บรรพบุรุษของ 'ชาดา' คือปาทาน และชาวปาทานอาจเป็นชาวอิสราเอลที่สาบสูญ!

บรรพบุรุษของ 'ชาดา' คือปาทาน และชาวปาทานอาจเป็นชาวอิสราเอลที่สาบสูญ!
บรรพบุรุษของ'ชาดา' ปริศนาชาวปาทาน พวกเขาอาจเป็นชาวอิสราเอลที่สาบสูญ!

สิ่งที่ต้องรู้ก่อน

  • ชาดา ไทยเศรษฐ์ นักการเมืองชื่อดังชาวอุทัยธานี มีเชื้อสายปาทาน ซึ่งอพยพจากปากีสถานมาตั้งรกรากที่อุทัยธานีตั้งแต่รุ่นปู่ โดยปู่ของชาดาเป็นพ่อค้าเนื้อรายใหญ่ของอุทัยธานี
  • ถิ่นฐานของชาวปาทานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถานตอนใต้และตะวันออกและทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ใช้ภาษาในกลุ่มภาษาอิหร่าน อยู่กันแบบสังคมเผ่าตระกูล มีประมาณ 350–400 เผ่าตระกูล
  • ชาวปาทาน (Pathan) มีอีกชื่อว่าปาชทุน (Pashtun) ซึ่งเป็นชื่อที่แพร่หลายกันในระดับสากลมากกว่า ส่วนคำปาทาน เป็นคำในภาษาฮินดีหรือภาษาหลักในอินเดียใช้เรียกคนปาชทุน

ชาวปาทานมาจากไหน?
ปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดก็คือ ชาวปาทานมาจากไหน? มีการเสนอทฤษฎีต่างๆ กันไป ต่อไปนี้คือทฤษฎีที่ถูกกล่าวถึงกัยมาก

1. สืบเชื้อสายมาจากชาวปัขตะ (Pakhta) ซึ่งเป็นคนโบราณที่ระบุในเอกสารโบราณภาษาสันสกฤตและภาษากรีก ชาวปัขตะอาศัยอยู่ในแถบพื้นที่ชายขอบทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือทางตะวันออกเฉียงใต้ของอัฟกานิสถานและปากีสถานตะวันตก
2. สืบเชื้อสายมาจากชาวสะกา (Saka) ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนชาวอิหร่านที่ในอดีตเคยอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าสเตปป์ในแถบเอเชียกลาง และแอ่งทาริม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตซินเจียง ประเทศจีน ไปจนถึงอัฟกานิสถานและปากีสถาน
3. สืบเชื้อสายมาจากชาวเฮฟทาไลต์ (Hephthalites) หรือชาวเอโบดาล ซึ่งเป็นสมาพันธ์ชนเผ่าเร่ร่อนในเอเชียกลาง แอ่งทาริม จนถึงอัฟกานิสถาน ในช่วงปลายยุคโบราณ ระหว่าง ศตวรรษที่ 5 - 8
4. สืบเชื้อสายมาจากชาวราชปุต (Rajput) ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่อาศัยในแถบตะวันตกและตอนเหนือของอินเดีย และยังผสมกับชาวกรีกที่มาปักหลักในแถบอัฟกานิสถานและปากีสถาน หลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพมาถึงอนุทวีปอินเดีย 
5. มีตำนานเล่าขานกันว่ามาชาวปาทานสืบเชื้อสายมาจาก "สิบเผ่าที่สาบสูญ" ของชาวอิสราเอล ซึ่งเป็นชาวยิวโบราณที่ถูกขับไล่ออกมาจากดินแดนอิสราเอล หลังจากที่อิสราเอลถูกพิชิตจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่

ในบรรดาทฤษฎีเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นการตั้งสมมติฐานทางวิชาการ ยกเว้นข้อสุดท้ายที่อิงกับเรื่องเล่าขานโบราณและตำนาน ดังนั้นมันจึงมีความน่าตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าทฤษฎีอื่น เราจึงเลือกที่จะขยายความทฤษฎีสุดท้ายที่บอกว่า "ชาวปาทาน คือชาวอิสราเอลที่สาบสูญไปในยุคโบราณ" (ชาวอิสราเอลโบราณ แม้ว่าจะเป็นชาวยิวเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายถึงประชาชนในรัฐอิสราเอลสมัยใหม่ทุกวันนี้)

ชาวปาทานคือชาวอิสราเอลเผ่าหนึ่ง?
"สิบเผ่าที่สาบสูญ" (Ten Lost Tribes) คือชาวอิสราเอลโบราณ 10 เผ่าจากทั้งหมด 12 เผ่าที่ถูกกล่าวกันว่าถูกเนรเทศออกจากอาณาจักรอิสราเอลหลังจากถูกพิชิตโดยจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ (Neo-Assyrian Empire) เมื่อ 722 ปีก่อนคริสตศักราช หลังจากนั้น ชาวอิสราเอลสามารถกลับมาที่ดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง แต่กลับมาได้เพียง 2 เผ่า คือ เผ่าเยฮุดะห์และเผ่าบินยามีน ที่เหลืออีก 10 เผ่าสูญหายไป

เป็นเวลายาวนานแล้วที่มีความพยายามค้นหาเผ่าทั้งสิบที่สาบสูญไป และมีการค้นพบร่องรอยในบางเผ่าทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย มีการตั้งทฤษฎีที่หลากหลายว่าชนชาตินั้นๆ คือชาวอิสราเอลที่ถูกขับไล่ออกมาจากบ้านเกิดแล้วกลายเป็นคนเผ่าพันธุ์ใหม่ หนึ่งในนั้นคือ ชาวปาทาน

ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโมกุล ซึ่งเคยปกครองอินเดียและปากีสถาน มีนักประวัติศาสตร์บางคนเอ่ยถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพจากอิสราเอลในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 8 ในภูมิภาคโฆรของอัฟกานิสถาน และมีการพบคำจารึกของชาวยิวในภูมิภาคโฆร  

ส่วนคนปาทานเองก็มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่ออิสราเอลสิบสองเผ่าถูกแยกย้ายกันไป เผ่าของโยเซฟ (เป็นชื่อรวมของสองเผ่าคือเผ่าเอปาราอีมและเผ่าเมนัซเซ)  มาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคอัฟกานิสถาน และมีคนปาทานเผ่าหนึ่งชื่อว่าเผ่ายูซุฟไซ (Yusufzai) ซึ่งในภาษาปาทานแปลว่า "บุตรของโยเซฟ" (คำว่ายูซุฟเป็นสำเนียงในภาษาอาหรับของคำว่าโยเซฟ เนื่องจากชาวปาทานนับถือศาสนาอิสลามในภายหลัง)

คนปาทานจากเผ่ายูซุฟไซที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง คือ มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) นักกิจกรรมด้านการศึกษาสตรีชาวปากีสถาน และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2014

นอกจากเผ่าของโยเซฟแล้ว ยังมีรายงานว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของอัฟกานิสถาน คือพระเจ้าซาฮีร์ ชาห์ ซึ่งครองราชย์ในกรุงคาบูลจนถึงปี 1973 อ้างว่าราชสกุลของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากชาวอิสราเอลโบราณเผ่าบินยามีน  

ตำนานเรื่องคนปาทานคือชาวอิสราเอลที่สาบสูญยังถูกเอ่ยถึงโดย อิบน์ บะฏูเฏาะฮ์ (Ibn Battuta) เป็นนักสำรวจชาวมุสลิมจากโมร็อกโก หนึ่งในบรรดานักเดินทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ซึ่งเดินทางมายังเอเชียในศตวรรษที่ 14 และในหนังสือพงศาวดารกษัตริย์อัฟกาน คือหนังสือ "มัคซาน อิ อัฟกานี" หรือ "คลังสมบัติแห่งอัฟกาน" (Makhzan-i-Afghani) ในสมัยศตวรรษที่ 17 ระบุว่า ชาวปาทานคือชาวอิสราเอล ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้อพยพไปทางทิศตะวันออกมายังอัฟกานิสถาน คาดว่าผู้ปกครองที่ว่านี้คือชาวเปอร์เซีย ซึ่งต่อมาสืบทอดดินแดนของจักรวรรดิอัสซีเรีย และมีอำนาจปกครองชาวอิสราเอลในเวลาต่อมา 

โชแซฟ -ปิแอร์ แฟร์เรียร์ (Joseph-Pierre Ferrier) นายทหารชาวฝรั่งเศสที่รับราชการในกองทัพเปอร์เซียเขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์ชาวอัฟกาน" เมื่อปี 1858 ว่าหัวหน้าชนเผ่าปาทานเผ่ายูเซฟไซ ได้ถวายพระคัมภีร์ของชาวยิวที่เขียนเป็นภาษาฮีบรู สิ่งของอื่นๆ ที่เคยใช้ในการบูชาในสมัยโบราณและที่พวกเขาเก็บรักษาไว้ ให้กับกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเปอร์เซีย คือ พระเจ้านาเดอร์ชาห์

แม้แต่ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งนาวนานที่สุดของอิสราเอล คือ ยิตชัก เบน ซวี (Yitzhak Ben-Zvi) ก็ยังเขียนเรื่องชาวปาทานกับชาวยิวเอาไว้ว่า “ชนเผ่าอัฟกานิสถาน ซึ่งมีชาวยิวอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน เป็นชาวมุสลิมที่ยังคงรักษาประเพณีอันน่าทึ่งเกี่ยวกับการสืบเชื้อสายมาจาก (ชาวยิว) สิบเผ่ามาจนถึงทุกวันนี้”

ในปัจจุบัน ตำนานเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการพอสมควร หนึ่งในนั้นคือ ชัลวา เวล (Shalva Weil) นักวิจัยอาวุโสที่มหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ซึ่งเขียนบทความเรื่อง Taliban may be descended from Jews (กลุ่มตอลิบานอาจสืบเชื้อสายมาจากชาวยิว) 

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการร่วมสมัยคนอื่นๆ ที่สงสัยแบบเดียวกัน เช่น ชาห์นาซ อาลี นักวิจัยชาวอินเดียจากสถาบันภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งชาติในมุมไบ ได้รับทุนจากอิสราเอลให้พิสูจน์ทฤษฎีนี้ โดยศึกษาตัวอย่าง DNA ที่เธอรวบรวมจากชาวปาทานในอินเดีย 

ในส่วนของการศึกษา DNA ชาวปาทาน มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ชื่อ  "Afghanistan from a Y-chromosome perspective" (อัฟกานิสถานจากมุมมองของโครโมโซม Y) จากการวิจัยพบว่า โครโมโซมที่มีพ่อแม่เดียว หรือ (haplogroup) ของชาวปาทาน คือ  R1a1a*-M198 ในอัตรา >50% ในขณะที่ชาวยิวกลุ่มอัชเคนาซีมีโครโมโซมนี้ 15.3% 

เรื่องโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better

ภาพ The British Library (Public Domain)

TAGS: #ชาดา #ไทยเศรษฐ์ #ปาทาน #ปากีสถาน #อัฟกานิสถาน