ศึกสายเลือดปาเลสไตน์ นี่คือเหตุทำไมสหรัฐฯหวังพึ่ง'เวสต์แบงก์'กำจัด'ฮามาส'
ข้อมูลพื้นฐานศึกสายเลือด
1. ดินแดนของปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฉนวนกาซา ทางตอนใต้ของอิสราเอลและติดกับอียิปต์ และเวสต์แบงก์ ทางตะวันออกของอิสราเอลและคิดกับตอร์แดน
2. การเมืองปาเลสไตน์แบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ฝ่ายฟะตะฮ์ ซึ่งเน้นต่อสู้ด้วยการเมือง ไม่เน้นสงคราม และแยกศาสนาออกจากการเมือง กับฝ่ายฮามาส อิงกับศาสนา เน้นต่อสู้ด้วยอาวุธ
3. ฝ่ายฟะตะฮ์ เคยเป็นรัฐบาลมาก่อนในชื่อ "ฝ่ายบริหารปกครองปาเลสไตน์" (Palestinian Authority หรือ PA) ปกครองทั้งเวสต์แบงก์และฉนวนกาซามานานหลายปี
4. จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2006 PA เสียพื้นที่ให้กับฝ่ายฮามาส ฮามาส แต่ PA ยังมีฐานสนับสนุนอยู่ในเวสต์แบงก์ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเพื่อร่วมกันดูแลปาเลสไตน์
5. แต่รัฐบาลแห่งชาติส่อล่มในเวลาไม่นาน เพราะฝ่ายฮามาสไม่ยอมรับเงื่อนไขของฝ่าย PA คือ ต้องยอมรับรัฐอิสราเอลและเลิกใช้ความรุนแรง ฝ่ายฮามาสไม่ยอมรับ แต่รัฐบาลก็ฟอร์มขึ้นมาได้
6. แต่ในวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2007 ฮามาสยึดอำนาจในฉนวนกาซา ทำให้เกิดสงครามขึ้นกับ PA ผลคือสมาชิก PA ถูกจับตัว ถูกสังหาร และถูกขับไล่ออกจากกาซา นับแต่นั้นฮามาสคุมกาซาทั้งหมด
7. ประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ คือ มะฮ์มูด อับบาส ประกาศล้มรัฐบาลที่นำโดยฮามาส แล้วตั้งนายกรัฐมนตรีจากสายกลางขึ้นมา แต่ฮามาสไม่ยอม และยืนยันว่าพวกเขามีอำนาจโดยชอบธรรม
8. การโจมตีอิสราเอลโดยฮามาสแต่ละครั้ง ฝ่าย PA หรือ เวสต์แบงก์ จึงไม่เกี่ยวข้องด้วย เพราะฝ่ายนี้เน้นเจรจาและไม่ใช้อาวุธ ดังนั้น อิสราเอลและชาติตะวันตกจึงมักพึ่งฝ่ายนี้ในการคานกับฮามาส
ในที่สุดสหรัฐฯ ก็ต้องพึ่งพาเวสต์แบงก์
นี่คือเหตุผลว่าทำไม "สงครามอิสราเอล-ฮามาส 2023) จึงไม่ได้ชื่อ "สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์" เพราะไม่ใช่ปาเลสไตน์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการโจมตี ที่สำคัญในปาเลสไตน์มีความขัดแย้งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำกลุ่ม PA อย่าง อับบาส ต่อต้านฮามาอย่างแข็งขัน
อย่างที่มีรายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้เสนอแนะต่อประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มะฮ์มูด อับบาส ว่าเขาหวังที่เห็น PA กลับไปยังฉนวนกาซา เพื่อมีบทบาทสำคัญในอนาคต หากสมมติว่า "วันข้างหน้า" ฮามาสหมดอำนาจ
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน บลิงเคน เดินทางเยือนเวสต์แบงก์และพบปะกับผู้นำปาเลสไตน์ในพื้นที่ดังกล่าวรวมถึง อับบาส และบอกว่า PA ควรมีบทบาทสำคัญในอนาคตของฉนวนกาซา เพราะตอนนี้ สหรัฐฯ และอิสราเอลกำลังหาทางว่าฉนวนกาซาควรจะถูกปกครองอย่างไร หลังจากฮาสมาสถูกทำลายลงอย่างสิ้่นซากแล้ว
