เกาหลีเหยียดแค่ไหน? ไม่ต้อนรับคนต่างชาติจริงหรือไม่? เปิดดาต้าและทัศนะหาคำตอบ

เกาหลีเหยียดแค่ไหน? ไม่ต้อนรับคนต่างชาติจริงหรือไม่? เปิดดาต้าและทัศนะหาคำตอบ
ดาต้าไม่เคยโกหกใคร ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมเกาหลีใต้จึงมีปัญหาเหยียดคนต่างชาติรุนแรง เราจึงต้องมาดูกันที่ตัวเลขกัน 

ทุกประเทศต่างก็มีปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) และรังเกียจคนต่างชาติ (Xenophobia) บางประเทศก็เหยียดกันตรงๆ (เช่น เดินบนถนนอยู่ดีๆ ก็ถูกทำร้ายทั้งทางกายหรือวาจา) บางประเทศก็เหยียดผ่านนโยบายบางอย่างที่ดูแนบเนียน (เช่น ออกกฎอะไรบางอย่างที่ทำให้คนต่างชาติเข้าประเทศได้ยาก)

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มักจะมีข่าวเรื่องประเด็นเหยียดเชื้อชาติกับกีดกันคนต่างชาติอยู่บ่อยๆ ซึ่งบางคนพยายามอธิบายว่าเป็นเพราะชาตินิยม (Nationalism) ที่รุนแรง แต่มันก็อาจเป็นเพราะความหลงตัวเองว่าเป็นเชื้อชาติที่เหนือกว่าคนอื่น (Chauvism) ด้วย ก่อนที่จะไปวิเคราะห์กันว่าทำไมเกาหลีใต้ถึงมีปัญหานี้ค่อนข้างหนักกว่าเพื่อนบ้าน เราไปดูตัวเลขที่ช่วยยืนยันข้อสงสัยของเรากันก่อน  

  • สถาบันการบริหารสาธารณะเกาหลี (KEI) ได้ทำการสำรวจการผสานความกลมกลืนทางสังคม (Korea Social integration Survey) มีการสอบถามทัศนะของสังคมเกาหลีใต้ต่อชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศ โดยมีชาวเกาหลีใต้ 8,077 คนที่ตอบการสำรวจ
  • พบว่าทัศนะคนเกาหลีใต้ต่อคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศมีดังนี้ ที่คิดว่าคนต่างชาตินั้น "แย่" (bad) มีถึง 54.% ในปี 2021 เพิ่มจาก 45.3% เมื่อปี 2020 ที่คิดว่า "แย่มาก" (very bad) อยู่ที่ 3.9% จากเดิม 4.1%
  • คนเกาหลีที่คิดว่าคนต่างชาติ "ค่อนข้างแย่" (somewhat bad) อยู่ที่ 42.9% ในปี 2021 จากเดิม 47.8% ส่วนที่คิดว่า "ไม่ได้แย่เลย" (not bad at all) อยู่ที่ 2.1% จากเดิม 2.8%

มีชื่อเสียงระดับโลกเรื่องเหยียด
หากค้นคำว่า South korea แล้วตามด้วยคำว่า Racist หรือ Xenophobic ก็จะพบผลลัพธ์มากมาย ส่วนใหญ่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้นั่นเองและรายงานโดยสื่อภาษาอังกฤษในเกาหลี หรืออาจจะเป็นรายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ความขึ้นชื่อของเกาหลีใต้ในเรื่องเหยียดยังสะท้อนผ่านผลสำรวจของสื่อต่างประเทศด้วย คือ 

  • ผลรวมจากการสำรวจโดย Washington Post (เมื่อปี 2013) และ Business Tech (เมื่อปี 2016) พบว่าในบรรดาประเทศที่เหยียดเชื้อชาติที่สุดในโลก (Most Racist Countries) เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 10  
  • จากการสำรวจดังกล่าวพบว่าคนเกาหลีใต้ 29.6% ไม่อยากมีเพื่อนบ้านเป็นคนต่างชาติ มี 36.5% ตอบว่าเคยพบเห็นการกระทำที่เหยียดเชื้อชาติ 
  • เทียบกับไทยแล้ว 39.8% ไม่อยากมีเพื่อนบ้านเป็นคนต่างชาติ แต่มีแค่ 19% ที่เคยพบเห็นการกระทำที่เหยียดเชื้อชาติ คะแนนรวมของไทยจึงอยู่ที่ 0.59 ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.66

จากการสำรวจนี้เราออกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือความระแวง/ไม่ชอบคนต่างชาติ หรือ Xenophobia ที่แสดงออกผ่านคำถามว่า "ถ้ามีคนต่างชาติเป็นเพื่อนบ้านจะเอาไหม?"  ในประเทศไทยสูงกกว่าเกาหลีใต้ แต่ในแง่ของการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นรูปธรรม หรือ  Racism เกาหลีใต้สูงกว่าไทยมาก 

