะอธิบายว่า "ปัญหาด้านประชากรศาสตร์" คืออะไรกันแน่ มาฟังปากคำของผู้นำอิสราเอลกันก่อน เพื่อให้เห็นภาพว่าปัญหานี้ทำให้อิสราเอลกังวลจนถึงขึ้นปกครองกาซาต่อไปไม่ไหว 

5. อาเรียล ชารอน นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้นที่ประกาศถอนตัว (หรือการแยกตัว) ออกจากกาซา กล่าวถึงเหตุผลด้านประชากรศาสตร์ในการปราศรัยต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันแห่งการแยกตัว ดังนี้ "ไม่มีความลับอะไร ... ผมเชื่อและหวังว่าเราจะสามารถยึดเนตซาริมและคฟาร์ดารอม (ชุมชนชาวยิวในปาเลสไตน์) ไว้ได้ตลอดไป"

6. นั่นหมายความอิสราเอลก็ต้องการครอบครองกาซา ทว่า ที่ทำไม่ได้นั้นเขากล่าวว่าก็เพราะ " เราไม่สามารถยึดครองฉนวนกาซาได้ตลอดไป ชาวปาเลสไตน์มากกว่าหนึ่งล้านคนอาศัยอยู่ที่นั่นและเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่าในแต่ละรุ่น" นี่คือเหตุผลของผู้นำอิสราเอลในเวลานั้น 

7. ในขณะที่ ชิมอน เปเรส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า "เรากำลังแยกตัวออกจากฉนวนกาซาเนื่องจากปัญหาด้านประชากรศาสตร์"

8. มาถึงจุดนี้ จะเห็นชัดขึ้นแล้วว่า "ปัญหาด้านประชากรศาสตร์" ก็คือความกังวลของอิสราเอลที่ว่า ถ้ายึดครองกาซาต่อไปในฐานะส่วนหนึ่งของอิสราเอล ประชากรปาเลสไตน์ (ที่ถูกทำให้เป็นพลเมืองอิสราเอล) ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมากกว่าชาวอิสราเอล อย่างที่ นายกรัฐมนตรีชารอนบอกว่า "จะเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่าในแต่ละรุ่น" 

9. ในเวลาที่อิสราเอล "แยกตัว" ออกจากกาซานั้น กาซามีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี ประชากรในนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว ซึ่งยิ่งทำให้อิสราเอลกังวลใจหนักเข้าไปอีก มิหนำซ้ำ อัตราการเกิดของประชากรอิสราเอลยังต่ำกว่าปาเลสไตน์ แม้ว่าอัตราการเกิดของอิสราเอลจะอยู่ที่ 19.7 คน/ประชากร 1,000 คน ซึ่งสูงมากแล้ว แต่อัตราการเกิดของชาวปาเลสไตน์อยู่ที่ 27.7 คน/ 1,000 คน

10. พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้ ประชากรชาวยิวในอิสราเอลเกิดน้อยลงมาก แต่ประชากรอาหรับของปาเลสไตน์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ถ้าหากอิสราเอลคิดจะยึดครองปาเลสไตน์มาเป็น "ประเทศอิสราเอลทั้งหมด" แทนที่คนยิวจะได้ปกครองประเทศ จะกลายเป็นคนอาหรับที่ปกครองประเทศแทน

11. เพราะอิสราเอลเป็นประเทศประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อประชากรปาเลสไตน์ถูกทำให้เป็นชาวอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ก็จะมีจำนวนมากกว่า และจะมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่า เรื่องนี้คือความกังวลที่ทำให้ผู้นำอิสราเอลต้องถอนตัวจากกาซา และพยายามที่จะควบคุมให้คนปาเลสไตน์ให้อยู่กับที่

12. ความกังวลนี้ เอฮุด โอลเมิร์ต อธิบายไว้ว่า "ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สนใจวิธีแก้ปัญหาแบบการเจรจาให้มีการตั้งสองรัฐ เนื่องจากพวกเขาต้องการเปลี่ยนแก่นแท้ของความขัดแย้งจากกระบวนทัศน์แอลจีเรียไปเป็นกระบวนทัศน์ของแอฟริกาใต้" 

13. นั่นหมายความว่า ชาวปาเลสไตน์ไม่ต้องการแยกออกเป็นสองรัฐ คือรัฐของชาวอิสราเอล และรัฐของชาวปาเลสไตน์ แต่ต้องการรัฐเดียวที่มีคนทั้งสองเชื้อชาติ เพราะอะไร? โอลเมิร์ต เชื่อว่า เพราะปาเลสไตน์เลิกคิดที่จะต่อสู้เพื่อเอกราช (อย่างที่เขาหมายถึง "กระบวนทัศน์แอลจีเรีย" ซึ่งหมายถึงการที่แอลจีเรียต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ได้เอกราชจากฝรั่งเศส) 

