เมื่อปาเลสไตน์บุกกรุงเทพฯ จับตัวประกันเอาไว้ แต่โลกต้องทึ่งกับการต่อรองของไทย

เมื่อปาเลสไตน์บุกกรุงเทพฯ จับตัวประกันเอาไว้ แต่โลกต้องทึ่งกับการต่อรองของไทย
เมื่อปาเลสไตน์บุกกรุงเทพฯ เจอไทยต่อรองแบบเหนือชั้น! จับตัวประกันไว้แต่ต้องยอมปล่อยจนโลกต้องทึ่ง 

มันเริ่มมาจากความแค้น
ปาเลสไตน์มีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม ในอดีตเคยมีกลุ่มที่เรียกว่า "องค์กรกันยายนทมิฬ" หรือ Black September Organization (BSO) ซึ่งชื่อของกลุ่มได้มาจากความขัดแย้งในเดือนกันยายน หรือที่ปาเลสไตน์เรียกว่า "กันยายนทมิฬ" ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2513 เมื่อกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนประกาศปฏิบัติการทางทหารเพื่อตอบโต้กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ตอนนั้นอาศัยดินแดในจอร์แดนเพื่อเคลื่อนไหว แต่กลับพยายามยึดอาณาจักรของพระองค์แล้วเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ ส่งผลให้นักรบชาวปาเลสไตน์หลายพันคนต้องเสียชีวิตและถูกเนรเทศออกจากจอร์แดน 

ขบวนการ BSO จึงเริ่มต้นจากกลุ่มฟะตะฮ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการใหญ่ของปาเลสไตน์ที่ต่อสู้กับการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอล แต่กลายเป็นสมาชิกฟะตะฮ์ที่ตั้งกลุ่ม BSO กลับตั้งใจจะแก้แค้นกษัตริย์ฮุสเซนและกองทัพจอร์แดนก่อนที่จะไปรบกับอิสราเอลเสียอีก ดังนั้นเหยื่อคนแรกๆ ของกลุ่มนี้คือนายกรัฐมนตรีของจอร์แดน คือ วาสฟี ตัล ที่ถูกลอบสังหารด้านนอกโรงแรมในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งจัดการประชุมสันนิบาตอาหรับเมื่อปี พ.ศ. 2514

การนองเลือดเริ่มที่มิวนิก
แต่หลังจากนั้น เป้าหมายของ BSO มุ่งไปที่อิสราเอล และการลงมือที่ที่สะเทือนขวัญชาวโลกที่สุดครั้งหนึ่ง คือ กรณีการสังหารหมู่ที่มิวนิก (Munich massacre) ระหว่างโอลิมปิกฤดูร้อนที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนีตะวันตก เหตุเกิดระหว่าง 5–6 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยสมาชิก 8 คนของ BSO แทรกซึมเข้าไปในหมู่บ้านโอลิมปิก ได้สังหารสมาชิกทีมโอลิมปิกอิสราเอล 2 คน และจับคนอื่นๆ ไปอีก 9 คน ตัวประกัน

ไม่นานหลังจากจับตัวประกันได้ไม่นาน BSO ก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 234 คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำของอิสราเอล รวมทั้งผู้ก่อตั้งกลุ่มกองทัพแดงที่ถูกคุมขังในเยอรมนีตะวันตก ตำรวจเยอรมันตะวันตกซุ่มโจมตีผู้ก่อการร้ายและสังหารสมาชิก BSO ห้าคนจากแปดคน แต่ความพยายามช่วยเหลือล้มเหลวและตัวประกันทั้งหมดถูกสังหาร

