เมื่ออาหรับหันหลังให้ปาเลสไตน์ อ่านแล้วจะเข้าใจปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ คืออะไรกันแน่ (ตอนที่ 2 )
บทความนี้ต่อเนื่องมาจากตอนที่ 1 เรื่อง "อ่านแล้วจะเข้าใจ เบื้องลึกอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตอนที่ 1 "มันไม่ใช่เรื่องศาสนา"
ความเดิมจากตอนแรก เราอธิบายให้เข้าใจว่าปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ทำไมถึงไม่ใช่ปัญหาด้านศาสนา แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องการเมือง ในตอนที่ 2 จะอธิบายต่อไปว่า เพราะผลประโยชน์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันในหมู่ชาติอาหรับ ทำให้ปัญหาปาเลสไตน์จึงแก้ไม่ตกเสียที
ในตอนที่แล้ว เราจบลงที่ข้อที่เก้า ซึ่งบอกว่ารัฐอิสราเอลเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะ "ชาตินิยมยิว" ไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนาของคนยิว ชาตินิยมยิวแข็งแกร่งขึ้นมาได้เพราะคนยิวที่อพยมาปาเลสไตน์วางระบอบการปกครอง ระบบสวัสดิการ และอุดมการณ์ทางการเมืองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่ถอดแบบมาจากยุโรป ในขณะที่คนอาหรับยังสร้าง "รัฐชาติ" ของตัวเองได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และนี่คือข้อได้เปรียบของอิสราเอล
ข้อสิบ ในเมื่อคนยิวมีชาตินิยมของตัวเองได้ พวกอาหรับในปาเลสไตน์ก็มีชาตินิยมของตัวเองเหมือนกัน นั่นคือ "ชาตินิยมอาหรับ" สิ่งที่พิเศษออกไปก็คือ ชาตินิยมอาหรับครอบคลุมทั้งดินแดนปาเลสไตน์ ประเทศจอร์แดน อียิปต์ ซีเรีย อิรัก และอื่นๆ เมื่อปาเลสไตน์ถูกชาตินิยมยิว "รังแก" คนอาหรับทั้งมวลจึงมีพันธะต้องร่วมกันปกป้อง จึงเป็นที่มาของ "สงครามอาหรับ-ยิว ปี 1948" เมื่อประเทศอาหรับยกทัพมาตีอิสราเอลพร้อมกัน แต่ก็พ่ายไปเพราะด้อยกว่าในเรื่องการรบ และยังไม่พร้อมในเรื่องความเป็นชาติที่ปึกแผ่น
ข้อสิบเอ็ด แต่เอาเข้าจริง ชาตินิยมอาหรับเกิดขึ้นมาไม่ใช่ปฏิกิริยาจากการที่คนยิวอพยพเข้ามา "แย่งแผ่นดิน" ของคนอาหรับในปาเลสไตน์ แต่มันเกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่ชาวยิวจะเข้ามาอยู่ในปาเลสไตน์กันมากมาย สาหตุมาจากคนอาหรับรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องกอบกู้ศักดิ์ศรีของคนอาหรับคืนมา หลังจากที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์กมานานหลายร้อยปี เมื่อจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลง ชาตินิยมอาหรับก็เกิดขึ้นมา และเมื่อออตโตมันสิ้นสุดลง และบริเตนหรืออังกฤษเข้ามาปกครองแทน อังกฤษก็สนับสนุนชาตินิยมอาหรับด้วย เพราะจะได้บั่นทอนอิทธิพลของออตโตมันลง และอาหรับแต่ละท้องถิ่นจะได้ปกครองตนเองในท้ายที่สุด
ข้อสิบสอง ดังนั้นบริเตนหรือสหราชอาณาจักร จึงมีส่วนทั้งการสร้างชาตินิยมยิว (ไซออนิสต์และรัฐอิสราเอล) และชาตินิยมอาหรับ (ประชาชาติอาหรับต่างๆ) สิ่งที่แตกต่างข้อเดียวคือ ในขณะที่ชาตินิยมยิวไม่อิงกับศาสนา แต่ชาตินิยมอาหรับยุคแรกๆ อิงกับศาสนาค่อนข้างมาก ถึงกับบอกว่า "ภาษาอาหรับและอิสลามคือเสาหลักของชาติ" และด้วยเหตุผลเรื่องศาสนา ทำให้ชาวอาหรับจึงเป็นปฏิปักษ์กับชาวยิว อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว เพราะปัญหาทั้งหมดทั้งมวลมาจากเรื่องการเทือง ชาตินิยมอาหรับจึงต้องให้น้ำหนักกับเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าศาสนา
