กลัวตัวประกันโดนลูกหลง อิสราเอลเจอแรงกดดัน อยากจะบุกฉนวนกาซาแต่ยังหาจังหวะไม่ได้
จากบทวิเคราะห์ของ AFP เรื่อง "การรุกรานฉนวนกาซาของอิสราเอลล่าช้าเนื่องจากข้อพิพาท แรงกดดันจากนานาชาติ"
อิสราเอลยังไม่ได้เปิดการโจมตีภาคพื้นดินในฉนวนกาซา แม้ว่าจะประกาศว่าใกล้ที่จะบุกแล้วก็ตาม จากรายงานของสื่อ และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความล่าช้าเป็นผลมาจากแรงกดดันระหว่างประเทศ ความแตกแยกทางการเมืองและการทหาร และความกังวลเกี่ยวกับตัวประกัน
สิบแปดวันหลังจากการโจมตีที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส ขบวนการอิงศาสนาอิสลามในปาเลสไตน์ที่ปกครองฉนวนกาซา จนถึงตอนนี้ กองทัพอิสราเอลกำลังโจมตีดินแดนกาซาอย่างไม่ลดละ
แต่นอกเหนือจากการรุกเข้าไปในกาซาที่ค่อนข้างเล็กน้อยแล้ว การรุกรานทางบกที่อิสราเอลคุยว่าจะเกิดขึ้นนั้น จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เกิดขึ้น
“เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นระหว่าง (นายกรัฐมนตรีอิสราเอล) เบนจามิน เนทันยาฮู และ IDF (กองทัพ)” นาฮุม บาร์เนีย นักเขียนบทบรรณาธิการระบุในหนังสือพิมพ์รายวัน Yedioth Ahronoth
“รัฐบาลกำลังประสบปัญหาในการตัดสินใจที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ” บาร์เนีย ระบุ
ตามแหล่งข้อมูลของรัฐบาลและกองทัพที่ บาร์เนี ยอ้าง "เนทันยาฮูโกรธพวกนายพลและตำหนิพวกเขาในสิ่งที่เกิดขึ้น" ในเหตุการณ์ที่อิสราเอลเรียกว่า "ความล้มเหลวในวันที่ 7 ตุลาคม"
ในวันนั้น อิสราเอลต้องตกตะลึงหลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกข้ามชายแดนฉนวนกาซาและก่อเหตุอาละวาด ซึ่งเจ้าหน้าที่อิสราเอลกล่าวว่าสังหารผู้คนไปแล้วกว่า 1,400 คน
พวกเขายังจับตัวประกันไปมากกว่า 220 คนในการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล ซึ่งกระตุ้นให้อิสราเอลต้องทิ้งระเบิดฉนวนกาซาอย่างดุเดือด ซึ่งเจ้าหน้าที่ฮามาสกล่าวว่าคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 5,791 ราย
นักการเมืองฝ่ายซ้ายและขวาของการเมืองกระแสหลักของอิสราเอลต้องมาสามัคคีกันจากเหตุครั้งนี้
“ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับปฏิบัติการเหล่านี้กำลังสร้างความตึงเครียด โดยเฉพาะระหว่างนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และรัฐมนตรีกลาโหม ยูอาฟ กัลลันต์” อามอส ฮาเรล คอลัมนิสต์เขียนในหนังสือพิมพ์ Haaretz Daily เมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นสื่อที่อิงการเมืองฝ่ายซ้าย
ส่วนสถานีวิทยุของรัฐตั้งข้อสังเกตถึง "ความขัดแย้งระหว่างตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและระดับสูงในกองทัพ" พร้อมข้อกล่าวหาร่วมกันว่าล้มเหลวในการป้องกันการโจมตีนองเลือดโดยกลุ่มติดอาวุธฮามาส
- 'ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน' -
นักวิจารณ์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าแถลงการณ์อย่างเป็นทางการมักกล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของทัศนะที่แตกต่างกันมาก่อนของคนระดับสูง แทนที่จะสะท้อนถึงความสามัคคี ตรงกันข้ามมันกลับเผยให้เห็นว่าแนวร่วมนี้เป็นเรื่องจอมปลอม
“นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และเสนาธิการของ IDF กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดและเต็มที่ตลอดเวลา เพื่อนำรัฐอิสราเอลไปสู่ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกลุ่มฮามาส” แถลงการณ์เมื่อวันอังคารจากสำนักงานสื่อมวลชนของรัฐบาล ระบุเมื่อวันอังคาร
“มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และเสนาธิการของ IDF ความสามัคคีของเป้าหมายนั้นชัดเจน”
แพทริค เบตตาเน ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย (ICT) ของอิสราเอล ยืนยันว่า (ความชัดแย้งนี้) คือ "ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการรุกภาคพื้นดิน"
