แรงงานไทยอยู่ไปก็เสี่ยงตาย แต่นายจ้างยิวรั้งไว้ไม่ให้กลับ สื่อนอกเผยวิบากกรรมแรงงานไทยในอิสราเอล
นอกจากสถานการณ์ความขัดแย้งในแง่มุมต่างๆ ของสงครามฮามาส-อิสราเอลแล้ว สื่อต่างประเทศยังให้ความสนใจกับการที่คนไทยถูกจับเป็นตัวประกันจำนวนมากในความขัดแย้งครั้งนี้ ล่าสุดคือ สำนักข่าว CNN ที่มีรายงานพิเศษสัมภาษณ์คนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์และญาติที่รอพวกเขาอยู่ข้างหลัง
รายงานนี้มีชื่อว่า "เกษตรกรไทยที่สะทือนขวัญ บอกเล่าถึงความสยดสยองของการสังหารหมู่โดยกลุ่มฮามาส ขณะที่ครอบครัวรอข่าวคนที่รักซึ่งถูกจับเป็นตัวประกัน" นอกจากจะสัมภาษณ์คนไทยแล้ว CNN ยังขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้วย
เช่น ยาเฮล เคอร์แลนเดอร์ นักวิชาการจากวิทยาลัยเทล-ฮาย ทางตอนเหนือของอิสราเอล ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตรกรรมของอิสราเอล กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป๋็นคนงานคนไทยหรืออิสราเอลก็ตาม ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในสงคราม
เคอร์แลนเดอร์ กล่าวว่า แม้ว่าคนงานไทยในอิสราเอลส่วนใหญ่จะปลอดภัยเต็มที่ แต่พวกเขาต้องเผชิญกับแรงงกดดันหลายทาง ทั้งแรงกดดันจากการต้องทำงานต่อไปในอิสราเอลเพื่อเลี้ยงครอบครัวที่ไทย แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็เรียกร้องให้พวกเขาอพยพออกมา
แรงกดดันอีกทางคือ จากฝ่ายอิสราเอล ซึ่งต้องการแรงงานไทยอย่างมาก เคอร์แลนเดอร์กล่าวอธิบายว่าฝ่ายอิสราเอลต้องการแรงงานไทยขนาดไหน โดยบอกว่า "เราต้องการคุณ อยู่ต่อเถอะ เราจะให้เงินพิเศษแก่คุณถ้าอยู่ต่อ" แต่เท่านั้นอาจยังไม่พอ เพราะ คอร์แลนเดอร์ บอกว่าแรงงานไทยสมควรได้รับเงินชดเชยด้วย
ครอบครัวของคนงานไทยอิสราเอลหลายครอบครัว บอกกับ CNN แรงงานชาวไทยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุว่าจะต้องไปขายแรงงานขั้นต่ำเป็นเวลาห้าปี แม้ว่าจะต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในอิสราเอลก็ตาม ซึ่ง CNN ชี้ว่านี่คือ "ต้นทุนที่สูงมากที่พวกเขาจะต้องเสียไปเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวมที่อยู่ที่บ้าน"
กลุ่มช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอล เช่ย Aid for Agricultural Workers (AAW) เผยว่า การทำงานในอิสราเอลยังดำเนินไปอย่างปกติ แต่แรงงานหลายคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ "ท้าทายอย่างถึงที่สุด"
โซฮาร์ ชวาร์ซเบิร์ก จาก AAW กล่าวกับ CNN ว่า มีรายงานเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับคนงานที่ถูกกดดันให้กลับไปยังที่ทำงานเดิมของตนเพื่อรับค่าจ้างในเดือนกันยายน ซึ่ง ชวาร์ซเบิร์ก ยอมรับว่าทางกลุ่มเข้าใจว่าตอนนี้ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ไม่ควรมีใครที่ถูกบีบให้ไปในที่ๆ ที่พวกเขาไม่รู้สึกปลอดภัย
ชวาร์ซเบิร์ก บอกกับ CNN ว่าตอนนี้มีความกลัวกันว่า มีแรงกดดันมากขึ้นต่อแรงงานไทยให้อยู่ต่อและทำงาน "ทั้งด้วยวิธีที่ผิดจริยธรรมและผิดกฎหมาย"
ก่อนหน้านี้ Quartz สื่อของสหรัฐฯ ทำรายพิเศษเกี่ยวกับคนงานไทยในอิสราเอล โดยตั้งคำถามว่า "ทำไมตัวประกันฮามาสถึงมาจากไทยเป็นจำนวนมาก" ตอนหนึ่งของรายงานนี้ Quartz ได้ยกประเด็นสำคัญขึ้นมาว่า
"คนงานเหล่านี้มักมาจากภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย โดยจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงเกินเหตุให้กับนายหน้าค้าแรงงานเพื่อหางานทำในอิสราเอล แต่เมื่อมาถึง หลายคนพบว่ามีเงื่อนไขที่แตกต่างจากที่คาดไว้ แม้ว่าความพยายามในการปฏิรูประบบ รวมถึงข้อตกลงทวิภาคีระหว่างไทยและอิสราเอลที่ลงนามในปี 2556 มีผลกระทบบ้าง แต่ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนงาน"
Quartz ยังอ้างรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในปี 2565 ว่า “ผู้ค้ามนุษย์บังคับให้ชายและหญิงคนไทยบางส่วน ต้องถูกบังคับใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอลโดยกำหนดเงื่อนไขของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่มีวันหยุดหรือวันพัก ยึดหนังสือเดินทาง สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ และความยากลำบากในการเปลี่ยนนายจ้างเนื่องจากข้อจำกัดของใบอนุญาตทำงาน”
ภาพประกอบข่าว - ชายไทยทำงานในเรือนกระจกในนิคมชาวยิว "นาโอมิ" ในหุบเขาจอร์แดน ในเขตเวสต์แบงก์ปาเลสไตน์ของอิสราเอล ถ่ายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2014 (ภาพโดย MENAHEM KAHANA / AFP)