ข้อสิบสาม หลังจากที่ตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมา ชาติอาหรับยกทัพกันมาตีอิสราเอล แต่เพราะความไม่สามัคคีกันของอาหรับ เนื่องจากแย่งกันชิงดีชิงเด่นกันเองในทางการเมือง และบางชาติยังเจรจาต่อรองกับอิสราเอลด้วยเพื่อหวังดินแดนเพิ่มเติม เพราะความไม่มีน้ำหนึ่งใจเดียวในหมู่คนอาหรับด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างต้องการตั้งประเทศของตัวเอง และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น อิรัก ที่เคยเป็นแกนนำชาตินิยมอาหรับ ต่อมาเน้นนโยบาย "อิรักมาก่อน" (Iraq first) นั่นหมายความว่า เสาหลักของชาตินิยมอาหรับ คือศาสนาถูดลดทอนบทบาทลงมา เพราะคนอาหรับอิรักนั้นมีทั้งคนมุสลิมซุนนี ชีอะห์ คนคริสต์ และชาวเคิร์ด หากต้องการให้ชาติไม่แตกเป็นเสี่ยง อิรักจะต้องลดความเป็นอาหรับนิยมลงไป
ข้อสิบสี่ ชาตินิยมอาหรับที่อิงกับศาสนาจึงสั่นคลอนง่ายกว่าชาตินิยมยิวที่เน้นที่ "คนยิว" ไม่ว่าจะเป็นยิวจากแห่วหนไหนและเชื่ออะไรก็ตาม และอุดมการณ์ของอาหรับสั่นคลอนหนักเข้าไปอีก เมื่อประเทศอาหรับเริ่มเป็นรัฐทางโลก (Secular state) พร้อมกับแยกศาสนาออกจากการเมืองมากขึ้น เมื่อแยกศาสนาออกจากการเมือง กลุ่มเคร่งศาสนาก็ไม่พอใจ และมองว่าแนวคิดชาตินิยมไม่สอดคล้องกับหลักอิสลาม กลุ่มเคร่งศาสนาจะเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น บางกลุ่มก็ติดอาวุธมีแนวคิดหัวรุนแรง ชาตินิยมอาหรับจะล่มลงในทศวรรษที่ 70 เมื่ออียิปต์และอิสราเอลมีสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ถือเป็นชาติอาหรับแรกที่ทำแบบนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างตระหนักว่า รบกันไปก็ไม่ชนะเด็ดขาด
ข้อสิบห้า ก่อนหน้านี้จอร์แดนยอมรับว่าคนปาเลสไตน์คือก็คือคนจอร์แดนเหมือนกันและยังสนับสนุนกลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ของยัสเซอร์ อาราฟัต ประหนึ่งเป็นกองกำลังของตนเอง อาหรับทั้งสองกลุ่มนี้เกือบจะได้เป็นสมาพันธรัฐหรือดินแดนเดียวกัน แต่เกิดความขัดแย้งขึ้น เพราะ PLO ต้องการสังหารกษัตริย์จอร์แดนและตั้งสาธารณรัฐขึ้นมา ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ผลก็คือ PLO พ่ายแพ้แล้วถูกไล่ไปอยู่เลบานอน และหลังจากนั้นจอร์แดนก็ห่างเหินกับปาเลสไตน์จนยากจะเยียวยา นี่คือตัวอย่างว่า ความเป็นอาหรับและความเป็นมุสลิมไม่ได้ทำให้สามัคคีกันเลย เพราะเมื่อเห็นต่างทางการเมืองก็พร้อมที่จะโค่นอีกฝ่ายลงได้
ข้อสิบหก ในช่วงทศวรรษที่ 80 ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นศาสนาถูกมองข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีขัดแย้ง เช่น ในช่วงที่อิหร่าน (มุสลิมชีอะห์ ไม่ใช่อาหรับแต่เป็นชาวเปอร์เซีย และเป็นรัฐอิสลามเคร่งครัด) ทำสงครามกับอิรัก (มุสลิมซุนนี เป็นผู้นำกลุ่มอาหรับ แต่เป็นรัฐทางโลก) ปรากฏว่า อิสราเอลให้ความช่วยเหลือกับอิหร่าน เพราะศัตรูของอิสราเอลคือชาตินิยมอาหรับ ไม่ใช่ศาสนาของชาวอาหรับ
ข้อสิบเจ็ด อิสราเอลกับอิหร่านเพิ่งจะกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตหลังจากอิสราเอลรุกรานเลบานอนเพื่อจัดการกับกลุ่ม PLO ของปาเลสไตน์ที่ปักหลักโจมตีอิสราเอลจากที่เลบานอน การรุกรานเลบานอน ทำให้กลุ่มมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอนไม่พอใจอิสราเอลมากขึ้น และเนื่องจากอิหร่านเป็นแกนนำมุสลิมชีอะห์ อิร่านจึงหันมาสนับสนุนกลุ่มเหล่านั้น เช่น ฮิซบุลลอฮ์ และฮิซบุลลอฮ์ต่อมาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮามาส อิหร่านจึงสนับสนุนฮามาสไปด้วย
ข้อสิบแปด นี่คือความซับซ้อนและสับสนของปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์ มาถึงจุดนี้ เราจะพบว่า ชาตินิยมอาหรับแทบไม่เหลือแล้ว แต่ชาตินิยมยิว (หรือไซออนิสต์) ยังคงแข็งแกร่ง ประเทศอาหรับหันมาสานสัมพันธ์กับอิสราเอลแทนที่จะเป็นศัตรูกัน แม้แต่ซาอุดีอาระเบียที่ถือเป็นมหาอำนาจอาหรับ แต่เพื่อคานอำนาจกับอิหร่านที่ไม่ใช่อาหรับและนับถือต่างนิกาย ซาอุดีอาระเบียจึงหันมาร่วมมือกับอิสราเอลอย่างลับๆ เพื่อสร้างดุลอำนาจในตะวันออกกลาง