ดูเหมือนว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ กับอิสราเอลจุตรงกันคือ ต้องการให้ฮามาสหมดสิ่้นไป ดังนั้น บลิงเคน จึงบ่ายเบี่ยงข้อเสนอของอียิปต์ จอร์แดน และ อับบาส ที่ให้มีการหยุดยิง เพราะ บลิงเคน ชี้ว่าถ้าหยุดยิง ฮามาสก็จะกลับมารวมกลุ่มได้อีก
บทวิเคราะห์ โอกาสของเวสต์แบงก์ที่จะกุมอำนาจ
แน่นอนว่า ฟะตะฮ์ และ PA แม้ว่าจะต่อต้านฮามาส แต่ก็ห่วงใยชาวปาเลสไตน์ที่เป็นคนธรรมดา ซึ่งถูกโจมตีไม่เว้นแต่ละวัน พวกเขาจึงประณามการโจมตีนั้นและเรียกร้องให้หยุดยิงในทันที ดังที่ อับบาส บอกกับ บลิงเคน ว่านี่คือการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และให้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับชาวฉนวนกาซาในทันที แต่เขาต้องกังวลด้วยว่าการหยุดยิงอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของปัญหา และฮามาสอาจกลับมาแกร่งอีกครั้ง
ฟะตะฮ์ และ PA มีเหตุผลที่ต้องกังวลกับฮามาส เพราะเมื่อปี 2014 ระหว่างที่ฮามาสทำสงครามกับอิสราเอลอยู่นั่น Shin Bet หน่วยข่าวกรองอิสราเอลเปิดเผยแผนการที่กลุ่มฮามาสหมายจะขับไล่ฟะตะฮ์ออกไปจากเขตเวสต์แบงก์ โดยจะวางกำลังกลุ่มฮามาสรอบๆ เวสต์แบงก์เพื่อปลุกปั่นให้เกิดการลุกฮือ หรือ "อินติฟาฎา" แล้วฮามาสและฝ่ายหัวรุนแรงจะเข้าครอบงำกองกำลังของทางการปาเลสไตน์
แผนครั้งนั้นไม่สำเร็จ มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 90 คน ประธานาธิบดีอับบาสกล่าวว่าแผนการดังกล่าวเป็น "ภัยคุกคามร้ายแรงต่อความสามัคคีของชาวปาเลสไตน์และอนาคตของชาวปาเลสไตน์"
ในเมื่อฮามาสเป็นภัยคุกคามต่อ ฟะตะฮ์ และ PA ถึงขนาดนี้ ฝ่ายเวสต์แบงก์ก็คงหวังให้ฮามาสถูกขจัดเขี้ยวเล็บจนหมดสภาพเหมือนกัน และอาจจะหวังกลับไปครองอำนาจในฉนวนกาซาด้วย ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มา "ชื่นชม" ถึงที่ผู้มีอำนาจในเวสต์แบงก์ก็ต้องรับไมตรีไว้
เหมือนอย่างที่ ฮูซัม ซอมลอต หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร และเป็นสมาชิกอาวุโสของฟะตะฮ์ กล่าวกับ CBS เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนว่า บลิงเคนมี "ความคิดดีๆ" เกี่ยวกับอนาคต แต่ก็ยังไว้เชิงว่า "เราจำเป็นต้องเห็นสหรัฐฯ มีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นกลาง"
ภาพประกอบข่าว - รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน (ซ้าย) จับมือกับประธานาธิบดี มะฮ์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ที่ทำเนียบในเมืองรามัลเลาะห์ฝั่งตะวันตก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ท่ามกลางการสู้รบที่ดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส บลิงเคนมาถึงรามัลเลาะห์ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพื่อพบกับ อับบาส ประธานหน่วยงานปาเลสไตน์ ซึ่ง อับบาส ประณามที่สิ่งเกิดขึ้นในฉนวนกาซาว่าเป็นการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ส่วนกระทรวงสาธารณสุขของกลุ่มฮามาสแถลงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9,770 คน ในรอบเกือบหนึ่งเดือนแห่งการทิ้งระเบิด (ภาพโดย JONATHAN ERNST / POOL / AFP)