ผู้ก่อเหตุที่รอดชีวิต 3 คนถูกจับกุม แต่จะได้รับการปล่อยตัวในเดือนต่อมา หลังเกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ระหว่างเบรุต-อังการา (หรือกรณี Lufthansa Flight 615) ถูกยึดโดยกลุ่มที่เห็นด้วยกับการกระทำของพวก BSO และเรียกร้องให้เยอรมนีตะวันตกปล่อยตัวสมาชิก  BSO ที่ถูกจับไว้หลังการสังหารหมู่ที่มิวนิก ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกยอมทำตาม ส่วนเครื่องบินที่ถูกจี้ก็บินไปยังกรุงตริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย ตัวประกันทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้โจมตีมิวนิคที่ได้รับการปลดปล่อย และได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยจากผู้นำลิเบีย คือ โมอัมมาร์ กัดดาฟี

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2515

มันลามมาถึงกรุงเทพฯ 
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515

สมาชิกกลุ่ม BSO สองคนแทรกซึมเข้าไปในงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นที่สถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อทั้งสองอยู่ข้างในแล้ว อีกสองคนก็ปีนข้ามกำแพงด้วยอาวุธอัตโนมัติ และทั้งสี่คนก็เข้ายึดสถานทูตพี้อมกัน หลังจากยึดสถานทูตได้แล้ว พวก BSO อนุญาตให้คนไทยทั้งหมดออกไป แต่จับชาวอิสราเอล 6 คนเป็นตัวประกัน รวมทั้งชิมอน อาวิมอร์ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชาที่มาเยือนกรุงเทพฯ ด้วย

แต่ ราฮาวัม อามีร์ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยไม่อยู่ที่นั่น

นั่นก็เพราะ เอกอัครราชทูตอิสราเอลและภรรยาของเขากำลังเข้าร่วมในงานพระราชพิธีแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาทแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 

เหตุการณ์นี้จึงเป็นการหักหน้าประเทศไทยกันจะๆ เพราะเกิดในวันสำคัญของชาติไทย และเอกอัครราชทูตอามีร์ และนายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับแจ้งเรื่องการยึดสถานทูตระหว่างช่วงพักกลางงานพระราชพิธีด้วยซ้ำ

กลุ่มติดอาวุธเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ 36 คนออกจากเรือนจำของอิสราเอล พวกเขาขู่ว่าจะระเบิดสถานทูตหากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ภายในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 29 ธันวาคม  

คนรัฐบาลไทยสองคน คือ พล.อ.อ.  ทวี จุลทรัพย์ และพล.จัตวา (บางแห่งระบุว่าตำแหน่งพล.ต.) ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น และขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ)  พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย มุสตาฟา เอล อัสซาวี ได้เจรจาปล่อยตัวตัวประกันและเสนอตัวเองและเจ้าหน้าที่ไทยคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งให้ BSO จับเป็นตัวประกันแทน เพื่อเป็นหลักประกันว่า BSO จะสามารถเดินทางไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้อย่างปลอดภัย 

เหตุการณ์ตอนนี้ นายเชาวน์ สายเชื้อ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เล่าไว้ในบทความรำลึกตอนหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ว่า 

"ผู้ก่อการร้ายได้โยนหนังสือผ่านหน้าต่างสถานทูตออกมาบงการเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลปลดปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายรวม 36 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ก่อการร้ายที่ได้ทำการร้าย มีความผิดฉกรรจ์ทั้งนั้น หากรัฐบาลไม่ยินยอมตามความต้องการ ผู้ก่อการร้ายขู่จะฆ่าตัวประกันทั้งหมดและระเบิดทำลายตัวตึกสถานเอกอัครราชทูตไปพร้อมกัน"

"เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของไทยที่ทำการล้อมบริเวณสถานทูตอิสราเอลไว้ไม่อาจจะเคลื่อนไหวให้ผิดปกติได้ เพราะกลัวจะมีการเข้าใจผิดและมีการระเบิดทำลายสถานทูตและชีวิตตัวประกัน"

"ตอนแรก ๆ ผู้ก่อการร้ายปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะไม่ยอมเปิดการติดต่อเจรจากับฝ่ายไทยหรือฝ่ายใด ๆ ยทืนยันให้อิสราเอลปลดปล่อยผู้ก่อการร้ายทั้ง 36 คน โดยด่วนทันที"  

"อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามเข้าไปหาทางแก้ปัญหาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในกรณีนี้คือ พลอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพลจัตวา ชาติชาย ชุณหวัณ (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ทั้งสองรัฐมนตรีสามารถเหลี่ยกล่อมให้ผู้ก่อการร้ายยอมเจรจาด้วย"

"พลจัตวาชาติชาย ได้ดึงเอานาย Mustapha el Assawy เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำไทย เข้ามาช่วยเหลือด้านเจรจาอีกด้วย เพระาอียิปต์มีท่าทีเป็นกลางในกรณีพิพาทระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มอาหรับ"

"ด้วยเชิงการทูตและการดำเนินการอันชาญฉลาดของฝ่ายไทย ในที่สุดทำให้ผู้ก่อการร้ายตกลงที่จะปลอ่ยตัวประกันทังหมด แต่มีเงื่อนไขอันสำคัญว่า ต้องให้ พลจัตวาชาติชาย และพลอากาศเอกทวีเป็นตัวประกัน และให้ไทยจัดเครื่องบินพิเศษพาคณะทั้งหมดเดินทางไปกรุงไคโร อียิปต์ พลจัตวาชาติชายและพลอากาศเอกทวี ได้แสดงความกล้าหาญด้วยการยินยอมเป็นตัวประกัน ตามข้อเรียกร้องของผู้ก่อการร้ายกันยายนทมิฬ" (อ้างอิง 1)

หลังจากการเจรจานาน 19 ชั่วโมง ทุกฝ่ายก็ตกลงกันได้  ตัวประกันได้รับการปล่อยตัว BSO สามารถขึ้นเครื่องบินเดินทางต่อไปยังไคโร ที่ซึ่งพวกเขาจะปลอดภัยจากการถูกตามล่าล้างแค้นโดยอิสราเอล 

กรณีนี้จบลงโดยที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ไม่มีคนบาดเจ็บ แต่มีคนเสียหน้า คือ BSO มีรายงานว่าแกนนำของกลุ่มไม่พอใจสมาชิกที่ทำให้ปฏิบัติการนี้ลงเอยแบบเสียปล่า และนักวิเคราะห์บางคนชี้นี้ว่าคือ "ความน่าอับอายขายหน้า" ของ BSO จนกระทั่งต้องมาล้างอายด้วยการลอบสังหารเจ้าหน้าที่อิสราเอลรายหนึ่งที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2516 (อ้างอิง 2)

ซอฟต์เพาเวอร์ไทย
สำหรับไทย กรณีนี้ทำให้ชื่อของกรุงเทพฯ กลายเป็นอมตะ ในฐานะกรณีศึกษาการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยตัวประกัน ซึ่งเรียกว่า "ทางออกกรุงเทพฯ" หรือ Bangkok solution เป็นกรณีศึกษาที่ถูกเอ่ยถึงจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ในการหาทางออกให้กับการจับตัวประกัน หรือการต่อรองอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะเจอเข้ากับทางตัน แต่มันอาจจะมีทางอื่นที่ลงตัวกับทุกฝ่าย

"ทางออกกรุงเทพฯ" กลายเป็นชื่อของวิถีการเจรจาช่วยตัวประกันด้วยวิธีการสันติ ในบทความทีชื่อ The Bangkok solution: Peaceful resolution of hostage‐taking (ทางออกกรุงเทพฯ: การยุติการจับตัวประกันอย่างสันติ) ของ อาร์. รูเบน มิลเลอร์ (R. Reuben Miller) แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด-เดนเวอร์ ในประเทศสหรัฐฯ ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า "กรณีกรุงเทฯ เกิดขึ้นสามเดือนหลังจากการโจมตีอันนองเลือกต่อนักกีฬาอิสราเอลในกีฬาโอลิมปิก ปี 1972 ที่จัดขึ้นที่มิวนิก ยิ่งไปกว่านั้น มันเกิดขึ้นสามเดือนก่อนที่จะเกิดการสังหารหมู่เลือดสาดต่อนักการทูตต่างชาติที่สถานทูตซาอุดีฯ ในกรุงคาร์ทูม ประเทศซูดาน มันถูกประกบเหมือนกับแซนด์วิช ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นระหว่างเหตุโจมตีถึงตายสองครั้ง มันเกิดขึ้นเหมือนกับเรื่องแปลกประหลาด ทำไมกรณีนี้ถึงจบลงอย่างสันติได้?" (อ้างอิง 3)