ข้อสิบเก้า ในช่วงก่อนเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นช่วงที่ซาอุดีอาระเบียและมหาอำนาจอาหรับเริ่มหมางเมินปาเลสไตน์ บางชาติถึงขนาดไม่พอใจปาเลสไตน์อย่างมาก เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ชาติอาหรับใกล้ๆ ก็จะอ้างเหตุผลต่างๆ นานาที่จะไม่รับผู้อพยพปาเลสไตน์ เช่น อ้างว่าเพราะกลัวกลุ่มติดอาวุธอย่างฮามาสจะแทรกซึมเข้ามาก่อกวนในบ้านเมืองตน ในเวลาเดียวกัน ชาติอาหรับก็เริ่มหันมาสานสัมพันธ์ทางเป็นทางการกับอิสราเอล แม้แต่ซาอุดีอาระเบียก็กำลังจะเริ่มกระบวนสร้างสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการกับอิสราเอล
ข้อยี่สิบ นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2010 ซาอุดีอาระเบียเริ่มห่างเหินและช่วยเหลือปาเลสไตน์ช้าลง อีกทั้งยังระแวงว่าผู้นำปาเลสไตน์กลุ่ม PA หรือ ฟะตะฮ์ ที่เป็นกลุ่มสายรัฐทางโลกในเครือกลุ่ม PLO และเป็นสายกลางมากกว่ากลุ่มฮามาส จะไปเข้าหาอิหร่าน จากเดิมที่ซาอุฯ ต้องกังวลกับฮามาสที่เป็นพวกอิหร่านอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลจึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญของมหาอำนาจอาหรับอีกต่อไป สิ่งสำคัญกว่าคือการชิงอำนาจกับ
สรุป
นี่คือ ความซับซ้อนของสถานการณ์ที่ทั้งหมด เราจึงเห็นคนยิวต่อต้านคนยิวด้วยกัน เห็นคนอาหรับทะเลาะกันเพราะชิงดีชิงเด่น คนมุสลิมที่สู้กันเองเพราะต่างนิกาย คนปาเลไสตน์ที่มีทั้งฝ่ายยอมอ่อนข้อและฝ่ายที่จะสู้ด้วยอาวุธอย่างเดียว
และเรายังเห็นชาติอาหรับและชาติมุสลิมห่างเหินกับฝ่ายปาเลสไตน์แล้วหันไปคบอิสราเอล ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นอย่างลับๆ มาหลายสิบปีแล้ว ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างดุลอำนาจที่คานกับอิหร่าน เราจะเห็นว่ามหาอำนาจอาหรับมองอิหร่านเป้นภัยคุกคามยิ่งกว่าอิสราเอลเสียอีก
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส ปี 2023 ปรากฏว่า โลกอาหรับเงียบกริบ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในสายซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ มีเพียงแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ไม่มีการใส่อารมณ์รุนแรง ไม่มีการข่มขู่อิสราเอล โดยรวมแล้วเป็นกลาง (neutral) นอกจากนี้ กลุ่มอาหรับสายซาอุฯ และอียิปต์ยังเลิกที่จะเรียกกองทัพอิสราเอลในทางลบว่า "กองกำลังผู้รุกราน" แต่เรียกว่ากองกำลังป้องกันอิสราเอลเฉยๆ
แตกต่างอย่างชิ้นเชิงกับอิหร่านที่ออกสื่อประณามอิสราเอลกับขู่เรื่องสงครามบานปลายแบบรายวัน เช่นเดียวกับชาติอาหรับที่เป็นมิตรกับอิหร่าน เช่น โอมานและกาตาร์
ปัญหาอิสราเอลและปาเลสไตน์จะมองด้วยมิติศาสนาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันถูกบงการด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าศาสนา และยังโยงใยกับการเมืองในตะวันออกกลาง ซึ่งชี้นำด้วยการเมืองเป็นหลัก
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
ภาพประกอบข่าว - TOPSHOT - ผู้ประท้วงถือแผ่นป้ายที่มีตัวอักษรอ่านว่า "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" ระหว่างการชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งจัดโดยสถานทูตปาเลสไตน์ในบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2023 เพื่อตอบสนองต่อสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (ภาพโดย Andrei Pungovschi / AFP)