สงครามกำจัด 'จีนเทา' เปิด 'ปฏิบัติการ 1027' ที่สั่นสะเทือนกองทัพเมียนมา

สงครามกำจัด 'จีนเทา' เปิด 'ปฏิบัติการ 1027' ที่สั่นสะเทือนกองทัพเมียนมา
สงครามกำจัด "จีนเทา"  ทัพเมียนมาเสียที่มั่นนับร้อย  "ปฏิบัติการ1027" จนแผ่นดินฉานลุกเป็นไฟ

วันที่ 27 ตุลาคม เวลา 04.00 น. เวลาเช้าตรู่ที่ผู้ยังหลับใหล จู่ๆ ฐานทัพทหารเมียนมาในเขตโกกั้ง ในรัฐฉานที่ติดกับพรมแดนจีนก็ถูกโจมตีแบบไม่รู้ตัว กองกำลังทหารของรัฐบาลทหารถูกสังหารและบางส่วนถูกจับกุมพร้อมกับอาวุธ  ฝ่ายโจมตียึดฐานที่มั่นของกองทัพได้แห่งแล้วแห่งเล่า จนกระทั่งสามารถยึดเมืองฉิ่นชเวฮ่อ ในรัฐฉานซึ่งติดกับพรมแดนจีน และยังยึดเส้นทางหลักไม่ให้กองทัพเมียนมาเสริมกำลังเข้ามาช่วยฝ่ายตนได้ 

นี่คือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการโจมตีที่เรียกว่า Operation 1027 ซึ่งสั่นสะเทือนขวัญของกองทัพเมียนมาอย่างมาก เพราะนับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน ฝ่ายโจมตีได้ยึดที่มั่นของกองทัพเมียนมาในพื้นที่รัฐฉานได้นับร้อยแห่งแล้ว นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของกองทัพเมียนมา จนทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า กองทัพเมียนอ่อนแอลง หรือวากองกำลังฝ่ายตรงข้ามแข็งแกร่งึข้น? หรือว่ากำลังจะเกิด "โมเมนตัมทงการเมือง" ขึ้นมาให้ในเมียนมาหรือไม่?

เราจะตอบคำถามนี้ด้วยการทำความรู้จักกับ "ปฏิบัติการ1027" กันก่อน 

ใครมีส่วนร่วมกับการโจมตีบ้าง?
ผู้ที่ทำการโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพเมียนในครั้งนี้คือกลุ่มที่เรียกว่า "พันธมิตรสามพี่น้อง" (Three Brotherhood Alliance) หรือ "พันธมิตรภราดรภาพ" (Brotherhood Alliance) เป็นพันธมิตรระหว่างกองทัพอาระกัน กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 โดยต่อสู้ในรัฐยะไข่หรือรัฐอาระกันและรัฐฉานทางตอนเหนือของประเทศเป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 พันธมิตรได้เริ่มปฏิบัติการ 1027 ซึ่งเป็นการรุกต่อรัฐบาลทหารทางตอนเหนือของรัฐฉาน 

  • กองทัพอาระกัน (AA) แม้ชื่อจะบอกว่ามาจากรัฐยะไข่หรืออาระกัน แต่ในช่วงต้นปี 2010 กองทัพอาระกันต่อสู้เคียงข้างกองทัพคะฉิ่นเอกราช (KIA) เพื่อต่อสู้กับกองทัพเมียนมาที่รัฐคะฉิ่น ซึ่งติดกับรัฐฉาน แต่หลังจากความขัดแย้งในรัฐอาระกันปะทุขึ้นในปี 2559 กองทัพอาระกันก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากในภูมิภาคอาระกันมากขึ้น แต่ฐานบัญชาการยังอยู่ที่รัฐคะฉิ่น ที่เมืองไลซา ติดกับพรมแดนจีน กลุ่มนี้ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองของชาวอาระกัน และการปกครองตนเองของกองทัพพันธมิตร เช่น ในรัฐคะฉิ่น 
  • กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง หรือ กั่วก่าน ซึ่งเป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนาน หรือ "จีนฮ่อ" ที่เข้ามาปักหลักในดินแดนรัฐฉาน เดิมเป็นกลุ่มเดิมกับกองกำลังคิมมิวนิสต์พม่า แต่แยกตัวออกมาตั้งแต่ปี 2532 และเป็นกลุ่มติดอาวุธแรกที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า และจัดสรรผลประโยชน์เรื่องยาเสพติดกับกองทัพเมียนในท้องถิ่น แต่กลุ่มนี้กลับมาต่อสู้กับกองทัพเมียนมาอีกครั้ง หลังการรัฐประหาร และชูธงต่อต้าน "จีนเทา" โดยอ้างว่ากองทัพเมียนมาสนับสนุนพวกจีนเทา
  • กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) เป็นกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ตะอาง หรือ "ดาราอั้ง" หรือปะหล่อง (เป็นคำที่คนไทยใหญ่ในรัฐฉานใช้เรียกกัน) กลุ่มนี้มีอุดมการณ์ปกครองตนเอง ต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา และขึ้นชื่อในเรื่องต่อต้านการค้ายาเสพติด โดยดำเนินการทำลายไร่ฝิ่น โรงกลั่นเฮโรอีน และห้องปฏิบัติการยาบ้า กลุ่มนี้มักจะจับกุมผู้ลักลอบขนฝิ่นเป็นประจำ และยาเสพติดที่ยึดได้จะถูกเผาในที่สาธารณะในโอกาสพิเศษเพื่อยับยั้งการค้ายาเสพติด