นอกจากจะจบลงอย่างสันติแบบเหลือเชื่อแล้ว มันยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาคนแบบจากอิสราเอล เมื่อเทียบกับกรณี Lufthansa Flight 615 กับกรณีเที่ยวบินของเยอรมนีตะวันตก รัฐบาลเยอรมันตะวันตกถูกวิพากษ์วิจารณ์จากอิสราเอลและฝ่ายอื่นๆ เรื่องที่ยอมปล่อยตัวกลุ่มผู้ติดอาวุธแลกกับการให้เครื่องบินของตนได้ปลอดภัย ถึงขนาดกล่าวหาว่าการจี้เครื่องบินเป็นการเตี๊ยมกันระหว่างรัฐบาลเยอรมันตะวันตกกับ BSO หรืออาจมีการข้อตกลงลับระหว่างรัฐบาลเยอรมันกับ BSO โดยการปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายที่รอดชีวิตเพื่อแลกกับการรับประกันว่าจะไม่โจมตีเยอรมนีอีกต่อไป 

แต่ "ทางออกกรุงเทพฯ" ได้รับคำชื่นชมจากอิสราเอลอย่างมาก โกลดา เมียร์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น และสตรีเหล็กของการเมืองระหว่างประเทศ แสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยที่ดำเนินการทางการทูตจนนำไปสู่การยุติวิกฤติโดยไม่ต้องมีการนองเลือด

นายเชาวน์ สายเชื้อ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เล่าไว้ในบทความรำลึกตอนหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ว่า 

"ทั่วโลกชื่นชมยินดีในผลสำเร็จของไทยในการแก้ปัญหาอกสั่นขวัญเสียนี้ได้อย่างงดงามปราศจากการเสียเลือดเนื้อ เป็นผลสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน"

"รัฐบาลและประชาชนอิสราเอลซาบซึ้งในความช่วยเหลือดำเนินการของไทยเป็นอย่างยิ่ง นาง Golda Meir นายกรัฐมนตรีของอิสรเาอลแถลงกาณณ์ขอบคุณและซาบซึ้งในความช่วยเหลือของฝ่ายไทยอย่างยิ่ง ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งมีว่า นางหวังว่า รัฐบาลของประเทศอื่นใดในโลกที่ตกอยู่ในสถานการ์เหมือนกรณีนี้ คงจะยึดถือบทเรียนจากความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบอย่างการดำเนินการของรัฐบาลไทย"

นาย Abba Eban รัฐมตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้แถลงทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ และลงท้ายด้วยการชมเชยรัฐบาลไทยว่า เป็นการดำเนินงานที่มีแผนปฏิบัติการที่สมบูรณ์ดีมาก"  (อ้างอิง 1)

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - Thomas R. Koeniges, LOOK Magazine, May 13, 1969. p.27 (Public Domain/ Permission details All rights released per Instrument of Gift vid Wikipedia)

อ้างอิง
• 1. Plaw, Avery. (2016). "Targeting Terrorists A License to Kill?". Taylor & Francis.
• 2. R. Reuben Miller (1995) The Bangkok solution: Peaceful resolution of hostage‐taking, Intelligence and National Security, 10:2, 306-326, DOI: 10.1080/02684529508432301
• 3. เชาวน์ สายเชื้อ, "ชีวิตของท่านเป็นเรื่องน่าสนเท่ห์ น่าศึกษา" ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2541

TAGS: #ปาเลสไตน์ #อิสราเอล #การทูต