“แต่ความจริงที่ว่ามีคนจับตัวประกันในฉนวนกาซาทำให้ทุกอย่างยุ่งยากขึ้น” เขากล่าว
“อิสราเอลกำลังรอดูว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไรก่อนที่จะดำเนินการ (รุกฉนวนกาซา)”
ญาติของผู้ที่ถูกจับตัวและนำตัวไปยังฉนวนกาซาได้จัดการเดินขบวนประท้วงทุกวันนอกบ้านของรัฐมนตรีกลาโหม กัลลันท์ ในกรุงเทลอาวีฟ
อากิวา เอลดาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอิสราเอล ยืนยันว่า "หลังจากที่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันที่เกิดจากการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ครั้งนี้ บีบี (เนทันยาฮู) และนายพลเริ่มคิดแตกต่างออกไป"
เขากล่าวว่าการปรากฏตัวในอิสราเอลของเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจหมายถึงการเสียชีวิตของตัวประกัน รวมถึงชาวอเมริกันด้วย
เอลดาร์กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้ต้องพิจารณาแง่มุมกันใหม่เรื่องคำมั่นสัญญาของทั้งเนทันยาฮูและกัลลันท์ที่ว่ากลุ่มฮามาสจะถูกกำจัดให้สิ้นซากเมื่อสงครามสิ้นสุดลง
- คำพูดที่ทำให้ 'ซึ้งใจ' -
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการทหารบก เฮอร์ซี ฮาเลวี กล่าวซ้ำในชั่วข้ามคืนว่าเป้าหมายของเขาคือการโค่นล้มกลุ่มฮามาสและผู้นำของกลุ่มโดยสิ้นเชิง
“เราเตรียมพร้อมอย่างดีสำหรับการปฏิบัติการภาคพื้นดินในภาคใต้ (ของอิสราเอล” เขากล่าวกับทหาร ตามคำแถลงที่ออกโดยโฆษกกองทัพ
นักวิเคราะห์การเมือง แดเนียล เบนซิมอน กล่าวว่า "จะไม่เห็นด้วยหรือไม่ เป็นความจริงที่ว่าพวกอเมริกันและพวกยุโรปเดินทางมายังอิสราเอลเพื่อหว่านล้อมอิสราเอลด้วยคำพูดที่ไพเราะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการโจมตีภาคพื้นดิน"
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กลายเป็นผู้นำต่างประเทศคนล่าสุดที่เยือนภูมิภาคนี้และพบปะกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูของอิสราเอล
“ประชาคมระหว่างประเทศเกรงว่าปฏิบัติการภาคพื้นดินจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่อาจกลืนกินทั่วทั้งภูมิภาค และอาจลามออกไปไกลด้วยซ้ำ” เบนซิมอนกล่าว
ชาวอิสราเอลรู้สึกซาบซึ้งกับการแสดงความเห็นอกเห็นใจและความสามัคคีจากผู้นำหลายท่านที่เยือนประเทศนี้ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่จะเสด็จเยือนเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม
มาครงบอกกับชาวอิสราเอลว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ลำพังใน "การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้" แต่เตือนไม่ให้ "ขยายความขัดแย้งนี้"
สำหรับเบนไซมอน "ไบเดนและมาครงพูดให้ซึ้งใจ"
“แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาต้องการหยุดอิสราเอลไม่ให้เข้าไปในฉนวนกาซา และป้องกันไม่ให้อิหร่านเข้าไปพัวพัน” ผ่านทางขบวนการฮิซบอลเลาะห์ชีอะต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน เขากล่าว
ภาพประกอบข่าว
รถถังเมอร์คาวาของอิสราเอลเคลื่อนมาประจำการร่วมกับยานเกราะอื่นๆ ตามแนวชายแดนอิสราเอลติดกับฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ท่ามกลางการสู้รบที่ดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปาเลสไตน์ พลเรือนหลายพันคน ทั้งชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสจากปาเลสไตน์ซึ่งมีฐานอยู่ในฉนวนกาซาบุกโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอลในการโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดสงครามที่อิสราเอลประกาศต่อกลุ่มฮามาสพร้อมกับระเบิดตอบโต้ในฉนวนกาซา (Photo by Aris MESSINIS / AFP)
บทวิเคราะห์จาก
© Agence France-Presse
"Israeli Gaza invasion delayed by disputes, international pressure" By Patrick Anidjar