Uniqlo นำร่องเอกชนขึ้นค่าจ้างพนักงาน ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไร

Uniqlo นำร่องเอกชนขึ้นค่าจ้างพนักงาน ส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไร
Uniqlo ขึ้นเงินเดือนพนักงาน สัญญาณดีรายได้ขั้นต่ำในญี่ปุ่่น ดันเอกชนรายอื่นขึ้นเงินเดือนตาม

ฟาสต์ รีเทลลิง (Fast Retailing Co Ltd) บริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้ายูนิโคล่ (Uniqlo) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า บริษัทเตรียมขึ้นค่าจ้างพนักงานมากถึง 40% ถือเป็นสัญญาณดีที่สะท้อนว่าระดับเงินเดือนขั้นต่ำของญี่ปุ่นอาจเริ่มขยับตัว หลังจากที่ระดับเงินเดือนขั้นต่ำของญี่ปุ่นนิ่งมาหลายทศวรรษจากภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจ และการลดภาระค่าใช้จ่าย 

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า การขยับขึ้นเงินเดือนขั้นครั้งนี้ดูเหมือนจะเพื่อรองรับการต่อรองค่าจ้างแรงงานประจำปี ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แม้ว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นจะยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มอัตราค่าจ้างในระดับเดียวกัน ข่าวการประกาศขยับขึ้นค่าจ้างของยูนิโคล่ส่งผลให้หุ้นของฟาสต์ รีเทลลิ่งปิดตัวสูงขึ้น 1.4% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีหุ้นนิกเคอิ ที่ปิดตัวบวก 1% เมื่อวันพุธที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา

ท่ามกลางสภาวะอันผันผวนของสภาพเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นเคยกล่าวเรียกร้องหลายครั้งให้บรรดาเอกชนเพิ่มค่าจ้างพนักงาน เนื่องจากราคาสินค้าและต้นทุนค่าครองชีพหลายอย่างสูงขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกกำลังเผชิญความท้าทาย

เมื่อเทียบกับบรรดาชาติพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ข้อมูลปี 2021 พบว่ารายจ่ายประชากรต่อหัวของญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 39,711 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ด้วยกัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 51,607 เหรียญสหรัฐ ตัวเลขรายจ่ายประชากรต่อหัวของญี่ปุ่นถือว่าขยับเปลี่ยนแปลงน้อยมากนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990

ทาโร ไซโตะ นักวิจัยจากสถาบัน NLT กล่าวว่า กรณีของบริษัทฟาสต์ รีเทลลิง ที่ขึ้นค่าจ้าไม่ได้สะท้อนว่าบริษัทเอกชนญี่ปุ่นแห่งอื่น ๆ จะทำตามได้ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือนอกเหนือจากฟาสต์ รีเทลลิงแล้วที่ผ่านมา มีหลายบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ เพิ่มอัตราการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวม

โฆษกของฟาสต์รีเทลลิงระบุว่า การขยับขึ้นค่าตอบแทนพนักงานนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบอย่างน้อย 20 ปีที่บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจร้านเสื้อผ้ามากกว่า 3,500 แห่งทั่วโลก ในการปรับค่าตอบแทนทั่วทั้งกลุ่มบริษัท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รูปแบบการทำงานของบริษัทและค่าตอบแทนของพนักงาน อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั่วทั้งโลก ประกอบกับมีความจำเป็นเร่งด่วนในการขึ้นค่าจ้างในญี่ปุ่น ซึ่งยังคงมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ยในระดับต่ำกว่าหลายประเทศ


ตั้งแต่เดือนมีนาคม พนักงานใหม่จะได้รับค่าจ้างราว 300,000 เยน ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 255,000 เยนในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ส่วนตำแหน่งผู้จัดการร้านจะเพิ่มขึ้นประมาณ 36% เป็น 390,000 เยนต่อเดือน


โอดาชิ คูมาซารินิ นักวิเคราะห์จาก Lightstream Research มองว่า การปรับค่าจ้างของยูนิโคล่ จะเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่สงผลให้ภาคเอกชนญี่ปปุ่นรายอื่นต้องปรับตัว ทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดอัตราเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่ตึงตัวในญี่ปุ่นจากปัญหาค่าจ้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สอดคล้องกับก่อนหน้านั้นที่บริษัท Suntory Holdings เคยกล่าวว่า กำลังหาแนวทางพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างอีก 6% เช่นเดียวบริษัท Honda Motor ก็เคยเผยว่ามีแนวโน้มจะขึ้นค่าแรงในเชิงรุกเช่นกัน

 

TAGS: #รายได้ #เงินเดือน #ญี่ปุ่น #ค่าครองชีพ #เงินเฟ้อ #บริษัทเอกชน