14. แต่ปาเลสไตส์ต้องการจะเป็นแบบแอฟริกาใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งแอฟริกาใต้เคยเป็นแบบที่อิสราเอลทำกับปาเลสไตน์ คือ คนผิวขาวส่วนน้อยมีอำนาจสั่งให้คนผิวดำจำนวนมากถูกกีดกัน ต้องถูกบังคับให้มีสถานะด้อยกว่า แต่หลังจากการต่อสู้แบบประชาธิปไตย คนผิวดำมีอำนาจเหนือกว่าในที่สุด เพราะมีจำนวนมากกว่านั่นเอง

15. ผู้นำอิสราเอลเชื่อว่า ปาเลสไตน์จะเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ "จากการต่อสู้กับ 'ผู้ยึดครอง' ตามโวหารของพวกเขา ไปเป็นการต่อสู้เพื่อหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง แน่นอนว่านั่นคือการต่อสู้ที่สะอาดกว่ามาก การต่อสู้ที่ได้รับความนิยมมากกว่า และท้ายที่สุดก็เป็นการต่อสู้ที่ทรงพลังกว่ามาก สำหรับเรา มันจะหมายถึงการสิ้นสุดของรัฐยิว" 

16. จากคำพูดนี้ชัดเจนแล้วว่า อิสราเอลกลัวว่าจำนวนประชากรชาวอาหรับหรือชาวปาเลสไตน์จะเพิ่มมากขึ้นจนมากกว่าชาวยิว และผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ชาวอาหรับก็จะมีสิทธิ์โหวตมากกว่า และอาจจะโหวตให้ล้มรัฐอิสราเอล เพื่อสถาปนารัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาแทน การต่อสู้แบบนี้ ไม่มีใครเถียงได้ว่าไม่ชอบธรรม

17. ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาตามคำพูดของ โอลเมิร์ต คือ "เพิ่มจำนวนชาวยิวให้มากที่สุด ลดจำนวนชาวปาเลสไตน์ให้มากที่สุด" และ "เราอาจจะต้องแยกตัวโดยฝ่ายเดียว" นั่นคือ อิสราเอลต้องเต็มใจที่จะแยกตัวเองจากปาเลสไตน์โดยไม่ต้องรอให้ปาเลสไตน์ร้องขอ เพราะถ้าไม่แยกกันอยู่ มีหวังถูกประชากรปาเลสไตน์ครอบงำจนสิ้นชาติ

18. นับแต่ตอนนั้นถึงวันนี้ อิสราเอลจึงกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่มีอัตราการเกิดสูงมาก และยังสูงกว่าอาหรับบางชาติด้วยซ้ำ นั่นก็เพราะถ้าปล่อยให้อัตราการเกิดต่ำ ประชากรยิวจะถูกท่วมท้นด้วยชาวอาหรับ แถมยังจะไม่มีกองหนุนให้กองทัพ 

19. ในขณะที่ปาเลสไตน์ แม้จะมีอัตราการเกิดสูง แต่อัตราการตายของทารกก็สูงพอสมควร คือ ทารกเสียชีวิต 12.8 คน ต่อการเกิด 1,000 คน ขณะที่อิสราเอล มีอัตราทารกเสียชีวิตแค่ 2.2 คน ต่อการเกิด 1,000 คน เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับสวัสดิภาพชีวิตที่ต่างกันลิบลับของคนสองกลุ่มด้วย 

20. แต่เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ ถึงแม้ว่าอิสราเอลจะพยายามปั๊มประชากรให้มากเข้าไว้ แต่ปาเลสไตน์ก็มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในอิสราเอลเองก็มีทั้งฝ่ายที่เชื่อว่าปัญหาประชากรคือระเบิดเวลาของชาติ แต่บางคนก็ยกสถิติมาชี้ว่า "ไม่มีหรอกระเบิดเวลาประชากร" 

สรุป
แต่เขาอาจจะลืมไปว่าคนอิสราเอลกลุ่มที่มีลูกมากที่สุด คือพวก ยิวสายเคร่งสุดขีด (Ultra-Orthodox Jews) ซึ่งไม่ทำงานเหมือนคนทั่วไป ไม่เป็นทหาร เพราะมุ่งแต่ศึกษาศาสนา แถมกลุ่มนี้บางพวกยังต่อต้านรัฐอิสราเอลด้วย เพราะถือว่า "พระเจ้ายังไม่อนุญาตให้ชาวยิวกลับมาดินแดนบรรพบุรุษ" นั่นคือห้ามชาวยิวกลับไปตั้งรัฐของตัวเองในดินแดนปาเลสไตน์ 

ในขณะที่ ยัสเซอร์ อาราฟัตผู้นำองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ผู้ล่วงลับก็เชื่อในแบบของเขา ถึงกับเคยลั่นวาจาไว้ว่า  “มดลูกของหญิงอาหรับ คืออาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดของผม”

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

ภาพประกอบข่าว - เด็กหญิงชาวปาเลสไตน์อุ้มแมวขณะที่เธอตรวจสอบความเสียหายหลังจากการทิ้งระเบิดของอิสราเอลในเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566  (Photo by SAID KHATIB / AFP)

TAGS: #อิสราเอล #ปาเลสไตน์ #ฉนวนกาซา