จะเห็นว่า "พันธมิตรสามพี่น้อง" ถึงแม้จะมาจากต่างชาติพันธุ์กัน (อาระกัน, จีนฮ่อ และดาราอั้ง) และยังมีเบื้องหลังต่างๆ กันไป (เช่นบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและยาเสพติด แต่บางกลุ่มต่อต้านอย่างแข็งขัน) แต่ทั้งสามกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาที่รวบอำนาจในกำมือตนเอง ลั่นทอนอำนาจปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยและเป้าหมายสุงสุดของกองทัพชาติพันธุ์เหล่านี้ คือการปกครองตนเอง

เป้าหมายของ "พันธมิตรสามพี่น้อง" คือ?
 ในแถลงการณ์ของกองกำลังทั้งสาม ระบุไว้ดังนี้ "พวกเรา ซึ่งเป็นกองกำลังที่รวมตัวกันของพันธมิตรสามพี่น้อง ประกาศการเริ่มต้นของ "ปฏิบัติการ 1027" วัตถุประสงค์หลักของเราในการดำเนินการนี้มีหลายแง่มุมและขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาร่วมกันในการปกป้องชีวิตของพลเรือน ยืนยันสิทธิ์ของเราในการป้องกันตนเอง รักษาการควบคุมดินแดนของเรา และตอบสนองอย่างเด็ดเดี่ยวต่อการโจมตีด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศที่กำลังดำเนินอยู่โดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC หมายถึงรัฐบาลทหารเมียนมา)" 

ส่วนแรกของแถลงการณ์บอกว่าพันธมิตรนี้ทำการอตบโต้การโจมตีของกองทัพเมียนมา โดยอ้างสิทธิ์ที่จะป้องกันตนเอง และรักษาดินแดนของพกเขา แต่เป้าหมายต่อมาน่าสนใจอย่างมาก เพราะมันเกี่ยวกับ "แหล่งเงินแหล่งทอง" ในพื้นที่รัฐฉานติดกับประเทศจีน นั่นคือ "ธุรกิจจีนเทา" ซึ่งทำการค้ายาเสพติด ฉ้อโกงออนไลน์ พนันออนไลน์ และการค้ามนุษย์ นี่คือฐานที่มั่นใหญ่ และเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่บางกลุ่ม พันธมิตรสามพี่น้อง ยังเล็งเป้าหมายที่จะเล่นงาน "จีนเทา" ด้วย โดยระบุว่า 

"นอกจากนี้ เรายังทุ่มเทให้กับการกำจัดเผด็จการทหารที่กดขี่ ซึ่งเป็นปณิธานร่วมกันของประชากรเมียนมาทั้งหมด ความมุ่งมั่นของเราขยายไปถึงการต่อสู้กับการฉ้อโกงการพนันออนไลน์ที่แพร่กระจายไปทั่วเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชายแดนจีน-เมียนมา นอกจากนี้ เรามุ่งหวังที่จะปราบปรามบริษัทการพนันออนไลน์และ SAC (รัฐบาลเผด็จการเมียนมา) พร้อมด้วยกลุ่มติดอาวุธที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเหล่านี้"

จีนเทาไปเกี่ยวอะไรด้วยกับสงครามนี้? 
พื้นที่ตามชายแดนเมียนมา-จีน เป็นฐานที่มั่นของ "ธุรกิจจีนเทา" เป็นกลุมอาชญากรจีนที่หนีจากจีนมาใช้เมียนมาในส่วนที่อยุ่ห่างไกลจากการควบคุมของรัฐบาลกลาง เป็นฐานที่มั่นทำธุรกิจมืด ซึ่งมีเครือข่ายผู้สมรู้ร่วมคิดที่ซับซ้อน เกี่ยวพันทั้งกลุ่มติดอาวุธในรัฐฉาน กองทัพเมียนมาบางกลุ่ม และอาจจะเกี่ยวข้องกับประเทศที่สามด้วย ธุรกิจนี้มีมูลค่ามหาศาล แต่ก็สร้างปัญหาให้กับประเทศอื่นๆ เช่น ไทย และจีน และยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในรัฐฉานด้วย 

ธุรกิจจีนเทาไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับไทย แต่ยังทำให้คนจีนขวัยผวา เพราะกลัวว่าจะถูกจับตัวมาขายเป็นแรงงานทาสที่นี่ ดังนั้น เพื่อสร้างความชอบธรรม จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมาธิการทหารของกองกำลังพันธมิตรโกก้างได้ออกเอกสารภาษาจีน โดยระบุชัดเจนว่าการกระทำของตนคือ "การต่อสู้การฉ้อโกงทางโทรคมนาคม" ซึ่งหมายถึงการทำลายธุรกิจคอลเซนเตอร์ที่หลอกลวงเหยื่อในประเทศรอบๆ เมียนมาและยังล่อลวงเอาคนจีนและไทยมาทำงานทาสให้กับศูนย์คอลเซนเตอร์ด้วย พวกเขายังอ้างว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ก็เพื่อ "ปกป้องผลประโยชน์ของชาติจีน" และ "ระบายความโกรธแค้นแทนชาวฮั่น" คาดว่าเพื่อเรียกร้องกระแสการสนับสนุนจากคนจีนหรืออาจรวมไปถึงรัฐบาลจีน 

ทั้งนี้ หลี่เจียเหวิน โฆษกกองกำลังพันธมิตรโกก้างยังให้สัมภาษณ์เป็นภาษาจีนกับ Phoenix TV  ว่า ปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์จะต้องหมดสิ้นไป และชี้ว่ากลุ่มนี้มีเบื้องหลังอยู่ 

“เพื่อให้แก๊งฉ้อโกงทั้งหมดอยู่รอดในเมียนมาได้ จะต้องมีกองกำลังอันทรงพลังอยู่เบื้องหลังเพื่อปกป้องพวกนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นคือกองทัพเมียนมา กองทัพเมียนมาคือหน่วยพิทักษ์ที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการฉ้อโกงออนไลน์”

ปฏิบัติการเขย่ากองทัพเมียนมาแค่ไหน?
ณ วันที่ 30 ตุลาคม หรือเพียง 3 วันหลังปฏิบัติการเริ่มขึ้น  กลุ่มพันธมิตรอ้างว่ายึดฐานทัพเมียนมาได้ทั้งหมด 67 แห่งทั่วภูมิภาค กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารอื่นๆ ในประเทศ เช่น กองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลพลเรือนต่อต้านเผด็จการทหาร ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนและมีส่วนร่วมในปฏิบัติการดังกล่าว และดำเนินการโจมตีรัฐบาลต่อไป

จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน โฆษก TNLA ระบุ ฐานทัพทหารเมียนมามากกว่า 100 แห่งใน 5 เมืองของรัฐฉานถูกพันธมิตรยึดได้แล้ว เมืองหลักๆ ในรัฐฉานที่ถูกฝ่ายพันธมิตรเข้าโจมตีคือ  เมืองก๊กไข่, เมืองเจ๊าเหม่, เมืองหมู่เจ้, เมืองน้ำคำ, เมืองหนองเขียว, เมืองล่าเสี้ยว

คนไทยและประเทศไทยเกี่ยวอะไรด้วย? 
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) รายงานว่า ณ วันที่ 30 ตุลาคม มีผู้พลัดถิ่นใหม่มากกว่า 6,200 ราย โดยในจำนวนนี้ประมาณ 1,000 รายขอลี้ภัยในป่า และผู้พลัดถิ่นมากกว่า 5,000 รายต้องหลบภัยในพื้นที่ชั่วคราว ส่วนสื่อ Myanmar Now รายงานเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ว่าตามรายงานของเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยในท้องถิ่น ประชาชนมากกว่า 25,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่จากการสู้รบ โดยประมาณครึ่งหนึ่งหลบหนีไปรัฐว้า

ไม่ใช่แค่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทุกข์ร้อน คนไทยก็ยังพลอยโดนหางเลขไปด้วย จากรายงานของ Bangkok Post และ Reuters เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน มีคนไทยติดอยู่ในพื้นที่สู้รบ 162 คน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าสถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมาได้ประสานงานกับทางการเมียนมาเพื่อช่วยเหลืออพยพคนไทยกลุ่มดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม The Irrawaddy สื่อของเมียนมารายงานว่า มีชาวต่างชาติประมาณ 500 คน รวมถึงคนไทยเกือบ 200 คน ถูกกองกำลังของรัฐบาลพม่าควบคุมตัวในเมืองเลาก์ก่าย และถูกใช้เป็น “โล่ห์มนุษย์" เพื่อปกป้องกองทัพจากการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม

TAGS: #เมียนมา #จีนเทา #จีน