อย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานหลายล้านคน และยังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดความรำคาญหรือความอึดอัดใจต่อคนต่างชาติได้เช่นกัน (อาจสะท้อนผ่านคำกล่าวที่ว่า "มาเที่ยวมาหรือทำงานที่ไทยได้ แต่อย่าอยู่นาน")   แต่ถึงขนาดนั้น คนไทยกลับเหยียดเชื้อชาติน้อยที่สุดในบรรดาประเทศที่ถูกสำรวจ 

ทำไมเกาหลีใต้ถึงไม่ชอบและเหยียดต่างชาติ
เกาหลีใต้มีลักษณะคล้ายญี่ปุ่น คือเป็นดินแดนที่แทบไมมีคนเชื้อชาติอื่นเป็นคนกลุ่มน้อย ทั้งสังคมมีคนชาติเดียว  ทำให้เมื่อเปิดประเทศก็ยังคงมีค่านิยมสนับสนุนคนพวกเดียวกัน และเข้ากันไม่ได้กับ "คนนอก" เกาหลียังเคยเป็นประเทศที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอกมาก่อน จนเคยมีฉายาว่า "ประเทศฤาษี" (Hermit country) ดังนั้น เกาหลีทั้งเหนือและใต้จึงไม่คุ้นเคยกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ นอกจากนี้ สังคมเกาหลีใต้ยังเคร่งครัดกับลัทธิขงจื๊อ ที่กำหนดการสืบสายเลือดหรือวงศ์สกุลที่ชัดเจน 

เรื่องการรักษาสายเลือดเกาหลีอันผุดผ่องนั้น มีสิ่งที่ยืนยัน คือ

  • งานวิจัยของ Jiyoon Kim สำรวจความเห็นของคนเกาหลีใต้พบว่าเกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามในปี 2005 และ 2010 เชื่อว่าสายเลือดเกาหลีมีความสำคัญต่อการเป็นคนเกาหลี 
  • ผลการศึกษาโดยกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวในปี 2012 พบว่า 86.5% ของชาวเกาหลีใต้เน้นถึงความสำคัญของการสืบเชื้อสายทางสายเลือดหรือวงศ์สกุล

จากการศึกษาโดย Katharine H. S. Moon นักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ในภาควิชารัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยเวลส์ลีย์  ประธานมูลนิธิ SK-Korea สาขาเกาหลีศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีเชื้อชาติเดียว (Homogeneity ซึ่งระบอบประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยความหลากหลาย หรือพหุนิยม) สังคมเกาหลียังยึดมั่นถือมั่นกับ "สายเลือดบริสุทธิ์" (pure bloodline) และเป็นสังคมที่เชื้อชาติเดียวเป็นใหญ่และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในสังคม (Ethnocentrism) ซึ่งไม่ใช่สังคมที่ยอมรับความหลากหลาย

คนนอกเข้ามามากแรงต้านยิ่งมาก
เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศเปิดมากขึ้นทุกที และด้วยระบอบประชาธิปไตยทำให้เลี่ยงการสร้างสังคมพหุนิยมไม่ได้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีอัตราการเกิดต่ำ คนมีการศึกษาแต่งงานช้า หรือไม่แต่งงานเลย ภาคแรงงานมีคนใช้ขายแรงลดลง ทำให้เริ่มมีความนิยมในหมู่คนในชนบทที่จะแต่งงานกับคนตางชาติมากขึ้น เช่น คนเชื้อชาติเกาหลีจากจีนและเอเชียกลาง ไปจนถึงคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ 

 ในขณะที่อัตราการเกิดของคนเกาหลีแท้ๆ ลดลงในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนหลากหลายเชื้อชาติที่เกาในเกาหลีใต้กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง "เด็กเกาหลีแท้ๆ" และ "เด็กลูกครึ่งเกาหลี" ทำในเกาหลีใต้ การเหยียดเชื้อชาติถูกบ่มเพาะแต่วัยเด็ก และส่งผลในระดับลึกต่อสังคม ต่อไปนี้คือตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

  • จากการสำรวจในปี 2010 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และครอบครัวของเกาหลีใต้ พบว่าในบรรดานักเรียนประถมและมัธยมต้นที่มีเชื้อชาติผสม หรือนักเรียนที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติ มีเพียง 40% เท่านั้นที่เพื่อนร่วมชั้นถือว่าเป็น "คนเกาหลี"
  • นักเรียนเกือบ 50% กล่าวว่าพวกเขามีปัญหาในการเป็นเพื่อนกับนักเรียนที่ไม่ได้มีเชื้อชาติเดียวกัน นั่นเพราะสีผิวของเพื่อนร่วมชั้นที่แตกต่างกัน (24.2%) ความกลัวที่จะถูกนักเรียนเกาหลีคนอื่นรังเกียจ (16.8%) และความรู้สึกอับอายหากเป็นเพื่อนกับเด็กที่มีเชื้อชาติผสม (15.5%)
  • ในช่วงปลายปี 2012 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเกาหลีใต้รายงานว่า 42% ของเด็กหลายเชื้อชาติถูก "เพื่อนร่วมชั้นล้อเลียนหรือเลือกปฏิบัติเนื่องจากไม่สามารถออกเสียงคำภาษาเกาหลีได้อย่างถูกต้อง"
  • การสำรวจโดยรัฐบาลกรุงโซล เมื่อปี 2014 พบว่าให้เห็นว่าวัยรุ่นต่างชาติ 4 ใน 5 คนไม่ได้ไปโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นเพราะถูกเลือกปฏิบัติและการกลั่นแกล้ง 
  • ทั้งหมดนี้ ทำให้รายงานของ Katharine H. S. Moon สรุปกว่าการเหยียดในโรงเรียนอยู่ในระดับที่เลวร้ายจนสร้างความเสียหายอย่างมาก

คนต่างชาติคิดว่าเกาหลีเหยียดแค่ไหน?
หลังจากที่เรายืนยันด้วยสถิติและตัวเลขกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะถามความเห็นคนต่างชาติกันบ้าง แพลตฟอร์มตัวอย่างที่พูดถึงความเหยียดเชื้อชาติของเกาหลีใต้ก็คือ Quora ซึ่งเคยมีคนตั้งคำถามว่า "Is Korea the most racist country in the world?"

หนึ่งในผู้ตอบที่มีคนไลค์มากที่สุด คือ Sung Bhag ซึ่งเป็นชาวเกาหลีบอกว่า "เหยียดเชื้อชาติมาก พวกเราชาวเกาหลีส่วนใหญ่เหยียดเชื้อชาติมากกว่าผู้รักชาติผิวขาวในอเมริกาด้วยซ้ำ ชาวต่างชาติคนไหนที่อาศัยอยู่ในเกาหลีนานกว่าสองสามเดือนหรือพยายามหางานที่นี่จะพูดเป็นเสียงเดียวกัน ชาวเกาหลีจำนวนมากใน Quora จะพยายามปฏิเสธว่าเราส่วนใหญ่ไม่ได้เหยียดเชื้อชาติ แต่พวกเขาแค่พยายามปกปิดความจริงกันที่ความจริงจะทะลักออกมา ฉันเคยเห็นชาวแอฟริกันถูกทำหน้าตาน่ารังเกียจใส่บนถนนในอิแทวอน การด่าเหยียดเชื้อชาติใส่ชาวจีน ญี่ปุ่น เอเชียใต้ ลาติน ตะวันออกกลาง ชาวสลาฟ และแม้แต่ชาวอเมริกันผิวขาว ที่นี่พวกเราชาวเกาหลีมักจะบ่นว่าคนผิวขาวเหยียดเชื้อชาติ (น่าหัวเราะ) แต่จริงๆ แล้ว ระหว่างที่ฉันอยู่ในอเมริกาเป็นเวลา 12 ปี ฉันได้เห็นการเหยียดเชื้อชาติในเกาหลีอย่างเปิดเผยมากกว่าในอเมริกา"

สรุป คนเกาหลีจะเหยียดเชื้อชาติเบาลงไหม?

  • ในการสำรวจค่านิยมโลก (World Values Survey) ปี 2017–2020 โดยสอบถามชาวเกาหลีใต้ 1,245 คน ในจำนวนนี้ 15.2% รายงานว่าพวกเขาไม่ต้องการให้คนที่มีเชื้อชาติแตกต่างมาเป็นเพื่อนบ้าน ตังเลขนี้ลดลงจากการสำรวจระหว่างปี 2010-2014 ที่ 34.1% 
  • การสำรวจเดียวกันยังถามเรื่องเพื่อนบ้านที่เป็นแรงงานต่างด้าว โดยในปี 2010-2014 คนเกาหลีใต้ 44.2% บอกว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ "ผู้อพยพ/แรงงานต่างชาติ" เป็นเพื่อนบ้าน แต่เมื่อถึงปี 2017–2020  ตัวเลขนี้อยู่ที่ 22.0% หรือลดลงอย่างมากเช่นกัน

วิเคราะห์จากผลสำรวจข้างต้น อาจเป็นเพราะเกาหลีเป็นสังคมเปิดมากขึ้น ทำใหการเหยียดเริ่มเบาบางลง แต่มันก็ยังถือว่าสูงอยู่ดีเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ดังนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านี้ เพื่อรอให้สังคมเกาหลีค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับค่านิยมสากลของโลกภายนอก 

Photo by Anthony WALLACE / AFP

TAGS: #แบนเที่ยวเกาหลี #เกาหลีใต้ #เหยียดเชื้อชาติ #ผีน้อย